คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านกังวงเรื่องนี้หนักมาก กลัวว่าลูกไปเรียนที่อังกฤษแล้วเดี๋ยวลูกเรียนจบกลับมาแล้วจะไม่มี connection ในเมืองไทย เพราะจากบ้านจากเมืองไปนานและไม่มีเพื่อนที่เมืองไทยเลย หลาย ๆ บ้านบอกว่าอย่างน้อยขอให้เรียนจบ A-level ที่เมืองไทยก่อนแล้วค่อยไปตอนปริญญาตรี บางบ้านบอกว่าอย่างน้อยขอให้จบปริญญาตรีที่ไทย แล้วค่อยไปต่อปริญญาโทที่เมืองนอก เดี๋ยวกลับมาทำงานแล้วจะลำบากถ้าไม่รู้จักใครที่นี่

จริง ๆ แล้ว เรื่องราวมันจะเลวร้ายและน่ากังวลขนาดนั้นหรือไม่ เรามาวิเคราะห์กันด้วยเหตุด้วยผลกันครับ

Connection … เส้นสาย หรือ อะไรที่มากกว่านั้น ?

พูดกันตามตรงประเทศเราอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ Connection ถูกมองในมุมของคำว่า “เส้นสาย” คือการรู้จักใครสักคนแล้วทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ทำให้ขั้นตอนในการทำสิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้น ทำให้เกิดทางลัด ทำให้เกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน แม้นั่นจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ตาม ด้วยความที่หลาย ๆ อย่างในสังคมของเราเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องธรรมดา และคนที่ปฏิเสธการใช้เส้นสายจะเป็นคนที่อยู่ในสังคมได้ยากสักหน่อย เลยทำให้คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านเห็นว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกจะต้องมี เลยมองไปว่าจะมีได้ก็ต้องให้อยู่ในเมืองไทยนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ

ในขณะที่คำว่า Connection ของประเทศที่พัฒนาแล้วหลาย ๆ ประเทศหมายถึง คนที่รู้จักกัน ที่รักและชอบในสิ่งเดียวกัน และสามารถร่วมมือกันทำสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ได้ ซึ่งเด็กคนหนึ่งจะมี Connection แบบนี้ได้ เขาจะต้องเติบโตในสังคมที่ประกอบไปด้วยคนแบบนี้ เช่น การอยู่ในที่ที่เพื่อนทุกคนมีความตั้งใจเหมือนกัน มีความมุ่งมั่นเหมือนกัน มีความรักและชอบในสิ่งที่ใกล้เคียงกัน เพราะเขาจะเติบโตขึ้นมาด้วยกันบนบางสิ่งที่เป็นความสนใจร่วม หรือนิสัยร่วมที่เชื่อมโยงพวกเขาไว้ นี่คือนิยามของคำว่า Connection สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว

คราวนี้ก็อยู่ที่เราแล้วครับว่า นิยามคำว่า Connection ของเราคืออะไร และ Connection แบบไหน คือ Connection ที่มีประโยชน์สำหรับลูกของเราจริง ๆ

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับท็อปที่อังกฤษ ทำไมถึงเป็นแหล่งรวม Connection ที่ดี

เมื่อพูดถึงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับท็อปที่อังกฤษ สิ่งที่อดไม่ได้ที่จะนึกถึงตามมาคือระบบการคัดเลือกที่ยาก และหลาย ๆ ครั้งไม่ใช่แค่เรียนเก่ง ผลการเรียนดี แต่ต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมาะสมถึงจะสามารถเข้าไปเรียนได้

อย่างเวลาพูดถึงโรงเรียนระดับท็อปหลาย ๆ แห่ง นอกจากเด็ก ๆ จะต้องส่งผลการเรียน (School report) ที่มีผลการเรียนที่ดีแล้ว และนอกจากจะต้องสอบข้อเขียนในวิชาต่าง ๆ ที่จะเข้าไปเรียนต่อให้ได้คะแนนสูง ๆ แล้ว บางโรงเรียนยังต้องการให้เด็ก ๆ เข้าไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนแห่งนั้นอย่างน้อย 1 วัน แล้วให้เด็ก ๆ ลองทำกิจกรรมต่าง ๆ และสัมภาษณ์เด็กในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อดูว่าเด็ก ๆ จะสามารถมีชีวิตอยู่ที่นั่นได้จริงหรือไม่ เกิดประโยชน์ต่อทั้งเด็กและโรงเรียนอย่างแท้จริงหรือไม่

หรืออย่างมหาวิทยาลัยระดับท็อปหลาย ๆ แห่ง เมื่อเด็ก ๆ ทำการสมัครผ่าน UCAS Application ก็จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ผลสอบ IGCSE, AS-level และ Predicted grades ที่ถูกส่งไป เด็ก ๆ ยังต้องเขียน Personal Statement เพื่อแสดงความ Born to be ต้องมี Reference ที่มีน้ำหนักจากครู ต้องผ่านการทำข้อสอบวัด Skills มหาโหดอย่าง Admissions Tests และสามารถผ่านการ Interview เชิงลึกที่ท้าทายให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ นั่นแปลว่ากว่าเด็กสักคนจะได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ จะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากมายเลยทีเดียว

นั่นหมายความว่า เมื่อเราได้รับคัดเลือกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเหล่านี้แล้ว เพื่อน ๆ คนอื่นที่ได้รับคัดเลือกเช่นเดียวกันก็จะต้องผ่านขั้นตอนที่เหมือน ๆ กันมา คนที่ไม่เหมาะสมจะถูกคัดออกไปตั้งแต่ต้น มีแต่คนที่เหมาะสม ที่เล็งเห็นแล้วว่ามีลักษณะคล้าย ๆ กัน รักและชอบสิ่งเดียวกัน และน่าจะอยู่ร่วมกันได้เท่านั้น ที่จะได้รับการคัดเลือก เพราะฉะนั้น ระบบการคัดเลือกที่แสนจะหินของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเหล่านี้จึงเป็นระบบคัดกรองและสร้างสังคมให้เด็ก ๆ ไปในตัวนั่นเอง

เมื่อเด็กคนหนึ่งเข้าไปเรียน ก็จะเจอแต่คนที่เรียกได้ว่าเป็น “คอเดียวกัน” อยู่ร่วมกันได้แบบเข้าใจ สนุกไปกับสิ่งเดียวกัน พร้อมจะช่วยเหลือกัน เพราะมีบางอย่างที่เชื่อมโยงกันไว้ และนี่แหละครับที่จะกลายเป็นเพื่อนจริงเพื่อนแท้ กลายเป็น Connection ที่ดีที่จะสามารถกลับมาทำอะไรดี ๆ ร่วมกันได้ในวันข้างหน้า

ซึ่งประโยชน์มาก ๆ ของการไปเรียนที่อังกฤษก็คือ เด็ก ๆ จะได้ทั้งเพื่อนดี ๆ ที่เป็นคนไทย และคนต่างประเทศ เพื่อนดี ๆ คนไทยก็จะกลับมาทำอะไรดี ๆ ร่วมกันในเมืองไทยได้ในอนาคต ส่วนเพื่อนที่มาจากต่างประเทศก็จะเป็น International Connection ที่ทำให้การทำสิ่งดี ๆ ของเด็ก ๆ สามารถขยายผลไปได้ไม่ใช่แค่ในระดับประเทศแต่เป็นระดับโลก ยิ่งยุคนี้การรู้จักใครแค่ในเมืองไทยมันก็คงไม่พอเสียแล้ว เพราะโลกเรามันกว้างขวางกว่าแต่ก่อนเยอะครับ

นั่นแหละครับ สาเหตุที่ว่าทำไมโรงเรียนและมหาวิทยาลัยระดับท็อป ๆ ที่อังกฤษถึงเป็นแหล่งรวม Connection ที่ดี ถ้าถามผม ผมเชียร์ว่าถ้าพร้อมให้ลูก ๆ เขาไปตั้งแต่ Year เล็ก ๆ แบบ Year 7 – Year 9 ก็ทำได้ ถ้ารอพร้อมอีกหน่อยก็ไปตอน Year 12 เพราะโอกาสหลาย ๆ อย่างในชีวิตจะมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอถึงตอนปริญญาตรีแล้วค่อยไปครับ ยิ่งถ้าจะรอถึงปริญญาโทยิ่งช้าเข้าไปใหญ่เลย

และไม่ต้องกลัวว่าลูกจะสูญเสียความเป็นไทยหรือลืมเมืองไทยไปครับ เพราะเด็ก ๆ บินกลับกันค่อนข้างบ่อย อย่างน้อยก็ปีละ 3 ครั้ง ซึ่งถ้าใครกลับทุกปิดเทอมย่อมก็จะมากกว่านั้นอีก ส่งเขาไปแล้วลองตั้งโจทย์กับเขาครับว่าจะกลับมาทำอะไรดี ๆ ที่เมืองไทยได้บ้าง เขาจะไม่ลืมบ้านเกิดเมืองนอนของเขาหรอกครับ ดีกว่านั้นคือเขาจะพยายามเอาสิ่งดี ๆ ที่เขาได้เรียนรู้ที่อังกฤษกลับมาพยายามคิดว่าจะทำให้ประเทศชาติของเราเจริญขึ้นในวันข้างหน้าได้อย่างไร

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าส่งไปเรียนโรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ที่อังกฤษ

แม้เราจะเชียร์ว่าให้ส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่อังกฤษซึ่งจะทำให้ได้ Connection ที่ดี ก็ต้องขอย้ำกันอีกทีว่า ไม่ใช่ทุกโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนะครับที่คุณพ่อคุณแม่สมควรจะส่งลูกไป บางที่ที่เป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยคุณภาพต่ำ ก็จะนำมาซึ่งสังคมที่ไม่ดี เพื่อนที่ไม่ดี และ Connection ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นต้องเลือกที่ดีที่สุดที่เด็ก ๆ จะสามารถก้าวไปถึงได้เท่านั้นครับ โรงเรียนไหนหรือมหาวิทยาลัยไหนเข้าง่ายเกินไป สมัครปุ๊บรับปั๊บ หรือล่อตาล่อใจด้วยการแจกทุน แจกส่วนลดต่าง ๆ แบบขาดเหตุขาดผล ถ้าเรามีเหตุมีผลพอ เราต้องไม่เลือกให้เป็นที่ไปของลูกของเรานะครับ

เพราะฉะนั้นแล้ว ไปเรียนที่อังกฤษในที่ที่ดีพอ รับรองว่าได้ Connection ที่ดีทั้งเพื่อนคนไทยและเพื่อนต่างประเทศกลับมาเป็นประโยชน์ในวันข้างหน้าของชีวิตแน่นอน แต่ก็อย่างที่บอกไว้ตอนต้นครับว่า อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่แล้ว ว่านิยามคำว่า Connection ไว้อย่างไร แค่เส้นสายที่ทำให้ชีวิตง่าย หรือ เพื่อนที่ดีที่จะช่วยกันสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติและโลกใบนี้ต่อไป ก็ลองพิจารณากันด้วยเหตุด้วยผลดูนะครับ