หนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับการเลือกวิชาในระดับ IGCSE ก็คือ ระหว่าง Business Studies กับ Economics ควรเลือกเรียนวิชาอะไรดี เพราะโรงเรียนส่วนใหญ่จะให้เลือกแค่วิชาเดียวเท่านั้น ซึ่งเหตุผลที่เป็นที่นิยมที่สุดในการตัดสินใจว่าจะเลือกอะไรดีก็คือ ความง่าย นั่นก็คือวิชาไหนง่ายกว่าก็จะเลือกวิชานั้น จะได้ทำเกรดได้ดี ๆ

และเพราะเหตุใดก็ไม่รู้ นักเรียนชอบมาเล่าให้ฟังว่า รุ่นพี่ที่โรงเรียนมักจะพูดกันเสมอ ๆ ว่า Economics ยากกว่า Business Studies ถ้าอยากได้เกรดดี ๆ อย่าเลือก Economics ให้เลือก Business Studies ดีกว่า และจริง ๆ ไม่ใช่แค่นักเรียน ในแวดวงของผู้ปกครองเองก็ชอบไปคุยต่อ ๆ กันมาว่า Business Studies นั้นง่ายกว่า Economics มาก ๆ

มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ? Business Studies ง่ายกว่า Economics จริงหรือไม่ในระดับ IGCSE? และนั่นคือเหตุผลที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ในการเลือกวิชาเรียน ? วันนี้เรามาหาคำตอบกันครับ

วิชาไหนมีนักเรียนได้ A* เยอะกว่า ?

ความง่าย ความยากนั้น วัดกันแบบพื้น ๆ ที่สุดคืออาจดูได้จากเกรด วิชาไหนมีคนทำ A* ได้เยอะกว่า วิชานั้นก็น่าจะง่ายกว่า (เดี๋ยวเราจะมาดูกันภายหลังว่านี่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ขอให้คิดแบบนี้ไปก่อน) เราก็เลยลองไปหาข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Cambridge Assessment International Education (CAIE หรือชื่อเดิมคือ CIE) ดูก็เลยพบสถิติย้อนหลังเกี่ยวกับจำนวน A*, A, B, C และเกรดต่าง ๆ ที่ผู้เข้าสอบได้ในแต่ละวิชาจากการสอบในแต่ละรอบ และสำหรับรอบ May/June 2018 นี่คือสิ่งที่เราได้พบครับ

Business StudiesEconomics
A* %8.616.8
A* – A %26.839.6
A* – B %49.859.9
A* – C %71.876.5

ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าเทียบโดย Percentage แล้ว สัดส่วนของผู้เข้าสอบที่ได้ A* ในวิชา Economics นั้นมากกว่าในวิชา Business Studies และไม่ใช่แค่ A* เท่านั้น ในส่วนของการได้ A ขึ้นไป (A*-A) การได้ B ขึ้นไป (A*-B) และการสอบผ่าน (A*-C) นั้น สัดส่วนของ Economics ก็มากกว่าเช่นกัน

ตรงนี้เป็นการบอกว่า ถ้าเรายึดว่าการมีคนสอบได้ A* มากกว่าแปลว่าวิชานั้นง่ายกว่า จากหลักฐานก็แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจริง ๆ แล้ววิชา Business Studies ไม่ได้ง่ายกว่าวิชา Economics เลยเพราะมีสัดส่วนคนทำเกรดสูง ๆ ในวิชา Economics ได้มากกว่าเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี เรายกข้อมูลจากการสอบแค่รอบเดียวมาให้ผู้อ่านได้ดูกัน ถ้าสนใจจะดูของรอบอื่น ๆ เพิ่มก็ลองไปค้นแล้วเอามาเปรียบเทียบเล่น ๆ สนุก ๆ ดูนะครับ search ไม่ยากครับ

พอเห็นแบบนี้ บางคนอ่านคิดว่า งั้นแบบนี้ก็แปลว่า Economics เป็นวิชาที่ง่ายกว่า งั้นไม่เรียน Business Studies แล้ว หันไปเรียน Economics กันดีกว่า ถ้าคิดแบบนั้นก็ขอให้ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ ลองอ่านต่อไปก่อน แล้วจะพบความจริงบางอย่าง

แม้จะมีคนได้ A* มากกว่า ก็ไม่ได้แปลว่าง่ายกว่า

ถ้าเราพูดถึงการเล่นดนตรี บางคนเล่นกีตาร์เก่งมาก แต่ตีกลองไม่ได้ บางคนตีกลองได้ แต่เล่นเปียโนไม่เป็น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ แน่นอนว่าเราอาจเคยเห็นนักดนตรีบางคนที่เล่นได้ทุกอย่างราวกับว่ามันง่ายไปเสียทุกอย่าง แต่ถ้าพูดถึงกรณีทั่ว ๆ นักดนตรีเหล่านี้ก็จะมีเครื่องดนตรีที่ตัวเองถนัดที่สุดและถือว่าเล่นง่ายที่สุดอยู่

เรื่องของการเรียนก็เช่นกันครับ วิชา Business Studies นั้นจะง่ายสำหรับนักเรียนกลุ่มหนึ่ง แต่อาจจะยากสำหรับนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่ง วิชา Economics เองก็เช่นกัน มันเลยกลายเป็นว่าคำว่ายากหรือง่ายนั้น ไม่ได้ขึ้นกับตัววิชาเป็นหลักแล้ว แต่ขึ้นกับตัวผู้เรียนมากกว่าว่ามีทักษะที่เหมาะสมกับวิชาไหน และ มีความสนใจแนวคิดของวิชาไหนมากกว่า อ่านมาถึงตรงนี้ ถามว่าเคยทราบไหมว่า 2 วิชานี้จริง ๆ แล้วเรียนเกี่ยวกับอะไร หรือที่ผ่านมาก็แค่ได้ยินมาว่าอะไรง่ายกว่า ยากกว่า จากคำพูดของคนอื่นเท่านั้น

Business Studies คือเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ให้คิดเสียว่าถ้าวันหนึ่งเราต้องมีธุรกิจ มีกิจการของตัวเอง มันจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของอะไรบ้าง มันก็จะเกี่ยวกับเรื่องของการขายของ การทำการตลาด การผลิต การจ้างคน การเงินของบริษัท การลงทุนขยายกิจการ การโฆษณา การออก promotion ใหม่ ๆ หรืออะไรต่าง ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจเจริญเติบโต ไปรอด และเป็นประโยชน์กับสังคม

Economics คือเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ผลกระทบต่อสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น ถ้าผลิตสินค้าได้มากขึ้น จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประเทศนี้ออกนโยบายแบบนี้ จะส่งผลกระทบในด้านไหนต่อประเทศไหนบ้าง ถ้าค่าเงินสกุลนี้แข็งขึ้นจะเป็นอย่างไร ถ้าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเป็นแนวนี้ ต้องมีการปรับตัวต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

อ่านคร่าว ๆ แค่นี้ พอรู้ไหมครับ ว่าจริง ๆ แล้ววิชาไหนจะง่ายสำหรับเรามากกว่า ถ้ายังไม่รู้ลองหาข้อมูลเพิ่มดูนะครับ หรือเข้ามาคุยกันก็ได้ครับ

เพราะฉะนั้น การที่มีคนได้ A* ในวิชา Economics เป็นสัดส่วนที่มากกว่าวิชา Business Studies นั้น อาจไม่ได้แปลว่าวิชา Economics ง่ายกว่า แต่มันแปลว่าเขาเหล่านั้นเลือกวิชาเรียนได้อย่างถูกต้อง คือตรงตามทักษะและความสนใจที่ตัวเองมีเท่านั้นเอง ซึ่งการได้ A* ในวิชาใดก็ตามนั่นแปลว่าเราได้ทำเหตุปัจจัยมาอย่างเหมาะสมคือ การตั้งใจทำอย่างเต็มที่ และ เลือกสิ่งที่เป็นตัวเองจริง ๆ

ไม่ใช่แค่ Business กับ Economics … ICT กับ Computer Sciences ก็เป็นอีกเรื่องที่ชอบเข้าใจผิดกัน

วิชาอีกคู่หนึ่งที่คนชอบเข้าใจผิดเรื่องความง่ายกับความยาก คือวิชา ICT กับ Computer Sciences เพราะด้วยนิยามของวิชานั้น ICT คือเรื่องของการใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบ IT ต่าง ๆ เป็นเรื่องราวของการเป็นผู้ใช้และเข้าใจระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนวิชา Computer Sciences นั้นเน้นไปที่เรื่องของการสร้าง การพัฒนา เลยมีส่วนของการเขียนโปรแกรม หรือ coding รวมอยู่ด้วย ซึ่งพอได้ยินคำว่า coding หลาย ๆ คนก็จะคิดไปแล้วว่า Computer Sciences ยากกว่า ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย

คนที่ชอบสร้าง ชอบพัฒนา ชอบ coding ชอบถูกท้าทายให้แก้ปัญหา จะสนุกและมีความสุขกับการเรียน Computer Science มาก ๆ มันจะกลายเป็นของง่ายสำหรับเขาไป ในขณะที่บางคนมีความสุขกับการใช้งานได้อย่างถูกต้องเกิดประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและการอำนวยความสะดวกสบายต่าง ๆ ในชีวิต เขาจะรู้สึกสนุกไปกับ ICT มันก็เลยง่ายกว่า จริง ๆ แล้วเรื่องราวมันก็มีแค่นี้เอง

และต่อให้เราพูดกันไปแล้วว่า สัดส่วนของการได้ A* ในแต่ละวิชาก็ไม่อาจช่วยบอกได้ว่าวิชาไหนง่ายหรือยากกว่า แต่ถ้าเราอยากดูข้อมูลกันจริง ๆ ก็ลองไปดูในสถิติผลสอบ IGCSE รอบ May/June 2018 ของวิชา ICT และ Computer Sciences เทียบกันดูนะครับ เราจะเห็นว่าสัดส่วนคนที่ได้ A* ใน Computer Sciences มากกว่า ICT เสียอีก น่าตกใจใช่ไหมครับ ไม่ต้องตกใจแล้วครับ ถ้าอ่านข้างต้นมาดี ๆ จะไม่ตกใจแล้ว

เพราะฉะนั้น เลิกคิดว่า Computer Sciences ยากกว่า ICT หรือ Economics ยากกว่า Business Studies ได้แล้วครับ ทุกอย่างอยู่ที่ว่าเราเลือกเรียนในสิ่งที่เป็นตัวเราเอง และ ที่เราสนใจจริง ๆ หรือเปล่าต่างหากครับ

บทสรุป เลือกเรียนในสิ่งที่รัก ที่สนใจ ที่ถนัด ที่เป็นตัวเราเอง ที่มีความสุขที่จะทำ

เลิกฟังคนอื่นที่เขาเล่าต่อ ๆ กันมาว่าวิชานั้นยากอย่างนั้น วิชานี้ยากอย่างนี้ เลิกเชื่อเรื่องที่ว่าวิชาไหนให้ A* ง่ายกว่าได้แล้วครับ ของแบบนั้นมันไม่มีจริง หรือต่อให้มันมีอยู่จริง นั่นก็คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต เกิดขึ้นกับคนอื่น ไม่ใช่เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราเองเลย

จะเลือกอะไร ศึกษาให้ดีครับ วิชานี้เขาเรียนอะไร หัวข้อมีอะไรบ้าง น่าสนใจหรือไม่ ตรงกับความเป็นตัวเองหรือไม่ ให้จินตนาการแบบนี้ก็ได้ครับ ถ้าเราจะต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติม ค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ครูในโรงเรียนไม่ได้สั่ง เราจะรู้สึกดีกับวิชาไหนมากกว่ากัน เราจะรู้สึกสนุกทางทางเลือกไหนมากกว่า ลองถามคำถามนี้กับตัวเอง แล้วเลือกวิชาจากคำตอบที่ได้ดูนะครับ

หาตัวเองให้เจอ เลือกในสิ่งที่เก่ง รัก ชอบ ถนัด มีความสุข ไม่เกี่ยวอะไรกับยากหรือง่าย ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่คนอื่น ๆ บอก ๆ กันมาเลยครับ ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองครับ