น้อง ๆ Year 13 บางคนที่กำลังจะต้อง submit UCAS Application ภายในไม่กี่วันนี้ บางคนอาจจะทราบแล้วว่าจะเลือกมหาวิทยาลัยไหนบ้าง อย่างไรก็ดี บางคนอาจจะยังไม่ทราบ หรือแม้แต่น้อง ๆ ที่เพิ่งอยู่ Year 12 หรือเด็กกว่านั้น บางคนก็อาจจะเริ่มมีความสงสัยแล้วว่า ถ้าวันที่ต้องเลือก 5 มหาวิทยาลัยใน UCAS Application นั้น จะเลือกที่ไหนบ้างดี วันนี้เรามาดู 3 ขั้นตอนในการเลือกมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ให้เหมาะกับตัวเราที่สุดกันครับ

ขั้นตอนที่ 1 ตอบให้ได้ชัด ๆ ก่อนว่าจะเรียนสาขาวิชาไหน

ประเทศอังกฤษให้ความสำคัญกับความ Born to be มาก ๆ การตอบไม่ได้หรือความไม่ชัดเจนว่าตกลงแล้วเรา Born to be อะไรหรือมีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเรียนสาขาวิชาใด จะส่งผลให้เราไม่สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยดี ๆ ในอังกฤษที่เราต้องการได้ เพราะฉะนั้น ขั้นแรกต้องตอบให้ชัดก่อนว่าจะเรียนสาขาวิชาไหนครับ

คำถามคือแล้วเราจะตอบได้อย่างไรว่าสาขาวิชาไหนกันแน่ที่เราอยากเรียนจริง ๆ หรือเหมาะกับเราจริง ๆ มีหลายวิธีที่สามารถทำได้ครับ

  • ใช้เครื่องมืออย่าง Career Test เป็นตัวช่วย ซึ่งจริง ๆ ควรจะทำมาตั้งแต่ก่อนขึ้น Year 9 แล้วเพื่อการวางแผนที่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้แล้วยังไม่ได้ทำ ยังไม่สายเกินไปนะครับ รีบติดต่อเข้ามาทำครับ
  • สังเกตว่าเรามีความรู้สึกต่อวิชาต่าง ๆ ที่เรากำลังเรียนและเคยเรียนมาอย่างไร วิชาไหนเราทำได้ดี วิชาไหนเราชอบ วิชาไหนเราสนุกที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้นแม้ครูที่โรงเรียนจะไม่ได้สั่งให้เราทำ
  • นึกย้อนถึงชีวิตตัวเองในช่วงที่ผ่าน ๆ มา เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับอะไร เราอ่านหนังสืออะไร เราค้นคว้าอะไร เราทำกิจกรรมอะไรเพิ่มแล้วสิ่งนั้นมันเกี่ยวกับอาชีพไหนอย่างไรบ้าง ถึงจุดนี้ถ้าบางคนพบว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรแบบนี้มาเลย โค้งสุดท้ายตรงนี้พอจะมีเวลาไปทำอะไรใหม่ ๆ ได้ก็ควรรีบทำครับ แต่ถ้าใครยังพอมีเวลาเช่นยัง Year 12 หรือเด็กกว่านั้น ทำอะไรได้ให้รีบทำครับ
  • ลองเขียน Personal Statement หรือเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตตัวเอง เพื่อทำ reflection ออกมาว่าชีวิตเรามีอะไรมาแล้วบ้าง ทำอะไรมาแล้วบ้าง เรียนรู้อะไรมาแล้วบ้าง มี skills อะไรบ้าง เราอาจจะเห็นสิ่งที่เราอยากทำมากขึ้นก็ได้ครับ

ขั้นตอนแรกนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด ถ้าใครยังติดปัญหาตรงนี้ว่ายังตอบไม่ได้ว่าจะเรียนอะไร รีบเข้ามาปรึกษากันนะครับ และถ้าตัดสินใจได้แล้ว ไปขั้นตอนที่ 2 กันต่อได้เลยครับ

ขั้นตอนที่ 2 เอา Ranking มหาวิทยาลัยมาดู

เมื่อตอบได้แล้วว่าจะเรียนสาขาวิชาไหน ให้ดูครับว่า Ranking ของมหาวิทยาลัยในอังกฤษในสาขาวิชานั้น ๆ เป็นอย่างไรบ้าง วิธีเข้าถึง Ranking ที่ง่ายที่สุดคือ เข้า Google แล้วค้นหาด้วยคำตรง ๆ ไปเลย อย่างเช่น ถ้าเราจะค้นหา Ranking ของสาขาวิชาด้าน Economics ก็ค้นหาไปเลยว่า top uk university economics ตรง ๆ แบบนี้เลยครับ

จากนั้น ผลของการค้นหาก็จะขึ้นมาเป็น Ranking ของหลาย ๆ สำนัก เลือกของสำนักไหนก็ได้ครับ แต่ปกติเราจะใช้ของ The Complete University Guide ครับ ก็คลิก link ที่มันขึ้นมาเข้าไป จากนั้นเราจะเห็น Ranking หน้าตาประมาณนี้ครับ

ที่มา : https://www.thecompleteuniversityguide.co.uk/league-tables/rankings?s=Economics

หลัก ๆ ของการดู Ranking คือเพื่อดูให้รู้ว่า สาขาวิชาที่เราสนใจนั้น มีที่ไหนเปิดสอนบ้างและมีอันดับเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากการดูแค่ว่ามหาวิทยาลัยไหนอยู่อันดับไหนแล้ว เราสามารถดูรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างได้ อย่างเช่น ถ้าเราจะดูเรื่องของคุณภาพการสอน (Teaching Quality) เราก็จะสามารถดูได้จาก column ที่มีชื่อว่า Student Satisfaction อย่างเช่นในรูปที่เรายกตัวอย่างมานี้ มหาวิทยาลัยอันดับ 2 มีคะแนน Student Satisfaction ที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 เพราะฉะนั้นในบางแง่มุม ก็ไม่ได้แปลว่าอันดับที่ดีกว่าจะมีทุกด้านที่ดีกว่าเสมอไป

ในกรณีที่สาขาวิชาที่เราสนใจ ไม่มีการจัด Ranking เอาไว้ เช่นเป็นสาขาที่เฉพาะทาง ก็ให้ดู Ranking ของสาขาวิชาที่ใกล้เคียงประกอบกัน ยกตัวอย่างเช่น Biochemistry เราอาจจะต้องดู Ranking ของ Biological Sciences กับ Chemistry คู่กันก็น่าจะได้คำตอบที่ใกล้เคียงครับ

อย่างไรก็ดี Ranking เป็นการจัดอันดับโดยการรวบรวมคะแนนและความคิดเห็นจากผู้คน ซึ่งย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันไป และนั่นย่อมไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง เราจึงไม่สมควรที่จะเชื่อ Ranking ไปเสียทั้งหมด Ranking เป็นการให้ภาพใหญ่กับเราก่อนว่า สาขาวิชาที่เราจะเรียนนั้น มีที่ไหนบ้างที่น่าสนใจ และนั่นจะนำไปสู่ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือการเข้าไปค้นหาด้วยตัวเองว่า ตกลงแล้วมหาวิทยาลัยนี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช่สำหรับเราหรือไม่

ขั้นตอนที่ 3 เข้าไปศึกษาสาขาวิชานั้นของมหาวิทยาลัยที่เราสนใจเพิ่มเติม

ในการเข้าไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมนี้ เราเริ่มจากเมื่อดู Ranking เสร็จแล้วในขั้นตอนที่ 2 ให้เราจดชื่อมหาวิทยาลัยที่เราสนใจออกมา จากนั้นเข้าเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เหล่านั้น แล้วเข้าไปอ่านข้อมูลของสาขาวิชาดังกล่าว เพื่อดูว่าตกลงแล้วมันน่าสนใจจริง ๆ อย่างที่เราต้องการหรือไม่

สิ่งที่เราสมควรเข้าไปอ่านมากที่สุดคือ Course Syllabus หรือ Structure ครับ ว่าแต่ละปี ๆ ของการเรียนสาขาวิชาที่เราสนใจในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ จะมีการเรียนการสอนอะไรบ้าง เพราะหลาย ๆ ครั้งที่ชื่อสาขาวิชาเหมือนกันในมหาวิทยาลัยที่ต่างกันจะมีการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกัน และแค่ชื่อสาขาวิชามันไม่มีทางอยู่แล้วที่จะสื่อสารได้ทั้งหมดว่ามันจะใช่สิ่งที่เราต้องการจะเรียนจริง ๆ หรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น สาขาวิชา Computing ของ Imperial College London พอเราเข้าไปดูโครงสร้างว่าแต่ละปีจะเรียนอะไรบ้าง เราจะเห็นหน้าตาแบบนี้ครับ

ที่มา : https://www.imperial.ac.uk/computing/prospective-students/courses/ug/beng-meng-computing/beng-comp/

ซึ่งสมมติว่าถ้าเราคลิกเข้าไปอ่านว่าแต่ละวิชาเรียนอะไรบ้าง เราก็จะเห็นข้อมูลที่ลึกลงไปอีก อย่างเช่น

ที่มา : https://www.imperial.ac.uk/computing/current-students/courses/112/

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าไปอ่านอย่างจริงจังพอ เราจะรู้เลยว่า นี่ใช่มหาวิทยาลัยที่เราควรเลือกหรือไม่

จากนั้น เราค่อยเริ่มอ่านข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมครับ เช่น Entry requirements หรือเกณฑ์การรับเข้า หรือเรื่องของงานวิจัยที่น่าสนใจ เรื่องผลงานของอาจารย์ ของสาขาวิชา เป็นต้น อ่านให้ครบถ้วนทุกอย่างเลยครับ จะได้ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่านี่ใช่ที่สำหรับเราจริง ๆ หรือไม่

และในกรณีที่อ่านแล้วมีข้อสงสัยเพิ่มเติม เราสามารถสอบถามทางสาขาวิชานั้น ๆ หรือมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้ ส่วนใหญ่เขาจะมีบอก Email address ที่ใช้ในการติดต่อ น้อง ๆ สามารถส่ง Email ไปคุยตรงด้วยตัวเองได้เลยครับ เขาใช้เวลาไม่นานในการตอบครับ ซึ่งถ้าเป็นคำถามที่หาคำตอบได้จากเว็บไซต์อยู่แล้ว เขาก็จะส่ง link ที่ควรเข้าไปดูกลับมาให้ แต่ถ้าเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบในเว็บไซต์ เขาก็จะตอบคำถามมาใน Email ครับ ส่วนในบางที่ที่ไม่ได้มี Email address บอกเอาไว้ เขาก็จะมีช่องทางให้สอบถามบนเว็บไซต์ได้เลย เป็น Online enquiry ครับ

และทั้งหมดนั้นคือ 3 ขั้นตอนในการเลือกมหาวิทยาลัยในอังกฤษให้เหมาะกับเราที่สุดครับ เริ่มจากตอบให้ได้ว่าจะเรียนสาขาวิชาไหน แล้วดู Ranking เพื่อให้รู้ว่ามีที่ไหนบ้างที่น่าสนใจ จากนั้นไม่ต้องเชื่อใครทั้งนั้น เข้าไปอ่านเว็บไซต์ ไปหาข้อมูล ไปถามคำถามเพิ่มเติมด้วยตัวเอง จนรู้ไปเลยว่านี่คือที่ที่ใช่ที่สุดสำหรับเราจริง ๆ ไหม

ใครอยู่ Year 13 แล้วยังเลือกไม่ได้ วันนี้ได้วิธีการแล้วนะครับ รีบเข้าไปจัดการได้แล้ว ใครยัง Year 12 หรือเด็กกว่านั้น อย่ารอเวลานะครับ ทำอะไรได้ทำเสียแต่เนิ่น ๆ เลยครับ เราจะได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดใหักับตัวเองได้ครับ