เคยสงสัยกันไหมครับว่าหลังสอบ IGCSE และ A-level เสร็จแล้ว สุดท้ายการที่มันออกมาเป็นเกรดต่าง ๆ นั้น เขามีวิธีคิดหรือวิธีการในการให้เกรดอย่างไร วันนี้เราจะมาคุยเรื่องนี้กันครับ แล้วบอกเลยว่า การเข้าใจเรื่องนี้อาจช่วยเพิ่มเกรดให้เราได้นะครับ เพราะมันคือการรู้ที่มาที่ไปและทำให้เราเตรียมตัวได้อย่างถูกจุดเลยทีเดียว

การทำได้ 80 เต็ม 100 ไม่ได้แปลว่าต้องได้ A

สมมติว่าข้อสอบมี 100 คะแนนเต็ม การทำได้ 80 คะแนน ไม่ได้แปลว่าต้องได้เกรด A อันนี้คือสิ่งแรกที่ต้องเข้าใจก่อน บางคนจะคิดว่าเวลาได้ยินว่ามีใครได้เกรด A* แปลว่าเขาทำได้ 90 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม หรือเวลาได้ B ก็แปลว่าได้ 70 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็ม อันนี้ไม่ใช่นะครับ บางคนอาจเถียงว่าแต่เคยเห็นใบเกรดมันมีวงเล็บท้ายเกรด เช่น A (85) ก็แปลว่าเพราะได้ 85 คะแนนจาก 100 คะแนน ซึ่งเกิน 80 คะแนนก็เลยได้ A ไม่ใช่เหรอ ก็ต้องขอบอกว่าคะแนนในวงเล็บนั้นคือคะแนนที่ถูกแปลงให้มาเต็ม 100 คะแนนแล้ว (ซึ่งมีกระบวนการของเขา) ไม่ใช่การที่เราทำได้ 85 คะแนนจาก 100 คะแนนเต็มหรอกครับ

สาเหตุที่เขาไม่ได้เอาคะแนนดิบ (Raw Score) ที่เราทำได้มาคิดเป็นเกรดตรง ๆ ก็เพราะว่า มาตรฐานความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละปีนั้นอาจไม่เท่ากัน เนื่องมาจากเนื้อหาหลักสูตรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และคำถามที่นำมาถามก็ไม่ได้เหมือน ๆ กันทุก ๆ ปี การตัดสินด้วยคะแนนดิบจึงไม่ยุติธรรมสำหรับผู้สอบในปีที่แตกต่างกันครับ นั่นหมายความว่า บางปีทำได้ 80 อาจจะได้ A บางปีอาจได้แค่ B บางปีอาจเป็น A* ก็ได้

ถ้างั้นเขาคิดคะแนน และ เกรด กันอย่างไร

เรามาดูวิธีการคิดคะแนน และ เกรด ที่อธิบายเอาไว้ในเว็บไซต์ของ CAIE (Cambridge Assessment International Examination) หรือ CIE ที่เราเคยรู้จักกันนะครับ เขาบอกว่าขั้นตอนนั้นมีดังต่อไปนี้ (ส่วนของ Edexcel หรือ Exam board อื่น ๆ ก็คล้าย ๆ กันครับ)

  1. เมื่อทำข้อสอบเสร็จแล้ว ข้อสอบบางส่วนที่ตรวจได้ด้วย computer เช่นพวก multiple choice ก็จะถูกตรวจแบบอัตโนมัติไป แต่ข้อสอบแบบเขียนตอบของผู้สอบ “บางคน” จะถูกส่งไปตรวจโดยทีม Experienced Senior Examiner หรือเรียกง่าย ๆ ว่าทีมผู้มีประสบการณ์ครับ ที่ส่งไป “บางคน” ไม่ใช่ของผู้สอบทุกคน เพราะขั้นตอนนี้เขาต้องการสร้างมาตรฐานในการตรวจก่อน โดยทีมผู้มีประสบการณ์นี้จะตรวจคู่กับสิ่งที่เรียกว่า Mark Scheme เพื่อกำหนดมาตรฐานการตรวจข้อสอบขึ้นมาครับ
  2. เมื่อได้มาตรฐานแล้วว่าการตรวจข้อสอบของปีนี้ต้องตรวจอย่างไร คนที่เป็นทีม Examiner ซึ่งต้องทำหน้าที่ตรวจข้อสอบจริง ๆ นั้น จะต้องมารับการฝึกตรวจข้อสอบกับทีมผู้มีประสบการณ์นี้ก่อนโดยให้ลองตรวจชุดของผู้สอบ “บางคน” ในข้อ 1 ให้ดูโดยมี Mark Scheme เป็นแนวทางจนกว่าจะตรวจคิดคะแนนออกมาได้เหมือนกับที่ทีมผู้มีประสบการณ์ตั้งมาตรฐานเอาไว้ให้ จึงจะเริ่มขั้นตอนต่อไปได้
  3. เมื่อมั่นใจว่าทีม Examiner สามารถตรวจข้อสอบได้มาตรฐานเดียวกับทีมผู้มีประสบการณ์แล้ว ทีม Examiner ก็จะตรวจข้อสอบทั้งหมดจริง ๆ ล่ะคราวนี้ โดยดูตาม Mark Scheme จนกระทั่งสุดท้ายได้คะแนนดิบ (Raw Score) ของผู้สอบทุกคนออกมา ระหว่างนี้ทีมผู้มีประสบการณ์จะคอยจับตามองอย่างใกล้ชิด ถ้า Examiner คนไหนตรวจไม่ได้ตามมาตรฐาน ก็จะถูกเปลี่ยนตัวให้คนอื่นมาตรวจแทน
  4. ทีมงานจะนำคะแนนดิบทั้งหมดที่ได้จากผู้สอบทุกคน บวกกับข้อมูลทางสถิติที่มี มากำหนดสิ่งที่เรียกว่า Grade Boundaries ซึ่งก็คือ เกณฑ์ขั้นต่ำว่า คะแนนดิบเท่าไรขึ้นไปถึงได้ A* คะแนนดิบเท่าไรขึ้นไปถึงได้ A คะแนนดิบเท่าไรขึ้นไปถึงได้ B จนไปถึงเกรดต่ำที่สุด ซึ่งตรงนี้มีหลายปัจจัยมาก (ที่เขาไม่ได้เปิดเผยไว้) ในการนำมาพิจารณาว่าวิชานี้ ในการสอบรอบนี้ สมควรมี Grade Boundaries ของแต่ละเกรดอยู่ที่เท่าไร และแน่นอนว่าความยากง่ายของข้อสอบเมื่อเทียบกับปีก่อน ความสามารถของผู้สอบทั้งหมดเมื่อเปรียบเทียบกัน ย่อมมีผลต่อ Grade Boundaries นี้
  5. สุดท้าย เมื่อได้ Grade Boundaries แล้ว คะแนนดิบที่ได้ของผู้สอบแต่ละคนก็จะถูกนำมาเทียบ และออกมาเป็นเกรดในที่สุด

ถึงแม้ขั้นตอนจะดูซับซ้อนมาก ๆ แต่สังเกตอย่างหนึ่งไหมครับว่ามันมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ และ ปัจจัยที่เราควบคุมได้ ปนกันอยู่ ปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้คือความยากง่ายของข้อสอบ และความสามารถของผู้สอบคนอื่น ๆ แต่ปัจจัยที่เราควบคุมได้คือความสามารถของเราเอง และ การตอบให้ตรงทางตาม Mark Scheme นั่นเองครับ

ตอบไม่ตรง Mark Scheme ย่อมไม่ได้คะแนน และ สุดท้ายเกรดก็ไม่ดี

ตั้งแต่ขั้นตอนที่ทีมผู้มีประสบการณ์สุ่มข้อสอบของผู้สอบ “บางคน” มาตรวจเพื่อสร้างมาตรฐาน เขาก็ใช้ Mark Scheme เป็นเกณฑ์การให้คะแนน จนไปถึงขั้นตอนที่ทีม Examiner ช่วยกันตรวจข้อสอบ เขาก็ต้องใช้ Mark Scheme เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนเช่นกัน ซึ่งนั่นหมายความว่ากฎเกณฑ์การให้คะแนนถูกสร้างขึ้นมาอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า การตอบผิดไปจากสิ่งที่ Mark Scheme ระบุเอาไว้ ย่อมไม่ได้คะแนน

อย่างเช่น ถ้าเราพูดถึงวิชา Physics เราบอกว่ารถยนต์คันหนึ่งเปลี่ยนความเร็วจาก 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราจะเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่าอะไร เราอาจจะบอกว่าก็รถยนต์มันวิ่งเร็วขึ้น ก็ต้องเรียกว่า faster ซึ่งในมุมของคนทั่วไปมันคือถูก ทีม Examiner เองก็สามารถ “คิด” ได้ว่ามันเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถให้คะแนนได้ครับ เพราะ faster ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องของข้อนี้ในเชิง Physics หรือในแนวทางที่ Mark Scheme ระบุไว้ คำว่า accelerate ต่างหากที่ถูกต้องและได้คะแนนตาม Mark Scheme ลองคิดเล่น ๆ ว่าทีม Examiner บอกว่า “น่าจะถูกแหละ หยวน ๆ ให้” สิครับ ตกงานแน่ ๆ (อันนี้แค่ยกตัวอย่างนะครับ แต่มันก็ประมาณนี้แหละ)

ลองย้อนกลับไปมองตัวเองว่าเวลาครูที่โรงเรียนมีการสอบในบางวิชาที่เรารู้สึกว่าเราก็เรียนเข้าใจดี แต่ทำไมสุดท้ายครูบอกว่าเราได้คะแนนน้อยกว่าที่เราคิด หลาย ๆ ครั้งก็อาจจะมาจากสาเหตุนี้ก็ได้ครับว่าเราตอบไม่ตรงกับแนวทางที่ควรจะเป็น แม้จะดูเหมือนถูกแต่ก็ให้คะแนนไม่ได้ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ในโรงเรียนก็ดีแล้วครับ จะได้เป็นการเตือนเอาไว้ว่าในการสอบ IGCSE และ A-level จริง ๆ นั้นเราจะต้องระวังเรื่องนี้ให้มากทีเดียว

เพราะฉะนั้นแล้ว การเรียนเนื้อหาวิชาให้เข้าใจว่าสำคัญแล้ว การซ้อมทำ Past Papers เยอะ ๆ และการตรวจกับ Mark Scheme ด้วยตัวเองให้เป็นก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน การตรวจกับ Mark Scheme ด้วยตัวเองให้เป็นจะช่วยให้เรารู้วิธีการตอบที่ถูกต้องด้วยตนเอง และทำให้เราเชี่ยวชาญในการทำข้อสอบมากขึ้นด้วยครับ แค่รู้อย่างเดียวไม่พอหรอกครับ ต้องทำข้อสอบให้เป็นด้วยครับ

อย่างไรก็ดี ควรตั้งเป้าให้สูงที่สุดเวลาซ้อมทำ Past Papers เสมอ

บางคนรู้เรื่อง Grade Boundaries แล้ว ก็เกิดความประมาทในการซ้อมทำ Past Papers ครับ ด้วยความที่เกรดกับคะแนนดิบไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง บางปีทำได้แค่ 70% ในคะแนนดิบก็อาจได้ A* แล้ว บางคนพอซ้อมทำ Past Papers บางวิชาบางปี ได้คะแนนดิบแค่ 70% เอาไปตรวจกับ Grade Boundaries แล้วเจอว่าตัวเองได้ A* ก็ดีใจ คิดว่าตัวเองได้ A* แน่ ๆ แล้ว

ซึ่งนี่คือความประมาทอย่างที่สุดครับ

เพราะถ้าเราพอใจกับมาตรฐานตัวเองแค่นี้ ว่าทำได้แค่ 70% ของคะแนนดิบก็มีสิทธิ์ได้ A* จะเกิดอะไรขึ้นถ้ารอบจริง ๆ ที่เราจะต้องสอบเป็นรอบที่การทำได้ 70% ของคะแนนดิบแล้ว Grade Boundaries ถูกตั้งมาว่าจะได้แค่ B ล่ะ นั่นแปลว่าเราพลาดเลยนะครับ เพราะฉะนั้นการซ้อมทำ Past Papers แล้วไปดูที่เกรดที่จะได้ตาม Grade Boundaries อย่างเดียวแล้วพอใจแค่นั้น นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ที่ถูกต้องคือ ลืมเรื่องเกรดไปก่อน ไม่ต้องสนว่าสำหรับปีนั้นการได้คะแนนดิบแค่ 70% มันถือว่าเราได้เกรดอะไร ให้สนแค่ว่ามันอีกตั้ง 30% แน่ะที่เรายังทำผิด ยังทำไม่ได้ ยังไม่เข้าใจ ยังทำไม่ถูก เราจะจัดการกับ 30% ที่เหลือตรงนี้อย่างไร นี่ต่างหากที่เราต้องสนใจ เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองใหม่ว่า เพื่อให้ไปถึงจุดที่คะแนนดิบเราจะได้ 100% เรายังต้องทำอะไรอีกบ้าง

ถ้าไม่ตั้งเป้าแบบนี้ ไม่ลงมือทำแบบนี้ เรากำลังจะปล่อยตัวเองให้อยู่ในความประมาทอยู่เสมอครับ เรากำลังคาดหวังให้ข้อสอบปีที่เราต้องสอบเป็นข้อสอบที่ Grade Boundaries ต่ำ เรากำลังเอาชีวิตไปฝากไว้กับสิ่งที่ไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ ทำไมเราถึงไม่กลับมาคาดหวังในสิ่งที่เราควบคุมได้ซึ่งก็คือการลงมือทำให้ดีที่สุดล่ะครับ

เพราะฉะนั้น มันไม่สำคัญเลยครับว่าวิธีคิดเกรด IGCSE/A-level มันจะเป็นอย่างไร Grade Boundaries มันจะเป็นเท่าไร เรามีหน้าที่เรียนให้ครบ ทำ Past Papers ให้เยอะ ใส่ใจ Mark Scheme ให้มากและตั้งเป้าว่าจะทำให้สูงที่สุดอยู่เสมอ นั่นแหละครับคือวิธีที่เราจะทำเกรดให้ดีที่สุดได้อย่างที่เราต้องการ ขอเอาใจช่วยนะครับ

อ้างอิง: วิธีการให้คะแนนและคิดเกรดของ CAIE https://www.cambridgeinternational.org/exam-administration/results/marking-and-grading/