มหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ต้องการคนที่ใช่

คนที่ใช่ คือคนที่ Born to be หรือเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นจริง ๆ เก่งแค่ไหน แต่ถ้าไม่ใช่ มหาวิทยาลัยระดับท็อป ๆ ในอังกฤษ ก็ไม่ต้องการ และหนึ่งในสิ่งที่ต้องมีในการทำ UCAS Application เพื่อบอกว่าเรานั้นใช่สำหรับสาขาวิชาที่เราจะเลือก ก็คือ Personal Statement

Personal Statement คือการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเรา เพื่อจูงใจมหาวิทยาลัยว่าเรานั้น Born to be โดยความท้าทายคือมันจำกัดความยาวเพียง 4,000 ตัวอักษร ลองคิดภาพว่า เราจะเล่าเรื่องทั้งชีวิตของเราอย่างไร ให้เหลือแค่นั้น แล้วทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อได้ว่า เรานั้นเกิดมาเพื่อที่จะเรียนสิ่งนี้จริง ๆ

นั่นแปลว่า เราเขียนทุกอย่างไม่ได้ ต้องเขียนแค่สิ่งที่สำคัญ และสิ่งสำคัญที่ว่านั้นมีอยู่ 5 ข้อ ดังต่อไปนี้

สิ่งสำคัญที่ 1 : ทำไมถึงอยากเรียนสิ่งนี้ ?

ย่อหน้าแรกของ Personal Statement ต้องชวนให้ติดตาม ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมเราถึงอยากเรียนสิ่งนี้ ซึ่งเหตุผลที่ว่านั้นมีอยู่ 2 อย่างหลัก ๆ คือ

  • แรงบันดาลใจ (Inspiration) อะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่กระตุ้นให้เราอยากเรียนสิ่งนี้ อยากทำงานด้านนี้ อาจเป็นคนที่เรารู้จัก หรือสิ่งที่เราเคยทำ แต่เหตุผลเบื้องหลังที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตนั้นคืออะไร
  • เป้าหมายในอนาคต (Future Plan) เราเห็นภาพตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร เราเรียนด้านนี้จบแล้วเราจะทำอะไร เรามีแผนของชีวิตอย่างไร หรือมีสิ่งใดที่อยากจะสร้างขึ้นหรือทำให้สำเร็จในวันข้างหน้า

สำคัญที่สุดคือ เหตุผลนั้น ต้องมาจากตัวเราเองเป็นหลัก ไม่ใช่มาจากคนอื่น เช่น ครอบครัวอยากให้เรียน ประเทศกำลังต้องการ โดยที่ไม่ได้มาจากความต้องการของตัวเอง อันนี้ถือว่าเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ 2 : สิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่

ถ้าเรากำลังเรียน A-level หรือ IB ในแต่ละวิชาที่เรากำลังเรียน มันเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรากำลังจะเลือกสมัครอย่างไร แต่ละวิชาให้ทักษะ (Skills) ที่เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร หรือในแต่ละวิชาที่เราเรียนนั้น มีหัวข้อไหนที่เราชอบเป็นพิเศษ และเมื่อชอบแล้วเราได้ค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างไร

ในการเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้องแน่ใจว่าเราไม่ได้แค่เอาทฤษฎีหรือเนื้อหาในวิชาต่าง ๆ มาเขียนให้มหาวิทยาลัยอ่าน เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว สิ่งที่เราต้องทำคือ พูดถึงแค่หัวข้อ แล้วบอกว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากมัน แล้วเราไปลงมือทำอะไรเพิ่มบ้างเพื่อให้เรารู้มากขึ้น

สิ่งสำคัญที่ 3 : สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราสนใจในเรื่องนี้จริง ๆ

เพื่อพิสูจน์ว่าเรา Born to be และสนใจในสิ่งที่กำลังจะสมัครเรียน มหาวิทยาลัยที่อังกฤษไม่ได้ต้องการแค่คนที่ตั้งใจเรียน A-level หรือ IB แต่เขาต้องการคนที่ออกไปค้นคว้าเพิ่มเติม หรือใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตไปกับเรื่องที่ตัวเองกำลังสนใจ

ในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ถือว่ามีน้ำหนักมากที่สุด ที่จะสามารถสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับเราได้มาก ๆ ขึ้นกับสิ่งที่เราลงมือทำจริง ซึ่งสิ่งที่เราควรพูดถึงนั้น ยกตัวอย่างเช่น

  • Work Experience คือประสบการณ์การทำงานหรือดูงาน
  • Reading คือเรื่องเกี่ยวกับหนังสือหรือบทความที่เราอ่าน
  • Research คือหัวข้อที่เราค้นคว้าเพิ่มเติม
  • Project คือโครงการพิเศษต่าง ๆ นอกเหนือจากการเรียนตามปกติ
  • Competition and Awards คือการประกวดแข่งขันหรือรางวัลที่ได้รับ

ทั้งนี้ไม่ได้จำกัดแค่ 5 อย่างนี้ อย่างไรก็ดี หลักการที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับการพูดถึงสิ่งเหล่านี้คือ มันต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะสมัครเรียน และการกล่าวถึงต้องเน้นในมุมที่ว่าเราได้เรียนรู้อะไร และ เราได้พัฒนาทักษะ (Skills) อะไรบ้าง ไม่ใช่แค่การเล่าเฉย ๆ ว่าทำอะไรลงไป

สิ่งสำคัญที่ 4 : กิจกรรมด้านอื่น ๆ ในชีวิต

ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ให้ความสำคัญกับความ Born to be มากที่สุด การเขียนถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคอร์สที่จะสมัครเรียนจึงเป็นเรื่องใหญ่ อย่างไรก็ดี การเล่าถึงด้านอื่น ๆ ในชีวิตบ้างก็ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยรู้จักเราในมิติอื่นมากขึ้น

เราสามารถพูดถึงกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงเรียนได้อย่างหลากหลาย ทั้งนี้ต้องระวังอย่าให้น้ำหนักของส่วนนี้มากเกินไป คือไม่ควรเกิน 20% ของ Personal Statement และพยายามเล่าให้คนอ่านเห็นถึงเรื่องของทักษะ (Skills) มากกว่าแค่การเล่าว่าได้ทำกิจกรรมประเภทไหนบ้าง

สิ่งสำคัญที่ 5 : สรุปว่าทำไมเราถึงเหมาะสมกับสิ่งนี้

อย่าลืมที่จะสรุปว่าเราเหมาะสมกับสิ่งที่เรากำลังจะเลือกอย่างไร ตรงนี้เราสามารถเอาเหตุผลที่เขียนไว้ตอนต้นจากสิ่งสำคัญอย่างที่ 1 กลับมาเล่าซ้ำ แต่เขียนใหม่ให้เป็นการเน้นหนักมากขึ้น หรือ เราจะย้ำอีกทีเรื่องที่ว่าเราสนใจเรื่องนี้จริง ๆ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมจริง ๆ ก็ได้

อย่างไรก็ดี ให้ระวังว่าสิ่งที่เราจะพูดถึงในตอนสรุปนี้มันจะลอย ๆ และไร้หลักฐาน เช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของ Personal Statement เราจะพูดถึงอะไรก็ตาม ต้องมีหลักฐาน ต้องสามารถให้คำอธิบายเพิ่มเติมได้ ว่าเราเขียนถึงสิ่งนี้ได้เพราะอะไร

และนั่นคือ 5 สิ่งสำคัญที่ต้องมีใน Personal Statement เพื่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยที่อังกฤษ ซึ่งเราสามารถเรียงเป็น Paragraph ที่ 1 ถึง 5 ได้เลย

สุดท้ายของฝากเอาไว้ว่า

  • Personal Statement ต้องเขียนให้ตรงกับ Character ของมหาวิทยาลัยที่จะสมัครด้วย อ่านเพิ่มเติมที่นี่ เกี่ยวกับการเลือกมหาวิทยาลัยที่ใช่ตัวเราเองที่สุด
  • ต้องทำแต่เนิ่น ๆ อย่างช้าคือต้น Year 12 อย่างเร็วทำได้ตั้งแต่ Year 10 เลยเพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการรู้จักและค้นหาตัวเอง
  • Personal Statement คือเรื่องราวของตัวเอง อย่าให้ใครเขียนให้ เขียนของเราเอง เพราะเราเข้าใจชีวิตของตัวเองที่สุด
  • ถ้าเขียนแล้วดูไม่ใช่ตัวเอง นั่นคือมีบางอย่างผิด กลับไปย้อนดูว่าใช่สิ่งที่เราควรจะทำจริง ๆ ไหมจาก Career Test อย่าฝืนทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวเอง เพราะเราจะเขียนออกมาได้ไม่ดี ถ้าเราเขียนไม่ดี มหาวิทยาลัยเขารู้ เขาจับได้ เขาก็จะปฏิเสธเรา

ขอให้เขียน Personal Statement ได้อย่างยอดเยี่ยมทุกคนครับ

ปรึกษาเรื่องการเขียน Personal Statement เพิ่มเติม ติดต่อเข้ามาคุยกันได้ครับ