นี่น่าจะเป็นหนึ่งในความกังวลของหลาย ๆ บ้าน ว่าถ้าลูกไปเรียนหมอที่อังกฤษแล้ว จะกลับมาเป็นหมอที่ไทยได้หรือไม่ คำตอบคือได้ครับ แต่ไม่ใช่ว่าเรียนจบแล้วกลับมาเป็นหมอที่ไทยได้ทันที มันมีขั้นตอนบางอย่างที่ต้องทำให้เรียบร้อย ซึ่งบางอย่างต้องทำตั้งแต่ก่อนไปเรียนเลยเสียด้วยซ้ำไป ในบทความนี้เราจะมาดูเรื่องนี้กันนะครับ
จะเป็นหมอที่ไทยได้ ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ใช่ครับ อันนี้คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการจะได้เป็นหมอ ก็คือต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งการจะได้ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมมานั้นจะต้องมีการสอบ แต่ก่อนที่จะไปสอบได้นั้น เราต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่างนี้ครับ
- เราเรียนจบจากสถาบันทางการแพทย์ที่แพทยสภาให้การยอมรับ
- เรามีประสบการณ์การทำงานในฐานะแพทย์ฝึกหัด 1 ปี หรือ เรามีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับโดยแพทยสภา
เพราะฉะนั้นเรามาดูคุณสมบัติทั้ง 2 อย่างนี้ก่อนครับ ว่าเราจะมีมันได้อย่างไร
ที่ไหนบ้างในอังกฤษที่แพทยสภาให้การยอมรับ
ข้อมูลตรงนี้สามารถหาได้จากเว็บไซต์ของแพทยสภาโดยตรงครับ ซึ่งการที่แพทยสภาให้การยอมรับหรือเรียกว่าให้การรับรองนั้น อายุของการรับรองในแต่ละสถาบันจะอยู่ที่ 5 ปีนับตั้งแต่การขอการรับรองครั้งล่าสุด ซึ่งหากเราดูในเว็บไซต์ของแพทยสภาแล้วไม่พบชื่อของมหาวิทยาลัยในอังกฤษที่เราสนใจอยากจะไปเรียนก็ไม่เป็นไรครับ เราสามารถติดต่อทำเรื่องขอให้แพทยสภาทำการรับรองได้
ในความเป็นจริงแล้ว แพทยสภามีระเบียบการล่าสุด (กรุณาตรวจสอบอีกครั้งนะครับ) ว่าทุกคนที่จะไปเรียนหมอที่ต่างประเทศ เมื่อได้รับการตอบรับเข้าเรียนจากสถาบันในต่างประเทศแล้ว ต้องไปรายงานตัวกับแพทยสภาเป็นรายบุคคล เพื่อทำเรื่องให้แพทยสภารับรองสถาบันนั้น ๆ ให้ นั่นแปลว่า ไม่ว่าปัจจุบันสถาบันที่เรากำลังจะไปเรียนที่อังกฤษจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ เราก็ต้องไปรายงานตัวและทำเรื่องนะครับ เมื่อเราไปติดต่อแล้ว ระหว่างที่เรากำลังเดินทางไปเรียน แพทยสภาจะติดต่อกับมหาวิทยาลัยของเราที่อังกฤษเพื่อทำเรื่องรับรองหลักสูตรกัน อันนี้เป็นหน้าที่ของแพทยสภากับมหาวิทยาลัยที่อังกฤษจะคุยกันครับ เราแค่ต้องไปแจ้งให้แพทยสภาทราบก่อนที่เราจะเดินทางไปเรียนตามที่กล่าวไว้แค่นั้นเอง
เมื่อเรียนหมอจบที่อังกฤษแล้ว แล้วไงต่อ
เมื่อเรียนหมอที่อังกฤษจบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร 5 หรือ 6 ปีจากมหาวิทยาลัยไหนก็ตาม ตรงนี้ยังไม่เพียงพอที่จะกลับมาสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ เราจะต้องมีประสบการณ์การทำงานในฐานะแพทย์ฝึกหัดอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งตรงนี้อาจกลับมาฝึกที่เมืองไทยก็ได้ หรือ ไม่ก็ฝึกต่อที่ประเทศอังกฤษเลยในชั้นปีที่เรียกว่า Foundation Year 1
ในวันที่เราเรียนจบมหาวิทยาลัยทางด้านการแพทย์นั้น เราจะได้รับการลงทะเบียนจาก GMC (General Medical Council) ที่อังกฤษเป็นแบบ Provisional Registration ซึ่งยังไม่สามารถเอาไปใช้อะไรได้นอกจากใช้เป็นใบอนุญาตให้ฝึกงานใน Foundation Year 1 ได้ ซึ่ง Foundation Year 1 นั้นจะใช้เวลาทั้งหมด 1 ปี และหลังจากจบ 1 ปีตรงนี้แล้ว เราจะได้รับการลงทะเบียนจาก GMC ให้เป็น Full Registration ซึ่งก็คือใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของที่อังกฤษนั่นเอง เมื่อถึงขั้นนี้ แปลว่าเราสามารถกลับมาสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมในเมืองไทยได้แล้ว
หมายเหตุ : สำหรับคนที่สนใจเป็นหมอในอังกฤษต่อ เมื่อถึงขั้นที่ได้ Full Registration ก็ถือว่าเป็นหมอแล้วสามารถทำงานได้จริงแล้ว หลังจากนี้คือ Foundation Year 2 ต่ออีก 1 ปีก่อนที่จะเลือกว่าจะไปสาย General Practioner หรือสาย Other Speciality ตรงนี้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ GMC และ Medical School Council ที่อังกฤษครับ
สอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เขาสอบอะไรกันบ้าง
เมื่อได้ฝึกงานในฐานะแพทย์ฝึกหัดเป็นเวลา 1 ปี หรือจบ Foundation Year 1 และได้ Full Registration จากที่อังกฤษแล้ว ตอนนี้ก็สามารถที่จะสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของเมืองไทยได้ ซึ่งข้อสอบนั้นมีอยู่ 3 ส่วนได้แก่
- ส่วนที่ 1 ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (Basic Medical Sciences)
- ส่วนที่ 2 ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก (Clinical Sciences)
- ส่วนที่ 3 ทักษะและหัตถการทางคลินิก ประกอบด้วย Objective Structed Clinical Examination (OSCE), Modified Essay Question, และ Long Case
ซึ่งหาอ่านรายละเอียดที่ครบถ้วนกว่านี้ว่าแต่ละส่วนสอบอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร มีหลักการต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ได้จากในเว็บไซต์ของแพทยสภา และ ศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศ.ร.ว.) ครับ
อย่างไรก็ดีส่วนหนึ่งที่หลาย ๆ บ้านจะเป็นกังวลก็คือ ถ้าเราเรียนจบหมอจากที่อังกฤษมา แล้วเราเรียนเป็นภาษาอังกฤษมาทั้งหมด เราจะสามารถกลับมาสอบข้อสอบดังกล่าวในเมืองไทยได้หรือไม่ คำตอบคือข้อสอบเกือบทั้งหมดในการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมนั้นเป็นภาษาอังกฤษครับ เพราะตำราเรียนปัจจุบันของการเรียนหมอในเมืองไทยนั้นเกือบทั้งหมดก็เป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรต้องห่วงครับ หากมีอะไรต้องเตรียมเพิ่มเติมนิดหน่อยก็อยู่ในระดับที่สามารถเตรียมได้ครับ
และเมื่อสอบตรงนี้เสร็จสิ้นผ่านเกณฑ์เรียบร้อย ลงทะเบียนเรียบร้อย ก็ได้เป็นหมอแล้วครับ
สรุปขั้นตอนทั้งหมดอีกครั้ง ว่าถ้าเรียนหมออังกฤษแล้วจะกลับมาเป็นหมอที่ไทยต้องทำอย่างไร
- เมื่อได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ให้ไปติดต่อแพทยสภาให้ทำการรับรองสถาบันนั้น ๆ ให้
- เรียนให้จบ 5 – 6 ปีแล้วแต่ว่าเรียนที่ไหน
- กลับมาหาที่ฝึกงานในฐานะแพทย์ฝึกหัด 1 ปี หรือไม่ก็ฝึกงานในอังกฤษต่อในโปรแกรม Foundation Year 1 เพื่อให้ได้รับ Full Registration จาก GMC ซึ่งก็คือใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของที่อังกฤษนั่นเอง
- กลับมาสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไทย ด้วยการสอบ 3 ส่วน
- ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และเป็นหมอที่ไทยได้
อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นแค่การอธิบายขั้นตอนคร่าว ๆ และเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันนะครับ ขอแนะนำให้หาข้อมูลเพิ่มเติมและ update ข้อมูลเพิ่มเติมเสมอ ๆ จะได้ไม่มีอะไรผิดพลาดครับ ซึ่งเว็บไซต์ที่ควรเข้าไปตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้แก่
- แพทยสภา https://www.tmc.or.th
- ศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศ.ร.ว.) https://cmathai.org
- Medical School Council https://www.medschools.ac.uk
- General Medical Council https://www.gmc-uk.org
และสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ก็คือ หมอไม่ใช่อาชีพที่ดีที่สุด จริง ๆ แล้วโลกของเราไม่มีอาชีพที่ดีที่สุด มีแต่อาชีพที่เหมาะกับเรามากที่สุดเท่านั้น ถ้าเราเกิดมาเพื่อที่จะเป็นหมอ ก็ขอให้ขยันตั้งใจและเป็นให้ได้ แต่ถ้าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นหมอ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องฝืนตัวเอง ไปเป็นอะไรก็ได้ที่เป็นตัวเองที่สุด เป็นทางของเราที่สุด และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดครับ