หลาย ๆ บ้านมีความคิดว่า หลังลูกเรียนจบ IGCSE ก็อยากจะส่งลูกไปเรียน A-level ในโรงเรียนดี ๆ ที่อังกฤษ แต่บางบ้านก็รู้สึกว่าเรียน A-level ต่อที่เมืองไทยก็ไม่น่าจะต่างกัน วันนี้เราจะมาดูกันครับว่า จริง ๆ แล้วเรียน A-level ที่เมืองไทย หรือ ที่อังกฤษ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร และแบบไหนถึงจะดีกว่ากัน

ข้อแตกต่างระหว่าง A-level ที่เมืองไทย กับ A-level ที่อังกฤษ

แต่เดิมนั้น การสอบ A-level สามารถแบ่งสอบเป็น module หรือหน่วยย่อยได้ และมักจะสอบกันอย่างน้อยปีละครั้ง การสอบก่อนจบ Year 12 เรียกว่าการสอบ AS-level เป็นการสอบเนื้อหาที่เรียนมาในส่วนแรกของแต่ละวิชา ส่วนการสอบก่อนจบ Year 13 เรียกว่าการสอบ A2-level เป็นการสอบเนื้อหาที่เรียนมาในส่วนที่เหลือของแต่ละวิชา ซึ่งนั่นหมายความว่านักเรียนสามารถทยอยสอบทีละส่วน ๆ ของแต่ละวิชาได้ ตามแต่โรงเรียนจะกำหนด

ซึ่งปัจจุบันนี้การสอบแบบแบ่งเป็น module นั้น ไม่สามารถทำได้ในประเทศอังกฤษแล้ว (ยกเว้นส่วนน้อยมาก ๆ ซึ่งเราจะไม่พูดถึงกัน) นักเรียนจะต้องเรียนเนื้อหา 2 ปี แล้วรวบสอบครั้งเดียวตอนจบ Year 13 ซึ่ง A-level แบบนี้เรียกว่า A-level แบบ reformed หรือ linear ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายของประเทศอังกฤษที่ต้องการเน้นให้นักเรียนใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น และใช้เวลากับการสอบน้อยลงจึงเหลือสอบแค่ตอนจบ Year 13 ไปเลย ทั้งนี้นักเรียนยังสามารถสอบแค่ AS-level ตอน Year 12 ในบางวิชาได้ แต่ถ้าต้องการจบ A-level ในวิชานั้น ก็ต้องสอบใหม่ทั้งหมดตอน Year 13 อยู่ดี ไม่สามารถเอาคะแนนที่ได้มาแล้วตอน Year 12 มารวมได้

อย่างไรก็ดี การสอบ A-level แบบแบ่ง module ที่แบ่งสอบได้แบบเดิมนั้นยังสามารถทำได้ในเมืองไทย ด้วยการเลือกสอบกับ examination board ที่เป็นแบบ international เช่น CIE หรือ Pearson Edexcel International A-level (แล้วแต่โรงเรียนจะเลือก) ทำให้นักเรียนที่เรียน A-level ในเมืองไทย ยังสามารถใช้วิธีการเดิมคือ Year 12 สอบแค่เนื้อหาที่เรียนตอน Year 12 และ Year 13 สอบแค่เนื้อหาที่เรียนตอน Year 13 ได้

เล่ามาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นเรียน A-level ที่เมืองไทยก็น่าจะดีกว่าสิ เพราะว่าง่ายกว่า สามารถทยอยสอบได้ Year 12 สอบสิ่งที่เรียนตอน Year 12 ส่วน Year 13 ก็สอบเนื้อหาที่เรียนตอน Year 13 ไม่ต้องรวบทั้งหมดไปสอบครั้งเดียวตอนจบ Year 13 เหมือนที่อังกฤษ นั่นแปลว่าเรียน A-level ที่เมืองไทยก็น่าจะทำเกรดได้ดีกว่าใช่ไหม

เรื่องทำเกรดได้ดีกว่าง่ายกว่าก็อาจจะใช่ แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมดครับ

มุมมองของมหาวิทยาลัยระหว่าง A-level แบบแบ่งสอบได้ (เช่นที่เมืองไทย) กับแบบรวบสอบครั้งเดียวที่อังกฤษ

แม้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอังกฤษจะออกมาพูดว่า A-level แบบแบ่งสอบปีละอย่างน้อย 1 ครั้งแบบที่เมืองไทย กับ A-level แบบใหม่ที่สอบครั้งเดียวตอนจบ Year 13 แบบที่อังกฤษนั้น จะถูกพิจารณาไม่ต่างกัน แต่ความจริงที่เราได้เห็นกันมาระยะหนึ่งแล้วก็คือ มหาวิทยาลัยมักจะขอเกรด A-level ที่นักเรียนต้องได้ จาก 2 สถานการณ์นี้ต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่น เราเคยเจอนักเรียน 2 คนที่สมัครสาขาเดียวกันของมหาวิทยาลัยเดียวกัน แตกต่างกันที่คนหนึ่งเรียน A-level ที่เมืองไทย อีกคนหนึ่งเรียน A-level ที่อังกฤษ ทั้งคู่เรียน A-level 4 วิชาเหมือนกัน ซึ่งสุดท้ายคนที่เรียน A-level ที่อังกฤษ ถูกมหาวิทยาลัยเรียกเกรดที่ต้องทำให้ได้อยู่ที่ A*AA ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานปกติของมหาวิทยาลัยนี้ ในขณะที่ อีกคนที่เรียน A-level ที่เมืองไทย ถูกมหาวิทยาลัยเรียกเกรดที่ต้องทำให้ได้อยู่ที่ A*A*AA ซึ่งยากกว่ามาก เพราะโดนเรียกเกรดถึง 4 วิชา และต้องทำ A* ได้มากถึง 2 ตัว

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะมาจากการที่มหาวิทยาลัยที่อังกฤษมองว่า การทำ A-level ที่เมืองไทยนั้นง่ายกว่า เพราะสามารถทยอยสอบได้ จึงอาจต้องเรียกเกรดให้สูงหน่อยเพื่อพิสูจน์ความสามารถ ในขณะที่การทำ A-level ที่อังกฤษนั้นยากกว่าเพราะต้องรวบทุกอย่างมาสอบตอนจบ Year 13 ครั้งเดียว จึงเรียกเกรดที่ต้องการตามมาตรฐานปกติก็พอ ไม่จำเป็นต้องเรียกเกรดที่สูงมากจนเกินไป

ซึ่งจากเรื่องนี้เราจะเห็นได้ว่า การทำ A-level ที่เมืองไทย อาจจะทำเกรดได้ง่ายกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษที่ต้องการจะง่ายขึ้นไปด้วย

และไม่ใช่แค่นั้นครับ …

เรื่องอื่นอีกที่ต้องพิจารณา ไม่ใช่แค่ A-level แบ่งสอบได้หรือไม่

อย่างที่หลาย ๆ ท่านน่าจะเคยทราบแล้วว่า การจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษได้สำเร็จนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเกรด A-level หรือเกรด IGCSE ยังมีอีกหลายเรื่องที่มหาวิทยาลัยที่อังกฤษให้ความสำคัญมาก ๆ ได้แก่

  • Personal Statement ที่แสดงให้มหาวิทยาลัยเห็นได้ว่า นักเรียนมีความเหมาะสมและ born to be กับคอร์สและมหาวิทยาลัยที่ตัวเองจะเลือกอย่างไร
  • Reference จากครูที่โรงเรียนที่จะช่วยสนับสนุนสิ่งที่นักเรียนใน Personal Statement อีกทีว่านักเรียนคนนี้คือคนที่ใช่สำหรับคอร์สและมหาวิทยาลัยที่เลือกจริง ๆ
  • Admissions Tests ที่นักเรียนจะต้องทำให้มหาวิทยาลัยเห็นว่าตัวเองมีทักษะในการเรียนสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเลือกจริง ๆ
  • Interview ที่นักเรียนจะต้องแสดงให้มหาวิทยาลัยเห็นให้ได้ว่า นี่คือสิ่งที่ born to be นี่คือสิ่งที่ตัวเองมี passion และนี่คือสิ่งที่ตัวเองเลือกมาแล้วเป็นอย่างดีที่สุด

ซึ่งนั่นหมายความว่านอกเหนือไปจากเรื่องที่ว่าจะให้ลูกเรียน A-level ที่เมืองไทยหรือที่อังกฤษดี คำถามที่สำคัญกว่าที่ต้องถามคือ จะให้ลูกเรียนที่ไหนดีที่สามารถสนับสนุนและช่วยเหลือ 4 เรื่องข้างต้นนี้ได้ เพื่อให้ลูกของเรามีโอกาสที่จะได้เรียนในสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่ใช่ตัวเขาที่สุดจริง ๆ

ทุก ๆ ปีมีนักเรียนจำนวนมากที่ผลการเรียนดี แต่โดนปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยที่ต้องการเพียงเพราะเรื่องข้างต้นไม่ดีพอ และทั้งหมดนั้นมาจากการอยู่ในโรงเรียนที่ไม่สามารถช่วยเหลือเรื่องพวกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าดูแล้วโรงเรียนไหนช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้ได้ และมีผลงานเป็นรูปธรรมให้เห็นชัดเจน เช่น นักเรียนสอบติด Oxford Cambridge ได้ปีละเป็นสิบหรือยี่สิบคนทุกปี สอบติดในมหาวิทยาลัยระดับ Top 10 ในสาขาที่นักเรียนเลือกได้เกือบทั้งโรงเรียนทุก ๆ ปี นั่นแหละครับคือโรงเรียนที่ควรเลือก ไม่เกี่ยวกับว่าจะเรียน A-level ในเมืองไทยหรือไปอังกฤษเลย ถ้าโรงเรียนดี ๆ แบบนั้นอยู่ในอังกฤษ ก็ต้องให้ลูกไปเรียน A-level ที่อังกฤษแล้วล่ะครับ

ให้เรื่องเรียน A-level ที่เมืองไทย แบ่งสอบได้ เรียนสบายกว่า เป็นเรื่องรองนะครับ เรื่องอนาคตของลูก คุยกันที่คุณภาพโรงเรียนว่าเขาช่วยเหลือลูกเราได้จริง ๆ หรือไม่ ดีกว่านะครับ