เคยเป็นกันบ้างไหมคะ? ที่พอเรียนอะไรแล้วก็ว่าเข้าใจแล้วและก็จำได้แล้วเพราะทบทวนอย่างดี แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มจำไม่ได้ว่าที่ทบทวนไปมีอะไรบ้าง? อย่างน้อง ๆ ที่เรียน IGCSE อยู่ตอนนี้ต้องเรียน 9 ถึง 11 วิชา หรือน้อง ๆ ที่เรียน A-Level อยู่ก็เรียน 3 ถึง 4 วิชาเช่นกัน จะทำอย่างไรให้จำได้ทั้งหมดทุกวิชาและทำข้อสอบได้ดีด้วย ช่วงนี้นับเวลาถอยหลังสอบกันแล้ว เพื่อให้ความรู้ที่มีอยู่ถูกนำกลับมารื้อฟื้นอีกครั้ง เราจะมาแนะนำ 7 เทคนิคกู้คืนความจำด้วย ‘Retrieval Practice’ ค่ะ โดยเทคนิคนี้ทาง OIC หรือ Oxford International College ได้นำไปใช้กับนักเรียนของตัวเอง จนทำให้ผลสอบทั้ง IGCSE และ A-Level ดีมาตลอด แล้วเทคนิคกู้คืนความจำด้วย ‘Retrieval Practice’ คืออะไร? และจะมีวิธีไหนให้ทำตามได้บ้าง? ไปดูกันเลยค่ะว่า

Retrieval Practice คืออะไร?

ก่อนอื่น จะขอให้คำนิยามกับทั้ง 2 คำนี้ก่อนนะคะ โดยคำว่า ‘Retrieval’ แปลว่ากระบวนการในการดึงข้อมูลกลับคืนมา ส่วนคำว่า ‘Practice’ แปลว่าการฝึกฝน เพราะฉะนั้นเมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันก็จะมีความหมายว่า ‘การฝึกฝนที่จะช่วยกู้คืนข้อมูลที่หล่นหายไป หรือลืมไปแล้วกลับคืนมา’ นั่นเองค่ะ โดยปกติแล้วถ้าเราอ่านหนังสือหรือเรียนในห้องเรียน ถ้าเราไม่ได้นำมาทบทวนอยู่เสมอ ก็จะลืมไปในที่สุด เพราะสมองของเราชอบความสดใหม่อยู่เสมอ ถ้าเมื่อใดที่ไม่ถูกนำมาใช้งานก็จะกลายเป็นขยะ เพราะฉะนั้นการนำข้อมูลมาใช้งานอยู่เรื่อย ๆ ก็จะทำให้จำได้ระยะยาวเลยค่ะ

โดยวิธีที่จะช่วยให้เรานำความรู้ออกมาบ่อย ๆ ไม่ใช่การอ่านหนังสือทั้งเล่มอีกครั้ง หรือไปหาข้อมูลใน Google ใหม่ ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้เรียนคำศัพท์หลายคำมาก เราจะทำอย่างไรเพื่อให้จำคำศัพท์นี้ได้ทั้งหมดโดยไม่เปิดหนังสือดู หรือหาคำศัพท์จากข้างนอก ขั้นตอนเหล่านี้เราเรียกว่า ‘Retrieval Practice’ ซึ่งข้อดีของการฝึกตัวเองแบบนี้ มีผลงานวิจัยออกมาแล้วว่าจะช่วยให้เรามี Long-term memory ที่ไม่ว่าจะต้องอ่านอีกเยอะแค่ไหน หรือต้องศึกษาอะไรเพิ่ม เราก็จะสามารถจำข้อมูลเหล่านี้ได้ เพราะเราออกกำลังกายให้สมองเสมอค่ะ

Retrieval Practice มีวิธีไหนบ้าง? และฝึกฝนได้อย่างไร?

ที่จริงแล้ว Retrieval Practice มีหลายวิธีที่ทำตามได้ แต่วันนี้จะมาแนะนำ 7 เทคนิคที่จะช่วยให้ความจำอยู่กับเราไปนาน ๆ และที่มากไปกว่านั้นยังสามารถสนุกกับกิจกรรมที่หลากหลายได้ด้วยค่ะ

วิธีที่ 1: Low-Stakes Quizzes ทำควิซเล็ก ๆ ทบทวน

อย่างที่บอกไปแล้วว่าถ้าเราอ่านแล้วไม่ได้ทบทวนเสมอ เราก็จะลืมไปในที่สุด เพราะสมองของเรารับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เสมอ และเมื่อใดก็ตามที่ความรู้ชุดนั้นไม่ได้ถูกใช้งานบ่อย ๆ ก็จะกลายไปเป็นขยะในที่สุด วิธีที่ง่ายที่สุดและไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลยก็คือการทำ ‘Low-Stakes Quizzes’ ซึ่งคำว่า Low-Stakes มีความหมายง่าย ๆ ว่าการเดิมพันที่ต่ำ นั้นหมายความว่าให้เราไม่กดดันกับผลลัพธ์เมื่อเราตอบผิด และถ้าตอบถูกก็จะยิ่งช่วยเพิ่มกำลังใจด้วย พยายามคิดคำถามยิบย่อยเพื่อเตือนความจำเสมอ เช่น หากเรียนเกี่ยวกับส่วนประกอบของร่างกาย ก็พยายามนึกว่าส่วนนี้เรียกว่าอะไร ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เรารื้อฟื้นความจำได้ดีมากค่ะ

วิธีที่ 2: Brain Dumps คือ จัดระเบียบความคิด

เป็นเรื่องปกติมากที่สมองของเราจะมีเนื้อหาเยอะแยะไปหมด ถ้าเราปล่อยให้สมองเรารกอยู่แบบนั้นไม่นานก็จะรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่ ให้เราจัดระเบียบความคิดของเราที่มีอยู่แล้วให้เป็นระบบก่อนค่ะ เรียกว่า ‘Brain Dumps’ ให้ปิดหนังสือและให้เวลาตัวเองสัก 5 นาทีในการเขียนในสิ่งที่หัวเราคิดออกมาเป็นตัวอักษร ไม่ต้องสวยงามก็ได้แต่ให้ไล่เรียงออกมาให้มากที่สุด ก็จะทำให้สมองมีการจัดลำดับความสำคัญ

วิธีที่ 3: Flashcard บัตรคำ

การใช้ Flashcard ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือให้เราเขียนหัวเรื่องที่เรียนมาไว้ด้านหลังของบัตรคำ และให้พยายามนึกให้ได้ว่าหัวข้อนั้นพูดถึงเรื่องอะไร และถ้าเป็นไปได้ก็ให้จดเอาไว้ลงกระดาษก็ได้ หรือลองเล่นกับเพื่อน ๆ

วิธีที่ 4: Hexagonal Thinking การคิดแบบเชื่อมโยง

วิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถเชื่อมโยงความรู้ได้ดีมากขึ้น เพราะไม่ได้จำข้อมูลอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ถ้าวันนี้เรียนเรื่องสงครามเย็นมา เราก็จะมีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องจำใช่ไหมคะ เราต้องมานั่งลิสต์ว่ามีเหตุการณ์อะไรสำคัญบ้าง ให้พยายามจัดเรียงความคิดออกมาเป็นตัวอักษรให้ได้มากที่สุด และหลังจากนั้นลองมาเชื่อมโยงความสำคัญของแต่ละสถานการณ์ดูค่ะ ก็จะช่วยให้เราหยิบจับความรู้มาใช้อยู่เสมอ

วิธีที่ 5: Concept Maps การเขียนแผนที่มโนทัศน์

ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนรู้ได้ดีผ่านการฟังและการอ่าน เพราะฉะนั้นการเขียนแผนที่มโนทัศน์จะช่วยกระตุ้นให้เรานำความรู้ออกมาผ่านการลงมือทำค่ะ วิธีนี้จะช่วยได้มากสำหรับคนที่อ่านเท่าไรก็จำไม่ได้ ฟังเท่าไรก็จำไม่ได้ ให้ลองเขียนออกมาค่ะ แต่ไม่ใช่เขียนแบบไม่มีทิศทางนะคะ วิธีนี้คือเขียนเป็น Concept ที่สำคัญ เช่นคำถามว่า ‘เกิดขึ้นได้อย่างไร?’ แบบนี้ก็จะช่วยได้มากค่ะ

วิธีที่ 6: Jigsaw Method การเรียนรู้แบบจิ๊กซอว์

วิธีนี้คือการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ โดยในแต่ละกลุ่มก็จะมีชุดความรู้ที่ตัวเองต้องศึกษาเพิ่ม เมื่อกลุ่มตัวเองมีความรู้อย่างดีแล้ว ก็จะนำมาคุยกับเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ อาจจะมีคำถามหรือควิซเพื่อถามกลุ่มที่ต่างออกไป วิธีนี้ก็จะช่วยให้เด็กมีการตั้งคำถาม ตอบคำถาม ยิ่งทำให้แม่นยำในเนื้อหามากขึ้นค่ะ

วิธีที่ 7: Think, Pair, Share คิด, จับคู่, แบ่งปัน

วิธีนี้คือการนำหลายวิธีมารวมกัน ผ่านการคิด คิดว่าข้อมูลที่ได้มาต้องนำมาจัดการอย่างไรต่อ นำไปเขียน นำไปทำบัตรคำ หรือตั้งคำถามให้กับตัวเอง เมื่อแม่นยำในข้อมูลแล้ว ลองจับคู่กับคู่กับเพื่อนและลองใช้วิธีที่หลากหลายในการตรวจสอบความจำ วิธีนี้จะได้แบ่งปัน ได้ผลัดกันพูดในสิ่งที่รู้มา ก็จะช่วยให้มีความจำที่ยาวนานมากขึ้นค่ะ

ใครที่ตอนนี้กำลังตั้งใจอ่านหนังสืออย่างหนัก ลองนำเทคนิคของ Retrieval Practice ไปใช้กันได้นะคะ เพราะบางครั้งแค่อ่านหนังสืออย่างเดียวอาจไม่ทำให้การเรียน หรือการจำมีประสิทธิภาพเท่าที่เราต้องการ ลองหากิจกรรมสนุก ๆ มาช่วยให้สมองเราได้ออกกำลังกาย ก็จะทำให้เรามี Long-term memory ค่ะ