ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป
เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นแล้ว หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงอาหาร วัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อีกทั้งเมื่อพูดถึงวัฒนธรรมนั้น ก็มีความโดดเด่นในเรื่องของความเรียบง่าย ที่ไม่ว่าใครเห็นก็จะรู้ว่านี่คือความสวยงามในแบบญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร เรามาเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่น ผ่านแนวคิดแบบญี่ปุ่น 5 ข้อกันค่ะ
‘วาบิ ซาบิ’ (Wabi Sabi)
เรามักจะคุ้นชินกับคำนี้อย่างดี เพราะมีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับแนวคิด ‘วาบิ ซาบิ’ (Wabi Sabi**)** ค่อนข้างเยอะ แนวคิดเรื่อง ‘วาบิ ซาบิ’ คือการมองหาสิ่งที่สวยงามในความไม่จีรังยั่งยืนและสมบูรณ์แบบ ในทางพุทธศาสนาแบบเซนนั้น ยังให้นิยามของ ‘วาบิ ซาบิ’ ไว้อีกว่า ‘ให้เราเห็นคุณค่าและความสวยงามของความไม่สมบูรณ์แบบ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ในโลกนี้ไม่มีอะไรยั่งยืน’ โดยมี 3 ทฤษฎีก็คือ ‘ไม่มีอะไรยั่งยืน ไม่มีอะไรสมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่เสร็จสิ้น’ ทั้งนี้เมื่อนำมาปรับใช้กับเราที่เป็นมนุษย์ ‘วาบิ ซาบิ’ ก็คือการยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองนั้นเอง หลายครั้งเราจะพบแนวคิด ‘วาบิ ซาบิ’ ผ่านงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ ศิลปะ หรือแม้แต่การจัดสวน ก็ล้วนได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ทั้งนั้น
‘อิคิไก’ (Ikigai)
ทุกคนเคยถามตัวเองในทุกเช้าหรือไม่ว่า ‘อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เราตื่นมาในวันนี้?’ หลายคนตอบไม่ได้ ไม่ได้อยากตื่นมาในโลกนี้แล้ว เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะตื่นมาทำไม จะทำอะไรให้ตัวเองและคนอื่นได้ แนวคิดเรื่อง ‘อิคิไก’ คือแนวคิดที่พูดถึงเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ แนวคิดเรื่อง ‘อิคิไก’ คือการที่พูดถึงการที่มีเป้าหมายในชีวิต มีแพชชั่นกับสิ่งที่ทำอย่างมากจนในทุกเช้าเราอยากที่จะรีบตื่นขึ้นมาทำ อีกทั้งสิ่งที่เรามีแพชชั่นนั้นเป็นสิ่งที่โลกนี้ก็ต้องการ และได้ผลตอบแทนด้วยเช่นกัน คนญี่ปุ่นเชื่อว่าทุกคนมีอิคิไกเป็นของตัวเอง เพียงแค่ต้องหาให้เจอ ผู้เขียนก็เชื่อว่าทุกคนมีอิคิไกเป็นของตัวเอง หาให้เจอ แล้วมีความสุขกับทุกวันนะคะ
‘ชิคะตะกะไน’ Shikata ga nai
แนวคิดนี้ คนทั่วไปที่ไม่ได้คลุกคลีกับคนญี่ปุ่นแท้ ๆ อาจจะไม่ได้ยินบ่อยเท่าไร เพราะไม่ได้ถูกเขียนในหนังสือหรือบทความเท่าไรนัก คำว่า ‘ชิคะตะกะไน’ มีความหมายว่า ‘ช่วยไม่ได้’ ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดที่เราให้เรายอมรับและปล่อยให้ทุกสิ่งเป็นไป ในเมื่อเราช่วยอะไรไม่ได้ หรือใครก็ช่วยเราไม่ได้ ก็แค่ยอมรับมันให้ได้แล้วเดินต่อ ส่วนตัวผู้เขียนชอบแนวคิดนี้ เพราะมีความคล้ายกับหลักพระพุทธศาสนาที่ให้เรารู้จักปล่อยวาง
‘มตไตนาย’ Mottainai
ถ้าได้มีโอกาสได้คลุกคลีกับคนญี่ปุ่น จะได้เข้าใจในแนวคิด ‘มตไตนาย’ บ่อยครั้ง ผ่านการกระทำต่าง ๆ เช่น ทานข้าวให้หมดจาน ใช้สรรพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เพราะแนวคิด ‘มตไตนาย’ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความรู้สึกเสียใจ เมื่อสิ่งที่มีค่าต้องกลายเป็นขยะสูญเปล่า คำนี้หากแปลก็จะมีความหมายว่า ‘น่าเสียดาย’ หากเรามีของบางสิ่งที่ยังสามารถใช้ได้อยู่ อย่าทิ้ง ให้เราเห็นคุณค่าของทุกสิ่ง ผู้เขียนเคยมีโอกาสทานข้าวกับคนญี่ปุ่น แล้วทานไม่หมด ถ้าโดยปกติอยู่ในประเทศไทยก็สามารถทำได้ ไม่ได้มีใครมาตำหนิ แต่กับเพื่อนคนนี้ไม่สามารถทำได้ เพื่อนบอกว่าถ้ารู้ว่าจะทานไม่หมดก็ให้บอกคนอื่น แบ่งให้คนอื่น หรือสั่งอาหารที่มีขนาดน้อยกว่านี้ เพราะถ้าทานไม่หมด ไม่มีคนช่วยทาน ก็จะต้องทิ้งอาหารเหล่านั้นไปเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เขายอมรับไม่ได้ เมื่อได้ยินครั้งแรกแล้วรู้สึกว่ามากเกินไป แต่หลังจากได้ลองสังเกตคนอื่น ๆ จึงพบว่าทุกคนรับผิดชอบของตัวเองจนหมด หลังจากนั้นเลยนำแนวคิดนี้มาใช้กับตัวเอง เพื่อเป็นการให้เกียรติคนทำอาหาร และไม่ทิ้งสิ่งของให้รู้สึก ‘เสียดาย’
หากทุกคนได้ลองนำแนวคิดทั้ง 4 ข้อนี้ไปลองใช้ เชื่อว่าแนวคิดเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนมีความสุขมากขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากอยากรู้จักแนวคิดเหล่านี้มากขึ้น ก็สามารถหาอ่านได้ทั้งหนังสือ และบทความ เพราะถ้าเรามีความเข้าใจในแนวคิดเบื้องต้นเหล่านี้มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่เป็นเหมือนหัวใจที่สำคัญในการเปิดประตูไปทำความรู้จักกับคนญี่ปุ่นมากขึ้นนั้นเองค่ะ