ขึ้นชื่อว่าไปเรียนเมืองนอก ก็ใช่ว่าจะดีไปเสียหมด เพราะเมืองนอกเองก็ไม่ต่างจากเมืองไทย มีทั้งโรงเรียนที่ดีและไม่ดี ซึ่งถ้าได้โรงเรียนที่ไม่ดี เผลอ ๆ อยู่เมืองไทยอาจมีทางออกที่ดีกว่า ความโชคร้ายก็คือโรงเรียนที่ไม่ดี หรือ โรงเรียนที่แหกตา ที่หลอกให้เราตายใจว่าดีนั้น มีอยู่เกลื่อนกลาด และหลอกเราได้ง่ายมากด้วยสารพัดกลยุทธ์ วิธีที่ดีที่สุดที่เราจะรอดพ้นจากความโชคร้ายนี้ได้คือการมีความรู้เพื่อที่จะตรวจสอบครับ

วันนี้เราจะมาดูกันว่า 5 ลักษณะเบื้องต้นของโรงเรียนในเมืองนอกที่พึงระวังนั้นมีอะไรบ้าง

ข้อที่ 1 รับเราเข้าไปง่ายมาก ๆ

สมัครวันนี้ สัมภาษณ์ทันที รู้ผลเลย ง่ายกว่าสมัครสมาชิกร้านกาแฟเสียอีก บางโรงเรียนเป็นแบบนั้นจริง ๆ ครับ พอถึงวันนัดเข้าไปคุยกับ agency กรอกใบสมัครนิดหน่อย ผลการเรียนดีไม่ดีไม่สำคัญ บางครั้งไม่ต้องยื่นผลการเรียนอะไรเลยก็ได้ ข้อสอบเพื่อการสอบเข้าก็เหมือนทำไปงั้น ๆ ทำไม่ได้เลยแต่ก็ยังรับเราเข้าไปเรียน แถมตอนสัมภาษณ์ก็ถามแต่คำถามพื้น ๆ คือถ้าอะไร ๆ มันดูง่ายเกินไป ให้ระวังไว้ก่อนเลยว่ามันใช่โรงเรียนที่ดีจริง ๆ หรือ ?

ต้องคิดแบบนี้ครับว่า โรงเรียนดี ๆ เขาต้องพยายามคัดกรองว่าคนที่จะเข้าไปเรียนนั้นเป็นอย่างไร ในแง่วิชาการก็ต้องวัดว่าเราจะสามารถรับแรงกดดันต่าง ๆ จากการเรียนที่หนักและยากได้ไหม ในแง่ลักษณะนิสัยพฤติกรรมต่าง ๆ ก็ต้องตรวจสอบว่าเราจะเป็นนักเรียนที่ดีของโรงเรียนและเข้ากับคนอื่น ๆ ได้ไหม ถ้าโรงเรียนดีจริง เขาต้องคัดแล้วคัดอีก หรือไม่งั้นมันก็ไม่ควรจะง่ายถึงขั้นที่ดูเหมือนว่าจะรับเด็กทุกคนเข้าไปเรียน

ถ้าง่ายขนาดนั้น ต้องระวังให้ดีเลยครับ เขาแค่อยากได้เราเข้าไปถมที่ให้เต็ม เท่านั้นเอง

ข้อที่ 2 แจกทุนเยอะมาก ๆ ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้โดดเด่นอะไร

เอาไปเลยทุน 50% ของค่าเรียน ทั้ง ๆ ที่ผลการเรียนเราก็ไม่ได้ดี หรือไม่ได้มีอะไรที่ดูโดดเด่นเป็นพิเศษ ซึ่งการแจกทุนโดยไม่สมเหตุสมผลแบบนี้ มันแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะดึงดูดใจด้วยการลด แลก แจก แถม เป็นเทคนิคทางการตลาดพื้น ๆ ที่ไม่ได้สนใจเลยว่าเขากำลังคัดเด็กที่มีคุณภาพเข้าไปหรือไม่ นั่นแปลว่าเข้าไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าภาพรวมของนักเรียนที่จะเข้าไปอยู่ด้วยกันนั้นจะเป็นอย่างไร

หลาย ๆ โรงเรียนที่เมืองนอกนั้นไม่มีการแจกทุน หรือถ้าเป็นโรงเรียนดี ๆ ที่แจกทุน เขาจะมีเงื่อนไขที่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ เช่น ต้องสอบ IGCSE ได้ A* 9 วิชา ถึงจะได้ทุนเรียนในระดับ A-level หรือต้องมีผลงานบางอย่างที่โดดเด่นระดับโลก เช่น เคยประกวดแข่งขันอะไรบางอย่างได้รางวัลมา ในขณะที่โรงเรียนแหกตาเขาไม่ได้สนใจ เขาแค่ต้องหาเด็กมาเรียนให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นก็ต้องหลอกล่อกันด้วยการแจกทุนนี่แหละ

เพราะฉะนั้น ถ้าโรงเรียนเขาเสนอทุนให้เรา ลองพิจารณาดี ๆ เราสมควรได้จริง ๆ หรือ อย่าหลอกตัวเอง ไม่งั้นจะโดนหลอกนะครับ

ข้อที่ 3 จุดขายหลักคือประหยัดเวลา แบบไม่สมเหตุสมผล

เจอบ่อยที่สุดคือ จบ IGCSE แล้วไม่ต้องเรียน A-level 2 ปี แต่ไปเรียน Foundation 1 ปีแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้เลย ซึ่งมันผิดหลักความเป็นจริงมาก ๆ เทียบกันง่าย ๆ คือจบ IGCSE ความรู้เด็ก ๆ จะเท่ากับแค่ประมาณ ม.3 เท่านั้นเอง แล้วไปเรียน Foundation ในโรงเรียนซึ่งง่าย ๆ ไม่ยาก จบแล้วความรู้และทักษะก็หลวม ๆ กลวง ๆ เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วก็มีแต่จะต้องโดน retire ออกมา

นี่คือการหลอกล่อด้วยประโยคที่ว่า ไม่ต้องเสียเวลาถึง 2 ปี แค่เพียง 1 ปีก็เข้ามหาวิทยาลัยได้ ซึ่งถามว่าการประหยัดเวลาแบบมีคุณภาพมีอยู่จริงไหม คำตอบคือมี แต่มันจะเป็นโปรแกรมการเรียนที่หนัก ไม่ใช่ลัดขั้นตอน ลดเวลาแถมยังสบาย ๆ ให้ท่องไว้เสมอว่า ง่าย ๆ สบาย ๆ แล้วได้ดี มันไม่มีจริงหรอกครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าเขาเสนอให้เราเข้าไปเรียนแค่ 1 ปีแล้วเข้ามหาวิทยาลัยได้ ทั้ง ๆ ที่ฐานความรู้เราไม่เพียงพอ แปลว่าเขากำลังหลอกเราครับ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็โดนไล่ออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว อันตรายมาก ๆ ครับ

ข้อที่ 4 พื้นฐานไม่สนใจ รับ ๆ เข้าไปก่อนแล้วค่อยว่ากัน

บางโรงเรียนรับเด็ก จบ ม.3 หรือ ม.4 บ้านเราเข้าไป แต่แทนที่จะให้เรียน IGCSE อย่างน้อย 1 ปีก่อนขึ้น A-level กลับบอกเด็ก ๆ ว่าพื้นฐานภาษาอังกฤษยังไม่ได้ งั้นเปลี่ยนโปรแกรมเป็นเรียนภาษาอังกฤษปรับพื้นฐาน 1 ปี แล้วขึ้น A-level ในอีก 2 ปีหลังไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาก ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนี้นักเรียนมีแต่ตายกับตายเท่านั้น เพราะถ้าปรับพื้นฐานแค่ภาษาอังกฤษ ยังไม่มีความรู้หรือทักษะใด ๆ คำถามคือจะขึ้นไปเรียน A-level ได้อย่างไร ?

แบบนี้เขาเรียกว่าเอาเราไปดองเค็ม คือรับเข้าไปก่อน อะไรพอจะให้เรียนได้ พอจะหาคนมาสอนได้ก็ว่ากันไป แล้วก็ตั้งชื่อโปรแกรมให้มันดูดีว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ แล้วยังต่อยอดไม่ได้อีกด้วย จริง ๆ อย่างในกรณีนี้ ที่ควรทำที่สุดคือถ้าพื้นฐานภาษาอังกฤษเด็กเขาไม่ได้ ก็ควรให้ไปเรียนปรับพื้นฐานระยะหนึ่ง แล้วค่อยขึ้น IGCSE แล้วค่อยต่อ A-level คือควรให้เสียเวลาเพิ่ม เพื่อคุณภาพที่ดีครับ

เขาไม่สนพื้นฐานเรา ก็แปลว่าเขาไม่สนอนาคตเรานั่นแหละครับ

ข้อที่ 5 ไม่ให้ความสำคัญกับความฝันที่ใหญ่

หลาย ๆ คนไปเมืองนอก เพราะมีความฝันจะเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อป อยากเข้า Oxford อยากเข้า Cambridge พอหาโรงเรียนที่ไว้ใจได้แล้ว ที่จะฝากชีวิตไว้ได้แล้ว เรียนไปเรียนมาความฝันก็ค่อย ๆ เล็กลงเรื่อย ๆ เพราะโรงเรียนจะพยายามพร่ำบอกว่า ไม่ต้องฝันใหญ่ จบที่ไหนก็เหมือนกัน ชีวิตมีอะไรตั้งเยอะแยะนี่ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต อะไรก็แล้วแต่จะว่าไป

การไม่ให้ความสำคัญกับความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเรา มันก็คือการดูถูกเรานั่นแหละครับ ว่าเราทำไม่ได้ ลองคิดดี ๆ นะครับ แค่มีพฤติกรรมที่จะดูถูกเรา ก็ไม่สมควรขึ้นชื่อว่าเป็นครูหรือเป็นโรงเรียนแล้วครับ อีกอย่างมันเป็นการปลูกฝัง mindset ให้นักเรียนกลายเป็นคนที่ทำอะไรไม่ต้องทำให้ถึงที่สุด ไม่ต้องเต็มที่ ไม่ต้องพยายาม สุดท้ายก็จะเป็นคนที่ชีวิตทำอะไรแค่พอผ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่ออนาคตมาก ๆ ครับ

โรงเรียนที่ดี ฝันใหญ่แค่ไหนก็จะช่วยผลักดันให้สำเร็จ และสรรหาบุคลากรที่เพรียบพร้อมมาช่วยสนับสนุน โรงเรียนแหกตา มีแค่ไหนก็ทำแค่นั้น ถ้าช่วยไม่ได้ ก็แค่บอกเด็ก ๆ ให้ลดขนาดความฝันของตัวเอง ก็ง่าย ๆ แค่นั้นเอง

จริง ๆ แล้วโรงเรียนที่ไม่น่าไป ยังมีลักษณะอีกหลายอย่างเลยครับ เอาเป็นว่าเอา 5 ข้อนี้ไปเป็นตัวชี้วัดก่อนก็แล้วกันครับ ถ้ากำลังจะสมัครโรงเรียนแล้วตรวจสอบ 5 ข้อนี้ได้ก่อนก็จะดีมาก แล้วก็พึงหลีกให้ไกล หรือถ้ากำลังเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีลักษณะแบบนี้ ลองพิจารณาดูนะครับ ยังสามารถย้ายโรงเรียน เปลี่ยนแผน หรือทำอะไรให้อนาคตของตัวเองดีขึ้นได้หรือไม่

อนาคตเรา อย่าให้โรงเรียนแย่ ๆ มาทำลายนะครับ ชีวิตเรา เราเลือกได้ครับ