IB หรือ International Baccalaureate เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะดูมีความครบเครื่องทั้งในแง่ของวิชาความรู้ และ ทักษะ รวมถึงวิธีคิดต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับอนาคต ยิ่งในปัจจุบันนี้มีโรงเรียนอินเตอร์ที่เปิดสอนหลักสูตร IB เกิดขึ้นมากมาย หรือโรงเรียนที่ไม่เคยใช้หลักสูตร IB มาก่อน ก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้หลักสูตร IB กันมากขึ้น ก็เลยยิ่งทำให้ในแวดวงของผู้ปกครองเกิดความสนใจและตื่นตัวในหลักสูตร IB กันเป็นอย่างมาก

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักสูตร IB อยู่อีกมาก ซึ่งความเข้าใจผิดนี้สามารถส่งผลเสียร้ายแรงต่อเด็ก ๆ ได้มากเลยทีเดียว หากตัดสินใจให้ลูกไปเรียนในโรงเรียนหลักสูตร IB โดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาดูกันครับว่า 3 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับหลักสูตร IB นั้นมีอะไรกันบ้าง (จริง ๆ ความเข้าใจผิดมีหลายข้อมากกว่านี้ แต่วันนี้เอา 3 ข้อก่อนครับ)

ความเข้าใจผิดแรก : หลักสูตร IB เหมาะกับเด็กที่ยังหาตัวเองไม่เจอ

เนื่องจากหลักสูตร IB ในช่วง 2 ปีสุดท้ายคือระดับ IB Diploma นั้น ให้เด็ก ๆ เลือกเรียนได้ถึง 6 วิชา และมีความครอบคลุมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น Science, Social Science, Mathematics, Languages, Creativity ไม่เหมือน A-level ที่ปกติเด็ก ๆ จะเลือกเรียนได้เพียง 3 – 4 วิชา และเขามักจะเลือกวิชาเรียนให้เฉพาะด้านและตรงกับสิ่งที่จะเรียนต่อในอนาคตไปเลย จึงทำให้หลักสูตร IB ถูกมองว่า เหมาะกับเด็ก ๆ ที่ยังฟันธงไม่ได้ ยังตัดสินใจไม่ได้ ยังหาตัวเองไม่เจอ ก็จะสามารถแทงกั๊กเลือกวิชาเรียนให้หลากหลายได้ ไม่เหมือนกับ A-level ที่เหมาะกับเด็กที่หาตัวเองเจอแล้วเพราะต้องเจาะจงเลือกเฉพาะวิชาที่ใช่ไปเลย

ตรงนี้ผิดครับ !

หลักสูตร IB ไม่ได้เหมาะกับเด็กที่หาตัวเองไม่เจอครับ ลองคิดดูดี ๆ นะครับ ใน 6 วิชาของ IB Diploma นั้น เด็กต้องเลือกเรียน 3-4 วิชาเป็น Higher Level คือเรียนเป็นวิชาระดับยาก ระดับลึก แล้ววิชาที่เหลือค่อยเป็น Standard Level คือเรียนเป็นความรู้ที่ไม่ลึกมาก ตรงนี้ความยาก ความลึกของ Higher Level นั้น แทบไม่ต่างอะไรกับ A-level เลย นั่นหมายความว่าต่อให้เป็นหลักสูตร IB เด็ก ๆ ก็ต้องเลือกไปแล้วว่า ตัวเองจะเอนเอียงเป็นเฉพาะทางไปในด้านไหน ครั้นจะบอกว่าเลือกให้คลุม ๆ ไป มันเป็นไปไม่ได้ครับ เพราะวิชาที่เลือกเป็น Standard Level มันไม่เพียงพอต่อการเอาไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเลย จะมาเปลี่ยนสายที่จะเรียนทีหลังโดยเอาวิชาที่เรียนใน Standard Level ขึ้นมานั้น ก็เป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น การหาตัวเองไม่เจอแล้วจึงเลือกเรียนหลักสูตร IB นั้นผิดครับ ที่ถูกคือ ถ้าหาตัวเองไม่เจอ ก็ต้องหาให้เจอให้ได้ จะอ่านหนังสือเพิ่ม จะไปฝึกงาน จะลงเรียนฝึกทักษะอะไร จะทำ Career Test ก็ขอให้ทำสักอย่างเพื่อให้หาให้เจอครับ

ความเข้าใจผิดที่สอง : โรงเรียนไหนสอน IB ถือว่าเป็นโรงเรียนที่ดีทั้งหมด เพราะตัวหลักสูตรมันดีอยู่แล้ว

บางคนเลือกโรงเรียนเรียนให้ลูก โดยดูจากแค่ว่ามีคำว่า IB School หรือไม่ อารมณ์คล้าย ๆ กับบางบ้านที่ชอบระบบอังกฤษมาก ๆ พอเห็นคำว่า Cambridge School ก็ตัดสินใจวางมัดจำสมัครให้ลูกเลย เพราะมีความเชื่อว่า IB School ก็แปลว่าได้รับมาตรฐานของ IB แล้ว เป็นโรงเรียนหลักสูตร IB ที่สามารถไว้วางใจได้ในทันที

ตรงนี้ผิดครับ !

เราเคยเจอเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า IB School ที่สอนหลักสูตร IB ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนเข้าใจ IB และใช้ IB ได้อย่างถูกต้อง ซ้ำร้ายยังทำร้ายเด็ก ๆ ได้อย่างรุนแรงมาก ๆ เช่น ตัวอย่างหนึ่งที่เราเคยเจอก็คือ โรงเรียนประเมินว่าเด็กคนหนึ่งไม่น่าจะสามารถเรียน IB Diploma 6 วิชาไหว จึงเดินไปบอกเด็กว่า drop วิชาภาษาไทยทิ้งไหม อย่างน้อยเหลือ 5 วิชาก็น่าจะเรียนสบายขึ้น โดยที่ไม่ได้บอกเด็กว่า การเรียนแค่ 5 วิชาจะทำให้ไม่ได้ IB Diploma และเมื่อไม่ได้ IB Diploma ก็แปลว่าแทบจะเอาไปสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ไหนไม่ได้เลย

หรืออีกกรณีหนึ่ง คือไปสอนเด็ก ๆ ว่า TOK (Theory of Knowledge) และ EE (Extended Essay) ของหลักสูตร IB นั้น ตั้งใจทำไปก็ไม่ได้คะแนนหรอก เพราะเอาคะแนนยาก ให้ทำส่ง ๆ ทิ้ง ๆ ไปเลย ซึ่งถือว่าเป็น mindset ของความเป็นครูที่แย่มาก ๆ จริง ๆ แล้ว TOK นั้นฝึกทักษะเด็กในเรื่องของการคิดแบบมีเหตุมีผล ในขณะที่ EE นั้นจะทำให้เด็กมีทักษะในการค้นคว้าทำงานวิจัยเป็นตั้งแต่ยังอยู่ในระดับ High School ซึ่ง 2 ทักษะนี้มีความสำคัญมาก ๆ สำหรับการเรียนต่อไปในวันข้างหน้า การไปสอนเด็กว่า TOK และ EE เป็นภาระและไม่สำคัญนั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหลักสูตร แสดงถึงความคุณภาพต่ำของครู และแสดงถึงความคุณภาพต่ำของโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น ขึ้นชื่อว่า IB School แล้วก็ใช่ว่าจะสามารถสอนหลักสูตร IB ได้อย่างมีคุณภาพและถูกต้องเสมอไป ผู้ปกครองต้องตรวจสอบโรงเรียนให้ดีครับว่าเป็น IB School ที่ได้มาตรฐานจริงหรือไม่

ความเข้าใจผิดที่สาม : หลักสูตร IB เท่านั้น ที่ทำให้เด็ก ๆ ไปเรียนต่อได้หลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศอื่น ๆ

หลักสูตร IB ขึ้นชื่อเรื่องความครบเครื่อง วิชาที่เรียนหลากหลาย มีทั้งวิชาที่เรียนลึกคือ Higher Level และวิชาที่เรียนระดับความรู้ทั่วไปอย่าง Standard Level แถมยังมีตัวฝึกทักษะอย่าง TOK, EE และ CAS ทำให้ถูกมองว่าน่าจะเป็นหลักสูตรเพียงหลักสูตรเดียวบนโลกที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ในหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น

ตรงนี้ผิดครับ !

ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีแค่หลักสูตร IB เท่านั้น ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หลักสูตร A-level หลักสูตร Cambridge Pre-U หรือหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมายก็เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะไปเข้ามามหาวิทยาลัยที่อเมริกา ปัจจุบันนี้เด็กที่จบมาจากหลักสูตร IB กับเด็กที่จบมาจากหลักสูตร A-level ถือว่ามีค่าเท่ากัน ด้วยความที่มหาวิทยาลัยที่อเมริกามองว่าทั้ง 2 หลักสูตรนั้นมีความท้าทายในระดับเดียวกัน และไม่ว่าจะมาจากหลักสูตรไหน ก็ต้องทำอย่างอื่นอย่างเท่าเทียมกันอยู่ดี เช่น การสอบ SAT, SAT II การเขียน Application Essays เป็นต้น

ตรงนี้สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยท็อป ๆ ทั่วโลกครับ ในส่วนของ Entry Requirements หรือเกณฑ์การรับเข้า จะเห็นว่าเขาจะไม่ได้พูดถึงแค่ว่าถ้าเป็น IB ต้องได้เกรดเท่าไร แต่เขามักจะพูดถึงหลักสูตรอื่น ๆ ที่เทียบเท่าอย่าง A-level ด้วย เพราะฉะนั้น หากคิดว่าจะเพิ่มโอกาสในการไปหลากหลายประเทศแล้วมาเลือกเรียนหลักสูตร IB นั่นคือเหตุผลที่ผิดครับ เราจะเลือกหลักสูตรไหน เราก็ต้องกลับไปดูว่า Philosophy ของหลักสูตรเป็นอย่างไร เราเหมาะกับหลักสูตรนี้หรือไม่ สุดท้ายแล้วถ้าเราเหมาะกับหลักสูตร IB มากกว่าเราก็เลือก IB แต่ถ้าเราเหมาะกับ A-level มากกว่า เราก็เลือก A-level ครับ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะไปเรียนต่อประเทศไหนเลย

จะเลือกหลักสูตรอะไร ต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เด็ก ๆ ก็จะได้ประโยชน์จากการเรียนได้อย่างเต็มที่ และป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับอนาคตของเด็ก ๆ ได้ด้วยครับ