ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

ถ้าอยากจะไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น นอกเหนือจากภาษาและวัฒนธรรมแล้ว สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ และศึกษาให้ดีก่อนไปเรียนก็คือหลักสูตรที่ใช้ในการเรียน ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่ นักเรียนไทยจะนิยมไปเรียนในระดับอุดมศึกษามากที่สุดก็ตาม แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับโครงสร้างของหลักสูตรในโรงเรียนกันก่อนว่าก่อนที่นักศึกษาญี่ปุ่นจะมาเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา พวกเขาทำอะไรมาบ้าง เรียนกันมาแบบไหน ทำไมสังคมญี่ปุ่นมีความเข้มงวดและระเบียบวินัยมาก เรามารู้เรื่องหลักสูตรเพื่อให้เข้าใจ ‘ญี่ปุ่น’ มากขึ้นกันค่ะ

หลักสูตรการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร?

หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้หลักสูตรการศึกษาที่รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงแรกหลังจากจบสงคราม แต่ถึงแม้ว่าจะใช้หลักสูตรการศึกษาที่รับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ญี่ปุ่นก็ไม่ได้เลียนแบบ 100% เนื่องจากบริบททางสังคมญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกามีความแตกต่างกันมาก ญี่ปุ่นหลังจบสงครามต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนั้นเป็นรองแค่ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจในตอนนั้น ประเทศญี่ปุ่นตระหนักได้ว่าประเทศจะเจริญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนผลิตบุคลคลแบบไหน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงวางมาตรฐานของหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ด้วยเหตุนี้ นักเรียนญี่ปุ่นจะถูกสอนให้ ‘เชื่อฟัง ทำงานหนัก และพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยมากกว่าประเทศในแถบยุโรป’ นักเรียนจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ หรือแม้แต่ยกมือเพื่อตั้งคำถามได้อย่างเสรีได้เท่ากับในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชอบความอิสระเสรี นักเรียนจะถูกสอนให้เชื่อฟังพ่อแม่และคุณครูโดยสนิทใจ แบบที่ไม่ตั้งคำถามอะไร ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติตามกกฎหมายอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุนี้เอง เราจะพบว่าคนญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีระเบียบวินัยสูงมาก และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เรามาดูกันต่อว่าคนญี่ปุ่นเขาเรียนกันอย่างไร?

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นถูกนับเป็น  ‘6-3-3-4’ 

6 ปีในระดับประถมศึกษา (小学 Shōgaku)

3 ปีในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (中学 Chūgaku)

3 ปีในระดับมัยมศึกษาตอนปลาย (高校 Kōkō)

4 ปีในระดับอุดมศึกษา (大学 Daigaku)

รูปภาพแสดงหลักสูตรการศึกษาประเทศญี่ปุ่น

ยังไม่รวมระดับอนุบาลและเตรียมอนุบาลก่อนเข้าเรียนด้วย และประชาการทุกคนในประเทศญี่ปุ่นจะต้องได้เรียนการศึกษาภาคบังคับจำนวน 9 ปี ตั้งแต่ 6 ขวบจนถึงอายุ 15 ปี ถึงแม้ว่าในระดับมัธยมปลายจะไม่ได้บังคับ แต่ถ้าต้องการเรียนต่อในดับอุดมศึกษา ก็ต้องเรียนให้จบระดับมัธยมปลาย เพราะมหาวิทยาลัยจำกัดให้คนที่สามารถสมัครได้จบการศึกษาในระดับมัธยมปลายเท่านั้น แต่ถ้าจบการศึกษาในระดับมัธยมต้น และมีวิชาชีพที่ชัดเจนแล้ว และอยากจะเรียนเพื่อเน้นการฝึกฝนพัฒนาด้านวิชาชีพเป็นหลัก ก็สามารถเรียนต่อได้ในสถาบันเทคโนโลยี (高専 Kōsen) โดยหลักสูตรของ Kōsen จะมีตั้งแต่ 4 ถึง 5 ปีขึ้นอยู่กับสถาบันนั้น ๆ แต่นอกเหนือจากการเรียนด้านวิชาการแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญต่อการศึกษา Moral Education อีกด้วย และเป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเพราะมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น

Moral Education มีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น?

Moral Education หรือจริยศึกษาเป็นบทเรียนที่มีความสำคัญมากในระบบการศึกษาประเทศญี่ปุ่น ผู้ที่ออกแบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าเด็กจำเป็นต้องศึกษาจริยศึกษาเพื่อลดความวุ่นวายในโรงเรียน รวมถึงความวุ่นวายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคม เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ จะต้องได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องวินัยตั้งแต่เด็ก และผู้ปกครองมีหน้าที่ที่จะพัฒนาศักยภาพด้านอารมณ์ คุณธรรมจริยธรรมของลูกตัวเองตั้งแต่ที่บ้าน และไม่ให้ปกป้องหรือดูแลลูกของตัวเองจนเกินไปเพื่อที่เขาจะได้อยู่ด้วยตัวเองได้ การศึกษาของประเทศญี่ปุ่นไม่เพียงแต่เน้นในด้านวิชาการ แต่ผู้เรียนจะต้องได้พัฒนาตัวตนด้านอารมณ์ คุณธรรมจริยธรรมของตัวเองด้วย แต่เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงมองว่าความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมจริยธรรม เรามีความจำเป็นต้องเข้าใจก่อนว่า Confucianism หรือลัทธิขงจื๊อ มีอิทธิพลอย่างไรต่อสังคมญี่ปุ่นและได้ช่วยหล่อหลอมระบบการศึกษาของญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง?

Confucianism ส่งผลให้คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยอย่างไร?

Confucianism หรือลัทธิขงจื๊อ เป็นระบบด้านจริยธรรมและปรัชญาของจีน ซึ่งพัฒนาจากการสอนของขงจื๊อ (551 – 479 ปีก่อน ค.ศ.) ลัทธิขงจื๊อได้ถูกแพร่เข้าไปในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาททางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอย่างสำคัญที่สุดในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) ญี่ปุ่นจึงได้นำระบบเหล่านั้นเข้ามาผสมผสานร่วมกับอัตลักษณ์ของตัวเอง บทเรียนที่ใช้ในการสอนจะเน้นไปที่ด้านคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลัก เน้นให้เกิดความสงบในสังคม โดยที่มีชุดความคิดว่า ‘เด็ก ๆ จะต้องอุทิศตนให้กับบุพการีของตนเอง และเคารพบุคคลที่มีอายุสูงกว่า จะเป็น ‘คนดี’ ได้ก็เพราะรู้หน้าที่ตัวเอง เชื่อฟังพ่อแม่ มีความรับผิดชอบ เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ทุกอย่าง เรียนให้หนัก และเด็ก ๆ จะต้องไม่รู้สึกเหนื่อยล้าที่จะได้เรียนรู้ มากไปกว่านั้นลัทธิขงจื๊อยังสอนให้เชื่อฟัง เคารพและมีความกตัญญูบุคคลคนที่ดูแลตัวเอง เด็ก ๆ จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีอิสระของตนเอง เพราะจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในอนาคตได้ เป็นต้น’

คนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยและเคร่งครัดกฎระเบียบวินัยต่าง ๆ นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกสอนเพียงแค่ข้ามคืน หากแต่มีการปลูกฝังกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เพราะฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น เราจำเป็นที่จะต้องคิดแบบคนญี่ปุ่น แล้วเราจะเข้าใจสังคม ‘ญี่ปุ่น’ มากขึ้นได้