มีผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน เคยบอกว่าไม่อยากให้ลูกไปเข้ามหาวิทยาลัยที่ดูเหมือนจะ Top ๆ ยาก ๆ อย่างเช่น Oxford, Cambridge, Imperial, LSE หรือพวก Top 10 ในแต่ละสาขาวิชาทั้งหลายหรอก พอถามว่าทำไม ก็จะได้คำตอบว่า กลัวว่ามหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะมีการเรียนการสอนที่ยากเกินไป จนลูกน่าจะมีโอกาสสูงที่จะเรียนไม่จบ เลยตั้งใจว่าจะเชียร์ลูกให้ไปเข้าที่ง่าย ๆ ดีกว่า ไม่ต้อง Top เอาเรียนสบาย ๆ จบได้แบบไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกดดันอะไรมาก ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะยากเกินไปจนเรียนไม่จบ
จริง ๆ แล้วที่เข้าใจกันแบบนั้น ว่าที่ไหนยิ่ง Top ยิ่งน่าจะมีโอกาสเรียนไม่จบนั้น เป็นเรื่องที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง ๆ เลยล่ะครับ
มาดูข้อมูลสถิติเรื่องการเรียนไม่จบกัน
มีข้อมูลสถิติอยู่แหล่งหนึ่งที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับเรื่องที่เรากำลังคุยกันอยู่ครับ เป็นข้อมูลจาก HESA (Higher Education Statistics Agency) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อมาใช้วิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ และ ข้อมูลสำคัญที่เราจะคุยกันในวันนี้ คือ Non-continuation summary : UK Performance Indicators 2017/2018 ซึ่งเป็นข้อมูลที่บอกเราว่า ในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก เช่น นักเรียนลาออก ถูกไล่ออก หรือออกด้วยสาเหตุอะไรก็แล้วแต่มากน้อยแค่ไหน ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ
- University of Cambridge มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก 25 คน จาก 2,505 คน คิดเป็น 1.0%
- University of Oxford มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก 30 คน จาก 2,575 คน คิดเป็น 1.2%
- London School of Economics (LSE) มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก 15 คน จาก 715 คน คิดเป็น 2.4%
- University College London (UCL) มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก 85 คน จาก 2,560 คน คิดเป็น 3.3%
- Imperial College London มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรก 40 คน จาก 1,225 คน คิดเป็น 3.3.%
ในขณะที่บางมหาวิทยาลัยนั้น มีนักเรียนที่หายไปจากปีแรกอย่างน่าตกใจมาก ๆ
- University of Bedfordshire มีนักเรียนหายไป 180 คน จาก 980 คน คิดเป็น 18.6%
- The University of Bolton มีนักเรียนหายไป 125 คน จาก 815 คน คิดเป็น 15.4%
- London Metropolitan University มีนักเรียนหายไป 225 คน จาก 1,470 คน คิดเป็น 15.2%
ซึ่งข้อมูลชุดนี้เป็นข้อมูลของนักเรียนที่เข้าเรียนปีแรกตอนช่วง Academic Year 2015/2016 ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่ข้อมูลปีล่าสุด และท่านผู้อ่านอ่านแย้งว่า มันเป็นแค่การเปรียบเทียบว่านักเรียนหายไปจากปีแรกเท่าไร ไม่ได้บอกสักหน่อยว่านักเรียนจะเรียนจบไหม ตรงนี้ก็ขอชี้แจงไว้ว่าการหายไปจากปีแรกนั้น ก็คือส่วนหนึ่งของการเรียนไม่จบ แม้ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็บอกอะไรได้พอสมควรครับ คำถามคือเห็นอะไรจากสถิติข้างบนไหมครับ
สิ่งที่เราพบคือ มหาวิทยาลัยไหนยิ่ง Top โอกาสเรียนไม่จบ ยิ่งน้อย
แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
มหาวิทยาลัยยิ่ง Top ยิ่งคัดเลือกนักเรียนที่เหมาะสมจริง ๆ เท่านั้น
ก่อนอื่นมานิยามให้ถูกต้องกันก่อนนะครับว่า คำว่ามหาวิทยาลัยระดับ Top นั้น ไม่ใช่เฉพาะ Top 5 อย่าง Oxford, Cambridge, Imperial, UCL, LSE เท่านั้นนะครับ คำว่ามหาวิทยาลัย Top ในที่นี้หมายถึง Top ในสาขาวิชานั้น ๆ อย่างเช่น ถ้าเราพูดถึง Acoustical Engineering ก็ต้อง Southampton หรือพูดถึง Product Design ก็มีจะมี Brunel อยู่ในรายชื่อของมหาวิทยาลัยระดับ Top ในสาขานี้ด้วย เพราะฉะนั้น เรามาตั้งนิยามคำว่ามหาวิทยาลัย Top ให้ถูกกันก่อนนะครับ เวลาเลือกเรียน อย่าดูแค่ Top 5 Top 10 แบบ overall แต่ให้ดูตามสาขาวิชาว่า สาขาวิชาที่ตนต้องการจะเรียนนั้นตัวไหนคือตัว Top ครับ และแน่นอนว่ามันไม่ได้แปลว่า Oxford, Cambridge, Imperial, LSE, UCL เสมอไป
การสมัครมหาวิทยาลัยที่อังกฤษผ่านระบบ UCAS นั้น มีสิ่งต่าง ๆ ที่นักเรียนต้องส่งเข้าไปให้มหาวิทยาลัยพิจารณาหรือต้องแสดงให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลการเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับ IGCSE คะแนนสอบ AS-level คะแนน Predicted Grade และยังมีเรื่องที่สำคัญมาก ๆ อย่างการแสดงว่าเรา Born to be ในสิ่งที่เราเลือก อย่างเช่นการเขียน Personal Statement การมี Reference จากครูที่สอนเราโดยตรง การทำข้อสอบ Admissions Tests และการ Interview ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจมาก ๆ ก็คือ บางมหาวิทยาลัยใช้เวลาในการพิจารณาทุกอย่างนี้แค่เพียง 1-2 วัน แล้วตัดสินใจให้ offer นักเรียนเลย
การจะพิจารณาว่านักเรียนคนหนึ่งเหมาะสมกับมหาวิทยาลัยหรือไม่ เหมาะสมกับคอร์สที่เลือกเรียนหรือไม่ Born to be ในสิ่งที่กำลังจะทำหรือไม่ หากใช้เวลาพิจารณาแค่ 1-2 วัน ก็น่าจะมีได้แค่ 2 เหตุผลคือ
- ดูผ่าน ๆ ก็รู้แล้วว่า profile ดี จึงตัดสินใจให้ offer เลย
- ไม่ได้ดูอะไรเท่าไร สมัครมา profile ไม่ขี้เหร่เกินไป ก็ให้ offer เลย
ซึ่งมีแนวโน้มเป็นอย่างมากที่จะเป็นข้อที่ 2 ครับ ก็คือไม่ได้สนใจดูเลยว่า profile นักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง และเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยระดับรอง ๆ ranking ไม่ค่อยสวย หรือก็คือพวกมหาวิทยาลัยที่มีนักเรียนหายไปหลังจากปีแรกเยอะ ๆ นั่นแหละครับ
เนื่องจากไม่ได้คัดให้ดีพอว่านักเรียนมีความเหมาะสมหรือไม่ จึงไม่แปลกที่นักเรียนเข้ามาแล้วจะอยู่ไม่ได้บ้างล่ะ ไม่มีใจจะเรียนบ้างล่ะ หรือเข้ามาแล้วเจอสังคมไม่ดี ตัวเองตั้งใจดี แต่เพื่อนคนอื่น ๆ ที่มหาวิทยาลัยคัดเลือกเข้ามาเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องเลย แบบนี้ก็ทนอยู่ไม่ได้แล้วก็ต้องลาออกไป นี่แหละครับ มันเป็นแบบนี้
ในขณะที่มหาวิทยาลัยระดับ Top นั้น หลาย ๆ ที่หลาย ๆ คอร์สกว่าจะตอบรับนักเรียนใช้เวลาเป็นหลายเดือน เรียกทำข้อสอบเพิ่ม เรียก Interview ซ้ำ คัดแล้วคัดอีกจนกว่าจะแน่ใจว่านักเรียนที่จะรับเข้ามานั้นมีความเหมาะสมจริง ๆ จึงไม่แปลกที่จำนวนนักเรียนที่หายไปหลังจบปีแรกจะน้อย เพราะนักเรียนมีความเหมาะสม แถมสังคมที่ถูกสร้างขึ้นจากนักเรียนคนอื่นที่ถูกคัดเข้าไปก็ถูกสร้างขึ้นมาอย่างเหมาะสม เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเรียนการสอน จึงสามารถอยู่กันยาว ๆ ไปได้โดยไม่ต้องออกไปก่อนกลางทางครับ
แต่ก็ยังกังวลอยู่ดีว่ามหาวิทยาลัยที่ Top เกินไปจะเรียนยากมาก ๆ
ทุกที่ไม่ว่าจะ Top หรือไม่ ก็เรียนยากเหมือนกันหมดครับ จริง ๆ ใช้คำว่าเรียนยากก็ไม่ถูก ที่ถูกคือ หน้าที่ความรับผิดชอบต่างหากที่มากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าการเรียนระดับมหาวิทยาลัยในอังกฤษนั้น นักเรียนต้อง self-study มากถึง 80% อันนี้เป็นในเกือบทุกมหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยระดับ Top เพราะฉะนั้นทุกที่งานหนักพอ ๆ กัน
แต่ทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยดีขอแค่ นักเรียนเลือกเรียนในสิ่งที่เป็นตัวเองจริง ๆ และเลือกมหาวิทยาลัยที่ Top พอ ดีพอ ที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียน เพราะในมหาวิทยาลัยที่ Top นั้นไม่ใช่แค่คัดเลือกแต่คนที่เหมาะสมจริง ๆ เข้าไปเรียน แต่ยังมีอาจารย์ดี ๆ เก่งที่มีความเหมาะสมอยู่ในนั้น มีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ที่ดี ๆ มากมายอยู่ในนั้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้นแล้ว เลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่ Top เถอะครับ โอกาสเรียนจบสูงกว่ามหาวิทยาลัยรอง ๆ ที่ไม่ได้คุณภาพ จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว
และอย่าลืมนะครับว่า คำว่า Top ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง Oxford, Cambridge, Imperial, UCL, LSE แต่หมายถึง Top ในสาขาวิชาที่เรา Born to be และที่เราเลือกจะเข้าไปเรียนครับ
อ้างอิง : Non-continuation summary : UK Performance Indicators 2017/2018 จาก https://www.hesa.ac.uk/news/07-03-2019/non-continuation-tables