โลกแห่งการทำงานมันยาก …

แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับบางคนที่ฝึกฝนตัวเองมาเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง การเรียนหนังสือได้ดี ทำเกรดได้ดี ทำคะแนนสอบได้ดีเพียงเท่านั้น นั่นมันก็เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ยังมี Skills อีกมากมายที่โลกของเราได้หยิบยื่นโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กหลายคนไม่ได้เห็นคุณค่าของสิ่งนั้น ครั้นจะมาฝึกเอาตอนโต บางทีก็สายเสียแล้ว

เชื่อไหมว่า ในระบบการเรียนของเรานั้น ได้พยายามจะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้ เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น

ทำไม IGCSE ต้องเรียนหลายวิชา

แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่วิชาที่เลือกเรียนใน IGCSE ประมาณ 9 – 11 วิชานั้น จะเป็นวิชาที่เราชอบทั้งหมด บางวิชาเราอาจมีอคติมาตั้งแต่เด็ก บางวิชาเราไม่เคยเจอมาก่อน แม้จะใช้ Career Test เข้ามาช่วยเลือกแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติเลยที่เราจะชอบทุกวิชา

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ชอบบางวิชา แต่เราต้องทำทุกวิชาให้ดีที่สุดให้ได้ เพราะเป้าหมายของ IGCSE คือการทำให้เรามี Skills พื้นฐานที่ครอบคลุมจำเป็นกับชีวิต และ สอดคล้องกับอาชีพที่ควรจะไปทำต่อในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการฝึกฝนให้รู้จักหน้าที่ เมื่อเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราก็ไม่ได้เลือกได้ตลอดว่าจะทำแต่สิ่งที่ชอบ เพราะเมื่ออะไรก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหน้าที่แล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่เกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบเลย

เด็กหลายคนโตไปแล้วไม่รู้จักหน้าที่ คิดแต่จะเลือกทำตามแต่ใจตัวเองเท่านั้น จึงอยู่ในสังคมได้อย่างยากยิ่ง

ทำไมต้องตอบคำถามให้ตรงกับ Mark Scheme

ข้อสอบ IGCSE, A-level, IB ถ้ารู้เนื้อหา แต่ไม่รู้วิธีเขียนตอบคำถามที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ใน Mark Scheme จากสอบได้ก็จะกลายเป็นสอบตก หลายคนบอกว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรม ในเมื่อรู้เรื่องและเข้าใจแล้ว ก็ควรจะให้คะแนน ไม่ว่าจะตอบคำถามตรงกับ Mark Scheme หรือไม่ก็ตาม คำถามคือ เคยดูเบื้องหลังหรือไม่ ว่า Mark Scheme มีไปเพื่ออะไร

Mark Scheme ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อบังคับให้เราต้องมีความคิดที่ติดกรอบ แต่เป็นการสอนให้เรารู้จักสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม อย่างในวิชา Physics การอธิบายคำว่ารถวิ่งเร็วขึ้นด้วยคำว่า “faster” มันคือคำอธิบายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าวันหนึ่งเราต้องทำงานด้าน Physics จริงจัง มันก็สมควรมากกว่าที่เราจะใช้คำว่า “acceleration” นี่ไม่ใช่การติดกรอบ แต่เป็นการสอนให้เราทำตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือสิ่งที่ควรจะเป็น

หรืออย่างวิชา Mathematics เราอาจเป็นคนที่หัวไว อ่านโจทย์แล้วตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องแสดงวิธีทำ สุดท้ายเราก็โดนตัดคะแนนมากมาย แล้วก็โวยวายว่าไม่ยุติธรรม ลองคิดภาพในอนาคต เราทำงานบางอย่าง ได้คำตอบทันทีแต่ปรากฎว่าคำตอบนั้นมันผิด ถ้าต้องมีคนช่วยกันตรวจสอบเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง จะมีใครช่วยเราได้ ถ้าเราไม่สามารถแสดงวิธีทำออกมาให้คนอื่นรับรู้ได้ สุดท้ายเราอาจถูกกล่าวหาเสียด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นแค่การทำมั่ว ๆ และไม่ได้เข้าใจอะไร ๆ อย่างแท้จริง

ทำไมข้อสอบต้องออกยากกว่าที่เคยเรียน

ข้อสอบ IGCSE และ A-level ไม่เคยออกเกินจากที่กำหนดเอาไว้ใน Syllabus แต่ถ้าโจทย์คำถามจะพลิกแพลงไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ เพราะในโลกแห่งการทำงาน โลกแห่งอนาคต โจทย์ที่เราต้องแก้ ปัญหาที่เราต้องจัดการ มันมีอะไรที่เหมือนในตำราเป๊ะ ๆ เสียที่ไหน

ข้อสอบที่พลิกแพลงแต่ยังมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เรียน เป็นการวัดว่า เราคือคนที่รู้ลึกรู้จริงแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจเรื่องนั้น ๆ จริง ๆ เราจะไม่ได้มีความสามารถแค่ตอบคำถามที่ตรงกับข้อสอบเก่า แต่เราจะสามารถประยุกต์พลิกแพลงได้ ตราบเท่าที่มันยังอยู่ในฐานความรู้ที่เรามี เวลาเจอโจทย์ยาก ๆ ให้คิดว่าเราโชคดีแล้ว ที่โลกมาเตือนสติเราให้ต้องสำรวจตัวเองว่า เรารู้เรื่องนั้น ๆ ดีพอแล้วหรือยัง

ทำไมต้องให้เขียน Personal Statement และ Interview ตอนสมัครมหาวิทยาลัย

บางคนเก่งมาก มีความสามารถ และมีความชัดเจนในตัวเองมากว่าตัวเอง Born to be อะไร เพียงแต่ความชัดเจนนั้น ไม่สามารถถูกสื่อออกไปให้คนอื่นรับรู้ได้ คำถามคือถ้าคนอื่นรับรู้ไม่ได้ คนอื่นจะช่วยสนับสนุนเราได้อย่างไร มหาวิทยาลัยจะมอบการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับเราได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่มีโอกาสที่จะรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราเลย

Personal Statement นอกจากมีเอาไว้วัดว่าเรา Born to be ในด้านนั้น ๆ ที่จะสมัครเรียนหรือไม่แล้ว ยังเอาไว้วัดว่าเรามีทักษะในการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเขียนเป็นอย่างไรบ้าง แม้จะไม่ชอบเขียน แต่การเขียนยังไงก็จำเป็น เราไม่สามารถสื่อสารทุกอย่างด้วยการพูดได้ บ่อยครั้งเราต้องเขียน เขียนอย่างไรให้คนเข้าใจ เขียนอย่างไรให้คนอ่านรู้เรื่อง และรับรู้ทุกอย่างร่วมกันกับเราได้ นี่เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับโลกในวันข้างหน้า

ส่วน Interview นั้นเอาไว้วัดการสื่อสารในรูปแบบของการพูด แต่ไม่ใช่พูดเพียงเพื่อตอบคำถาม แต่เป็นการพูดเพื่อแสดงความคิดเห็น แสดงความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เรามีของดี แต่เราพูดออกมาไม่ได้ คนอื่นรับรู้ไม่ได้ ประโยชน์ก็จะจำกัดอยู่แค่ตัวเราเอง นับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก

เห็นคนที่ประสบความสำเร็จและได้รับโอกาสที่ดีมากมายบนโลกใบนี้ไหม อาจไม่ใช่ทุกคนที่เขียนเก่ง และ พูดเก่ง แต่พวกเขาเหล่านั้นเขียนเป็น และ พูดเป็น

ทำไมยิ่งโต ครูหรืออาจารย์ ยิ่งสอนน้อยลง

การสอนแบบป้อนให้ทุกอย่าง เขาใช้กับเด็กที่ยังไม่รู้อะไร ไม่มีความรู้ หรือข้อมูลที่เพียงพอในการดำเนินชีวิตต่อ การสอนในวัยเด็กจึงอาจต้องป้อนเยอะหน่อย เมื่อโตขึ้น เรามีความรู้แล้ว เรามีทักษะแล้ว ได้เวลาที่เราจะรับการป้อนให้น้อยลง แต่วิเคราะห์ ประมวลผล สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองมากขึ้น อย่าลืมว่าโจทย์ที่เราต้องเจอในชีวิตจริงนั้น มักจะใหม่และท้าทายเสมอ ถ้ายึดกับแค่สิ่งที่ได้รับการสอนมา เราจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร โลกจะเดินหน้าไปได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่ครูหรืออาจารย์สอนน้อยลงหรือถึงขั้นไม่สอนอะไรเลย นั่นคือโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้อย่างแท้จริง คุณไม่สอนผมใช่ไหม ได้เลย เดี๋ยวผมอ่านเอง เดี๋ยวผมค้นคว้าเอง เดี๋ยวผมจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วยตัวเองให้ได้ ถ้าคิดแบบนี้ได้ จะไม่มีการเรียนรู้ใด ๆ ที่ยากอีกเลย มีแต่ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งสนุก ยิ่งทำประโยชน์ได้มาก

โลกแห่งการทำงานมันยาก …

มันยากสำหรับคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กเท่านั้น โตไปจะรอดหรือไม่ก็ขึ้นกับสิ่งนี้ เราอาจคิดว่าโตไปแล้วเจอปัญหาค่อยเรียนรู้ก็ยังทัน แน่นอนว่าด้วยหลักการก็เป็นไปได้ แต่คนที่ไปไม่รอดก็มีมากเหลือเกิน คำถามคือ จะรอถึงวันนั้นทำไมครับ

โอกาสมีอยู่รอบตัว ที่จะให้เราได้เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองในด้านต่าง ๆ มี Skills มากมายที่เราสามารถฝึกฝนได้ อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปแล้วไม่ได้ทำอะไรเลยนะครับ

ฝึกฝนตั้งแต่ยังเด็กครับ