เวลาพูดถึงมหาวิทยาลัยระดับท็อปในประเทศอังกฤษ หนึ่งในชื่อที่ต้องนึกถึงกันแน่ ๆ ก็คือ Cambridge ด้วยเหตุนี้ Cambridge จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเป้าหมายของเด็กหลาย ๆ คน และในทางตรงข้ามบางคนก็รู้สึกว่าถ้ามันท็อปขนาดนั้น มันก็คงจะไกลเกินเอื้อมแน่ ๆ ส่วนบางคนก็จะพูดไปในทำนองว่า “อย่าไปเข้าเลย Cambridge ต้องเรียนยาก เรียนเครียด เรียนไม่ไหวแน่ ๆ”

เอาเป็นว่าจะรู้สึกหรือคิดอย่างไรกันก็แล้วแต่ สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ Cambridge เป็นมหาวิทยาลัยที่มีโครงสร้างบางอย่างที่น่าสนใจ และนั่นทำให้ Cambridge เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าเรียนมาก ๆ วันนี้เรามาดูกันครับว่า Cambridge น่าเรียนอย่างไร เผื่อจะกระตุ้นให้ใครสักคนเกิดแรงบันดาลที่จะไปเรียนที่นั่นขึ้นมา ก็เป็นไปได้

เชื่อหรือไม่ … Cambridge มีการเรียนแบบตัวต่อตัว ?

ถ้าพูดถึงการเรียนระดับมหาวิทยาลัย เราจะชอบนึกถึง lecture hall ใหญ่ ๆ ซึ่งก็ใช่ครับ ที่ Cambridge ก็มีการเรียนใน lecture hall ใหญ่ ๆ เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่สิ่งที่ Cambridge มีมากกว่านั้นคือ การเรียนในรูปแบบที่เรียกว่า Supervisions

Supervisions คือการเรียนกลุ่มเล็ก ระหว่างนักเรียนไม่กี่คนกับอาจารย์ผู้ดูแลหนึ่งคน (Director of Studies) ซึ่งคำว่ากลุ่มเล็กนี้ หลาย ๆ ครั้งคือการเรียนแบบตัวต่อตัว ก็คืออาจารย์หนึ่งคนกับนักเรียนหนึ่งคนเท่านั้น เหมือนเรียนกวดวิชาแบบเรียนเดี่ยวทำนองนั้นเลยครับ ซึ่งการเรียนแบบ Supervisions นี้จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นคว้าให้ลึกลงไปในสิ่งที่เรียน โดยที่นักเรียนจะต้องอ่านหนังสือ ค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ มาล่วงหน้า แล้วพอมาเจออาจารย์ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาแชร์ประสบการณ์กัน ชวนคุย ชวนคิด ชวนค้นคว้าให้ลึกลงไปจากสิ่งที่ไปอ่านเองเตรียมเองมาล่วงหน้า

แบบนี้แล้ว มั่นใจได้เลยว่านักเรียนที่ Cambridge จะได้ทั้งความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับด้านที่ตัวเองสนใจแบบเข้มข้นมาก ๆ เพราะดูแลกันอย่างใกล้ชิดด้วยระบบ Supervisions นี่เอง แถมนี่ยังไม่ใช่แค่การเรียนกับอาจารย์ระดับธรรมดา แต่เป็นอาจารย์ระดับเดียวกันกับที่เคยสร้างบุคคลสำคัญของโลกมาแล้วมากมายอีกด้วย

ไม่ใช่แค่เลือกสาขาวิชา แต่ต้องเลือก College ด้วย

การเรียนที่ Cambridge นอกจากจะเลือกสาขาวิชาที่จะเรียนแล้ว อย่างเช่น เลือกว่าจะเรียน Engineering เรียน Natural Sciences เรียน Economics แล้ว ต้องเลือกด้วยว่าตัวเราเองจะไปอยู่ที่ College ไหน พอพูดแบบนี้หลาย ๆ คนจะเข้าใจว่า College แปลว่าที่พัก ซึ่งก็ถูกต้อง แต่ยังไม่ถูกต้องทั้งหมดครับ

College คือที่ ๆ เราจะไปอยู่อาศัย แต่ไม่ใช่แค่นั้นครับ เราใช้ชีวิตส่วนมากที่นั่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม การใช้เวลากับเพื่อน แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การทำ Supervisions ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่ College นี่แหละครับ เพราะฉะนั้นการได้รับการดูแลใกล้ชิดในการเรียนการสอนแบบ Supervisions จากอาจารย์นั้น ก็เป็นอาจารย์ใน College นั่นเอง อารมณ์เหมือนกับพี่สอนน้อง พ่อสอนลูก ในครอบครัวเดียวกันอย่างนั้นเลย

มหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่เราเลือกเรียน มีหน้าที่หลักในการกำหนดหลักสูตร ในการสอน lecture ปกติ การสอบวัดผล และการออกใบปริญญา แต่หน้าที่ในทำ Supervisions การให้ที่พักที่อาศัย การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้ รวมไปถึงการคัดเลือกนักเรียนเข้ามาเรียนนั้น จะเป็นหน้าที่ของ College เพราะฉะนั้น ตั้งแต่วันที่เราสมัคร UCAS Application เขาจะมีให้เราเลือกเลยว่า เราจะเอา College ไหนของ Cambridge

ซึ่งระบบการคัดเลือกของ Cambridge ในเรื่องเกี่ยวกับ College นั้นดีมาก ๆ ครับ เพราะไม่ว่าเราจะเลือก College ไหนก็ตาม หรือเราจะทำเป็นแบบ Open Application (คือยังไม่ระบุ College) สุดท้ายแต่ละ College จะพูดคุยระหว่างกันเพื่อคัดเลือกเราให้ไปอยู่ใน College ที่เหมาะสมที่สุด แน่นอนว่าถ้าเราเลือก College ที่เราอยากได้ แล้วเราเหมาะสมกับ College นั้นเราก็จะได้ College นั้น แต่ถ้าเราเหมาะกับ College อื่นมากกว่า เราก็จะถูกส่งไปในที่ที่เหมาะสมกับเราที่สุดครับ Cambridge เขาใส่ใจในเรื่องนี้มาก ๆ ครับ

การคัดเลือกนักเรียนด้วยขั้นตอนมหาโหดนี่แหละ ที่ทำให้ Cambridge ยิ่งน่าเรียน

หลาย ๆ คนคงได้ยินมาแล้วว่าการจะเข้า Cambridge ได้นั้น ยากระดับมหาโหด ไม่ว่าจะเป็น

  • เกรด IGCSE และ A-level ที่ต้องได้ A* จำนวนมากหรือเผลอ ๆ คือเกือบทุกตัว แถมยังดูไปถึงระดับคะแนนที่ได้ (ไม่ได้ดูแค่เกรด)
  • Personal Statement และ Reference ที่ Strong สุด ๆ และแสดงว่า Born to be สุด ๆ
  • ข้อสอบ Admissions Tests ที่วัด skills ในด้านที่จะสมัครเรียน ที่ต้องทำให้คะแนนสูง ๆ ในขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ทำไม่ค่อยได้
  • การ Interview เพื่อค้นความ Born to be ของผู้สมัคร ด้วยการให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่างกันแบบสด ๆ

บางคนที่รู้ว่าขั้นตอนเป็นแบบนี้ก็จะรู้สึกท้อ แต่อยากจะให้มองในมุมนี้ครับว่า ระบบการคัดเลือกที่ว่านี้ เขาคิดมาแล้วว่ามันต้องยากระดับนี้ถึงจะเหมาะสม ด้วยเหตุผล 2 ข้อ

  • ข้อแรก เขาจะได้มั่นใจได้ว่าคนที่เขารับเข้ามาเรียน จะได้เรียนในสิ่งที่ Born to be จริง ๆ และจะเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมของความเป็น Cambridge ได้จริง ๆ เพราะฉะนั้น คนที่สนใจ Cambridge ไม่ต้องกลัวครับว่า Cambridge จะเรียนยากจนเรียนไม่ไหว เอาเป็นว่าถ้าผ่านการคัดเลือกเข้าไปได้ แปลว่าเขามั่นใจแล้วว่าโอกาสรอดของเรานั้นสูงมาก ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา Cambridge ติดระดับ Top 10 มหาวิทยาลัยที่มีนักเรียน drop out (เรียนไม่จบ) น้อยที่สุด คือแค่ประมาณ 1-2% เท่านั้น
  • ข้อสอง ถ้าเราผ่านระบบอันยากแสนยากนี้เข้าไปได้ คนอื่น ๆ ที่ผ่านเข้าไปได้ ก็คือคนแบบเดียวกับเรา เก่งระดับเดียวกัน Born to be เรื่องเดียวกัน วิธีคิดคล้าย ๆ กัน ความมุ่งมั่นไม่ต่างกัน นั่นแปลว่า Cambridge ได้ทำการคัดกรองคนก่อนที่จะเข้ามาเรียน ให้เข้ามาแล้วเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่กันและกัน เป็น connection ระดับโลกที่สามารถช่วยเหลือกันได้ในวันข้างหน้าด้วยการไปลงมือทำสิ่งดี ๆ ที่รักที่ชอบด้วยกัน

เพราะฉะนั้น นั่นคือเหตุผลแหละครับ ว่าทำไมการที่ Cambridge เข้ายาก ให้โอกาสคนน้อย จึงเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ Cambridge น่าเรียนยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม มหาวิทยาลัยที่คัดง่าย ๆ รับง่าย ๆ นั้น เราไม่มีวันรู้เลยว่า เราเข้าไปแล้วเราจะรอดไหม หรือเข้าไปแล้วจะไปเจอเพื่อนแบบไหน สังคมแบบไหน เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะคัดกรองคนที่เข้าไปเรียนอย่างแท้จริงเลย

จากทั้งหมดที่เล่ามา นั่นคือเหตุผลว่าทำไม Cambridge ถึงน่าเรียน อ่านแล้วก็ลองพิจารณาดูนะครับ เริ่มจากค้นคว้าก่อนว่าสาขาวิชาที่เราอยากเรียนมีให้เรียนที่ Cambridge ไหม แล้วเมื่ออ่าน course syllabus ของสาขาวิชานั้นในเว็บไซต์ของ Cambridge แล้วมันน่าเรียนไหม ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ลุยให้เต็มที่เพื่อเข้าให้ได้กันเลยครับ

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเตรียมตัวเข้า Cambridge ต้องเตรียมอะไร เมื่อไร อย่างไรบ้าง สอบถามเข้ามาได้นะครับ