สำหรับผู้ปกครองที่สนใจให้ลูกไปเรียน 2 ปีสุดท้ายที่ประเทศอังกฤษ หรือแม้แต่โรงเรียนอินเตอร์ในประเทศไทย อาจมีข้อสงสัยว่าหลักสูตร 2 ปีสุดท้ายที่เรียกว่า IB Diploma (ในที่นี้จะขอเรียกย่อ ๆ ว่า IB) และ A-level นั้นแตกต่างกันอย่างไร และหลักสูตรไหนถึงจะเหมาะกับลูกของเรามากที่สุด คำตอบอยู่ที่นี่แล้วครับ

เรามาดูกันว่าในหลาย ๆ แง่มุมนั้น IB กับ A-level แตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไรบ้าง

จำนวนวิชา

IB เรียน 6 วิชา แบ่งเป็นวิชาระดับ Higher Level (HL) 3 – 4 วิชา และ Standard Level (SL) 2 – 3 วิชา ซึ่ง Higher Level คือวิชาที่เราตั้งใจว่าจะเรียนให้ลึก ให้ยาก เพราะเป็นวิชาที่จะเอาไปใช้ต่อในอนาคต ส่วน Standard Level นั้นคือวิชาที่เรียนในระดับความรู้ปกติ

สำหรับ A-level นั้น เรียน 3 – 4 วิชา ไม่มีการแบ่งเป็น Higher Level และ Standard Level เหมือน IB ครับ ทุกวิชาอยู่ในระดับเดียวกัน

การเลือกวิชาเรียน

IB บังคับว่า นักเรียนจะต้องเลือกเรียนวิชาให้ครบตามเงื่อนไขเหล่านี้

  • ทุกคนต้องเลือกวิชาทางภาษา 2 วิชา (เช่น เด็กไทยส่วนใหญ่ก็จะโดนบังคับเลือก English, Thai)
  • ทุกคนต้องเลือกวิชาทาง Mathematics และ Computer Science อย่างน้อย 1 วิชา
  • ทุกคนต้องเลือกวิชาทาง Science อย่างน้อย 1 วิชา
  • ทุกคนต้องเลือกวิชาทาง Social Studies/Humanities อย่างน้อย 1 วิชา
  • ทุกคนสามารถเลือกวิชาทาง Art หรือทาง Creativity ได้ 1 วิชา แต่ถ้าไม่ต้องการเลือกสามารถไปเลือกวิชาทาง Mathematics, Science หรือ Social Studies/Humanities เพิ่มได้

ซึ่งจะต้องเลือกด้วยว่าในวิชาทั้งหมดนี้ 3 – 4 วิชาที่จะเป็น Higher Level คือวิชาไหน และที่เหลือก็จะเป็น Standard Level

ส่วน A-level นั้นไม่บังคับอะไรเลย อยากเลือกเรียนวิชาไหน เลือกได้เลย ซึ่งตามหลักการที่ถูกต้องก็คือเลือกให้เหมาะสมกับสิ่งที่จะเรียนต่อในอนาคต

ยกตัวอย่างแบบนี้ครับ สมมติเด็กคนหนึ่งอยากเรียนต่อด้าน Chemical Engineering ซึ่งมีวิชาหลัก ๆ คือ Mathematics, Physics, Chemistry ถ้าเรียนแบบ IB ก็อาจจะต้องเลือกวิชาแบบนี้เพื่อให้ครบตามเงื่อนไขที่ IB กำหนด

  • Higher Level – Mathematics, Physics, Chemistry
  • Standard Level – English, Thai, Economics (ไม่จำเป็นต้อง Economics นะครับ Social Science/Humanities ตัวอื่นก็ได้ แค่ยกตัวอย่างครับ)

แต่ถ้าเด็กคนนี้เรียน A-level ก็เลือกแบบนี้เลยครับ

  • Mathematics, Physics, Chemistry และเพิ่ม Further Mathematics เข้าไปอีกวิชาเป็น 4 วิชาก็จะเพิ่มโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ได้มากขึ้น

TOK, EE, CAS

ในหลักสูตร IB นั้นจะมี Core Element ของหลักสูตรอยู่ 3 อย่างคือ

  1. TOK (Theory of Knowledge) เป็นการฝึกเรื่องวิธีการคิดอย่างมีเหตุมีผล ฝึกการหาที่มาที่ไปของสิ่งที่กล่าวอ้าง ฝึกเรื่องของ Critical Thinking
  2. EE (Extended Essay) เป็นการหัดให้นักเรียนทำ Research ในหัวข้อที่ตนเองสนใจ แล้วทำเป็น Essay ขนาดยาว 4,000 คำออกมา
  3. CAS (Creativity, Activity, Service) คือกิจกรรมต่าง ๆ ที่รอบด้าน

สิ่งเหล่านี้ไม่มีในการเรียน A-level ครับ อย่างไรก็ดี ในโรงเรียน A-level ระดับท็อป ๆ ได้มีการเพิ่มคาบเรียนและกิจกรรมบางอย่างเข้าไปแล้วเทียบเท่ากับสิ่งเหล่านี้ของ IB ได้เช่น

  • คลาสเรียนเกี่ยวกับ Critical Thinking และ Debating ซึ่งเทียบเท่ากับ TOK ของ IB
  • การทำ EPQ (Extended Project Qualification) ซึ่งเทียบเท่ากับการทำ EE ของ IB
  • กิจกรรมเสริมในด้านต่าง ๆ ซึ่งเทียบเท่ากับ CAS ของ IB

ทำให้ในโรงเรียน A-level ที่ดีพอนั้น สิ่งที่นักเรียนจะได้เสริมนอกจากเรื่องของการเรียนนั้น แทบจะไม่แตกต่างจากนักเรียนที่เรียนในระบบ IB เลย

เกรด

IB ให้เกรดเป็นคะแนน โดยที่

  • 6 วิชาที่เรียน คะแนนเต็มวิชาละ 7 คะแนน (รวมในส่วนนี้คือ 42 คะแนน)
  • TOK และ EE ให้คะแนนรวมกันสูงสุด 3 คะแนน
  • คะแนนรวมทั้งหมดคือ 45

ส่วนใหญ่เวลาพูดว่านักเรียนคนหนึ่งเรียนจบ IB ด้วยเกรดเท่าไร ก็จะพูดว่า ได้คะแนนรวมเท่าไร และในส่วนของ Higher Level ได้แต่ละวิชาเท่าไร เช่น พูดว่า ได้คะแนนรวม 40 (จาก 45) และได้ Higher Level 776 (คือ 7 คะแนนใน 2 วิชา และ 6 คะแนนใน 1 วิชา สำหรับวิชาที่เป็น Higher Level)

ส่วน A-level นั้น เกรดจะแยกตามแต่ละวิชา สูงสุดคือ A* รองลงมาคือ A,B,C,D,E และ Ungraded ครับ เวลาพูดว่านักเรียนนั้นเรียนจบ A-level ด้วยเกรดเท่าไร ก็จะพูดเกรดเรียงกันไปเลย เช่น A*A*AA ก็แปลว่า ได้ A* 2 วิชา และ A 2 วิชา

การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษ

ทั้ง IB และ A-level ต่างเป็นที่ยอมรับเท่าเทียมกันสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ต่างกันตรงที่

  • ในการเรียน IB มหาวิทยาลัยระดับท็อปจะขอให้นักเรียนทำคะแนนให้ถึงตามเกณฑ์ที่เขาต้องการ ทั้งในแง่ของคะแนนรวม และ คะแนนวิชา Higher Level เช่น อาจจะตั้งเกณฑ์ว่า ต้องได้รวม 40 จาก 45 โดยที่ Higher Level เป็น 776 ซึ่งในกรณีนี้ ถ้านักเรียนทำคะแนนรวมได้ 40 แต่ Higher Level ได้ต่ำกว่า 776 ก็จะไม่ได้รับคัดเลือก หรือ ถ้าทำ Higher Level ได้ 776 แต่คะแนนรวมดันได้ 39 ก็ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่ได้รับคัดเลือกเช่นกัน
  • สำหรับคะแนน A-level นั้น มหาวิทยาลัยจะกำหนดเกรดที่ต้องการมา 3 – 4 ตัว เช่น ต้องการ A*A*AA ก็แปลว่าวิชาไหนก็ได้ ขอแค่ได้ A* อย่างน้อย 2 ตัว A อย่างน้อย 2 ตัว ก็ถือว่าผ่านเกณฑ์ เว้นแต่ว่าจะมีการระบุวิชามาเป็นพิเศษ เช่นในบางสาขาอย่างหมอ อาจจะระบุว่า Chemistry หรือ Biology ต้องได้เกรดเท่าไร

การสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่อเมริกา

ทั้ง IB และ A-level ต่างเป็นที่ยอมรับไม่ต่างกันสำหรับมหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกา เพราะถือว่าเป็นหลักสูตรที่เรียนยากและมีความท้าทาย คือมี Class rigor เท่ากัน สุดท้ายก็ไปวัดเรื่องวิชาการกันที่ปัจจัยอื่น เช่น คะแนนสอบ SAT และ SAT Subject tests อยู่ดี ทำให้ A-level อาจจะง่ายกว่าอยู่เล็กน้อย เพราะจำนวนวิชาที่นักเรียนต้องรับผิดชอบมีแค่ 3 – 4 วิชา ในขณะที่ IB นั้นคือ 6 วิชา

สรุป

ทั้ง IB และ A-level ต่างก็มีข้อดีของตัวเอง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั้งคู่ ดีที่สุดคือปรึกษากันในครอบครัวว่าแบบไหนเหมาะกับลูกของเราที่สุด หรือปรึกษาทางทีม Consult ของเราก็ได้ครับ เพราะมีรายละเอียดอีกพอสมควรที่ยังไม่ได้ลงเอาไว้ในบทความนี้

อย่างไรก็ดี สำคัญที่สุดคือ การเลือกโรงเรียนให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็น IB หรือ A-level นั้น ต้องเลือกโรงเรียนที่เข้าใจหลักสูตรจริง ๆ และเอาหลักสูตรมาใช้ได้อย่างถูกต้อง การขึ้นชื่อว่า เป็น IB School หรือ A-level School นั้นไม่เพียงพอที่เราจะไว้ใจทั้งหมดได้ ต้องตรวจสอบให้ดี ๆ ครับ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดเข้ามาคุย เพื่อเลือกหลักสูตรและโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูกได้ที่ 084-320-1789 หรือทัก Line มาคุยกันได้ที่ Line ID @apsthai (มี @ ด้วยนะครับ) ได้เลยครับ