บางคนอาจคิดว่า โตขึ้นจะเป็นอะไร ก็เรียน IGCSE แค่ในวิชาที่เกี่ยวข้องก็เพียงพอ เช่น ถ้าจะเรียนหมอ นอกจาก Math, English, Physics, Chemistry, Biology แล้ว ถ้าโรงเรียนยอมให้เรียนแค่นี้ก็จะเอาแค่นี้ ถ้าโรงเรียนบังคับให้เรียนเพิ่มมากกว่านี้ ก็เรียนอะไรก็ได้ไม่สลักสำคัญอะไร หรือ ถ้าใครจะไปต่อทางด้าน Business ก็คิดว่า เรียนแค่ Math, English, Business ก็พอ ไม่เห็นจำเป็นต้องเรียน Science หรือถ้าเรียนก็เรียนแค่ตัวง่าย ไม่เห็นจำเป็นต้องเรียน Art เพราะโตขึ้นไปก็ไม่คิดว่าจะไปวาดรูปอยู่แล้ว
วันนี้ เรามาดูกันครับ ว่าการคิดแบบข้างต้นนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง แล้วที่ควรจะเป็นจริง ๆ คืออะไร
IGCSE กับ A-level
ในระบบอังกฤษ เมื่อนักเรียนค้นหาตัวเองด้วยเครื่องอย่าง Career Test แล้วก่อนขึ้น Year 9 พอเริ่ม Year 9 ก็จะเริ่มเรียนวิชา IGCSE ที่สอดคล้องกับผล Career Test อย่างไรก็ดี คำว่าสอดคล้องในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสอดคล้องกับแค่อาชีพในอนาคตตามที่ผล Career Test สรุปออกมา แต่หมายถึงสอดคล้องกับ Skills (ทักษะ) ที่จำเป็นสำหรับอนาคต
เพราะฉะนั้น นอกจากจะเลือกวิชาให้ตรงกับอาชีพในอนาคตแล้ว ควรเลือกเรียนวิชาให้กว้างที่สุดและครอบคลุม Skills ต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ซึ่งคำแนะนำจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยระดับท็อป ได้บอกเอาไว้ว่า ให้เลือกวิชาให้ครบทุกด้าน นอกเหนือไปจาก Math, English, และ Science แล้ว ควรมีวิชาฝั่ง Humanities, Creativity, และ Additional Languages ด้วย
ซึ่งตรงนี้จะสอดคล้องกับการที่โรงเรียนระดับท็อปส่วนใหญ่ในประเทศอังกฤษ ให้นักเรียนเรียน IGCSE ได้มากถึง 9 – 11 วิชา คือนอกจากจะมีวิชาบังคับอย่าง Math, English, Physics, Chemistry, Biology แล้ว ยังเปิดช่องให้นักเรียนเลือกวิชาให้ครบถ้วนหลากหลายในทุกด้าน เพื่อให้มี Skills ครบถ้วนก่อนจะเข้าสู่ขั้นต่อไปของชีวิตด้วย
ในขณะที่ A-level นั้น นักเรียนมีโอกาสที่จะเลือกวิชาเรียนได้เพียง 3 – 4 วิชา ตรงนี้จึงต้องเลือกวิชาที่ทั้ง Skills และ Knowledge (ความรู้) ที่จะได้รับ ตรงกับสาขาวิชาที่จะสมัครเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย อาจจะไม่สามารถเลือกวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องน้อยลงไปได้อีก
เพราะฉะนั้น ความคิดที่ว่าให้เลือกเรียนวิชาที่ตรงกับสิ่งที่จะเรียนต่อในอนาคตเท่านั้น นั่นหมายถึง A-level ไม่ได้หมายถึง IGCSE ซึ่งแม้แต่ A-level เอง ถ้าเราเลือกวิชาที่ตรงกับสิ่งที่จะเรียนในอนาคตแล้ว และปรากฎว่ามีช่องเหลือให้เลือกวิชาเพิ่มได้ ก็ควรจะเลือกวิชาที่เพิ่ม Skills เข้าไปได้อีกเสียด้วยซ้ำ โดยสรุปก็คือ เลือกวิชาอย่างไรให้ตรงและได้ Skills สูงที่สุด นั่นคือหลักการเลือกวิชาที่ถูกต้อง
ทำไม Skills ถึงสำคัญ
Skills ต่างจาก Knowledge ตรงที่ Skills เมื่อได้มาแล้วมันจะอยู่กับเราไปทั้งชีวิต และสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับที่สูง ๆ ขึ้นไปได้ ในขณะที่ Knowledge นั้นไม่นานก็ลืม ไม่ได้ใช้ก็ลืม เวลาผ่านไปก็ล้าสมัย การศึกษาของประเทศที่เจริญแล้วเขาจึงเน้นที่เรื่องของ Skills มากกว่า Knowledge การคัดเลือกของมหาวิทยาลัยระดับโลก ก็มองผู้สมัครที่ Skills มากกว่า Knowledge เช่นกัน
ในอนาคตคนที่จะอยู่รอดได้ ไม่ใช่คนที่มี Knowledge เยอะ ๆ คือรู้มาก แต่ทำอะไรไม่เป็น คือไม่มี Skills ยิ่งทุกวันนี้ Knowledge หาได้ง่ายมากตามอินเตอร์เน็ต ถ้าอ่านหนังสือเป็น ค้นคว้าด้วยตัวเองเป็นก็จะสามารถหา Knowledge ได้ไม่รู้จบ มหาวิทยาลัยระดับโลกเอง ก็ใช้ Knowledge เป็นเพียงแค่เครื่องมือในการฝึกคนให้มี Skills เท่านั้น
เพราะฉะนั้น สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว จะเรียนหมอ เรียนวิศวะฯ เรียนเศรษฐศาสตร์ หรือเรียนอะไร ก็เหมือนกัน คือมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคน ๆ นั้นให้เป็นคนที่ Skills เต็ม ให้พร้อมสำหรับโลกในวันข้างหน้า เพียงแต่ต่างกันที่ฝึกด้วย Knowledge ที่ไม่เหมือนกัน ตามแต่ที่คน ๆ นั้นจะรักและถนัดที่จะเรียนรู้
เพราะฉะนั้น ใครเรียน IGCSE มาแคบ ๆ เรียนมาแค่วิชาที่คิดว่าจะใช้ อะไรคิดว่าไม่ใช้ก็ไม่เอาเลย มหาวิทยาลัยจะมองว่าไม่มี Skills และเป็นคนที่มีศักยภาพจำกัด โอกาสเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยดี ๆ ระดับโลกได้ก็จะน้อยลงไปมาก ๆ
ยกตัวอย่าง Skills ที่จะได้จากวิชาเลือกต่าง ๆ
- Art and Design หลายคนไม่เลือกวิชานี้ เพราะคิดว่าโตไปคงไม่วาดรูป นั่นคือการมองแค่ Knowledge แต่ถ้ามองที่เรื่องของ Skills นี่คือวิชาที่มีคุณประโยชน์มหาศาล อย่างแรกคือได้เรื่อง Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) แน่นอน อย่างที่สองคือ Time Management (การจัดการเวลา) เพราะงานศิลปะมีกำหนดส่งตายตัว แต่ขั้นตอนการทำงานไม่ตายตัวสามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ เราต้องหาทางทำให้เสร็จสมบูรณ์ในเวลาที่กำหนดให้ได้ อย่างที่สามคือ Focus (ความสามารถในการจดจ่อ) เพราะต้องมีสมาธิจดจ่อต่อเนื่องจึงจะสามารถทำงานที่ประณีตสวยงามออกมาได้ แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่ 3 อย่าง ยังมีทักษะอีกมากที่สามารถหาได้จากการเรียน Art and Design
- Business / Economics / Psychology /History / Geography หลายคนหลีกเลี่ยง 5 วิชานี้เพราะรู้ว่าต้องเขียนหนังสือเยอะ ๆ ในการตอบข้อสอบ แต่ลืมนึกไปว่าการเขียนเยอะ ๆ นี่แหละที่จะทำให้ได้เรียนรู้อะไรมากมาย ถ้าเขียนได้เยอะ ก็แปลว่าต้องอ่านมาเยอะ เพราะฉะนั้น จะได้ฝึกเรื่องของ Reading (การอ่าน) และเรื่องของ Critical Thinking คือการตัดสินตีความอย่างมีเหตุผล ว่าผู้เขียนต้องการจะสื่อถึงอะไร จากนั้นเมื่อถึงคราวที่ตัวเองต้องเขียน ก็จะต้องเขียนอย่างถูกต้อง มีที่มาที่ไป มีหลักฐานสนับสนุน หรือที่เรียกว่า Solid Writing and Presentation นั่นเอง ซึ่งนี่คือ Skills ที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการทำงานในอนาคตครับ
- Computer Science หลายคนมองว่าถ้าอนาคตไม่ได้ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็จะไม่เรียน Computer Science เพราะว่ามีส่วนของการเรียน Programming and Coding แต่จริง ๆ แล้วเป้าหมายหลักของการเรียน Programming and Coding คือการฝึกเรื่องของ Logical Thinking (การคิดอย่างเป็นเหตุผล) และ Systematic Thinking (การคิดอย่างเป็นระบบ) รวมถึง Seeing Big and Broad Picture (การเห็นภาพใหญ่ภาพกว้าง) ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เป็นทักษะสำหรับอนาคตที่มีค่ามากมายอย่างแน่นอน
นี่แค่ตัวอย่างครับ วิชาต่าง ๆ ใน IGCSE นั้นยังมีประโยชน์อีกมากในแง่ของ Skills ที่ผู้เรียนจะได้รับ อย่าคิดที่จะเรียนให้น้อยที่สุดเพียงเพื่อให้ตรงกับวิชาที่คิดว่าจะใช้ในอนาคต เพราะจะพลาดการได้เก็บเกี่ยว Skills ที่สำคัญสำหรับชีวิตไปอย่างน่าเสียดายครับ
ใส่ใจเรื่อง Skills กันเยอะ ๆ นะครับ ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ว่ายังมี Skills อะไรอีกบ้างที่จะพัฒนาให้กับตัวเองได้อีก แล้วลงมือฝึกฝนให้เต็มที่ตั้งแต่วันที่ยังมีโอกาสครับ
อย่ารอให้โตไปแล้ว ไม่ได้ฝึกอะไรมาเลย แล้วจะลำบากนะครับ