“ทำไมนักเรียนถึงแน่นห้องสมุดขนาดนี้ครับ”
เราถามคุณครูที่ Cheltenham Ladies’ College ขณะที่คุณครูพาเราเดินชมโรงเรียนและเราเดินมาถึงบริเวณห้องสมุดของโรงเรียนพอดี
“ที่เห็นนี้คือเด็ก Sixth Form (Year 12 และ 13) ค่ะ เนื่องจากเรียน A-level แค่ 3 วิชา หลาย ๆ คนจะมีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่ถ้าเป็นเวลาว่างที่ยังต้องมีเรียนต่อ ก็จะมาทำการบ้าน อ่านหนังสือ ทบทวนอะไรต่าง ๆ กันในห้องสมุดแบบนี้ค่ะ”
นี่น่าจะเป็นข้อดีหนึ่งของ A-level ในหลาย ๆ โรงเรียน ที่จริง ๆ แล้วคาบว่างก็จะถูกใช้ไปกับการเรียน เพื่อให้สามารถไล่ตามเนื้อหา A-level ที่ทั้งเยอะและลึกให้ทัน
“แต่ถ้าเป็นเวลาว่างหลังเลิกเรียน เด็ก ๆ เขาก็ไปทำกิจกรรมกันนะคะ ไม่ใช่ว่าเอาแต่เข้าห้องสมุดอย่างเดียว”
คำตอบของคุณครูตรงกับที่เราอยากถามเพิ่มพอดี ซึ่งคำตอบก็น่าพอใจมาก ๆ ว่าเด็ก ๆ ที่นี่มีชีวิตที่สมดุลทั้งในเรื่องของการเรียน การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิต
ในวันที่ผม ครูจ๋อมแจ๋ม ครูเดียร์ ครูปุ้ม ไปเยี่ยมชมโรงเรียน Cheltenham Ladies’ College ในครั้งนี้ ตรงกับวันที่โรงเรียนกำลังจะทำพิธีเพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสงครามพอดี พวกเราทั้งหมดได้เข้าร่วมพิธีอันแสนจะเรียบง่ายนี้ด้วย นั่นคือ ทุกคนออกไปยืนสงบนิ่งร่วมกันรอบ ๆ ต้นไม้ใหญ่ที่บริเวณสวนของโรงเรียน
ความวุ่นวายระหว่างเปลี่ยนคาบ เสียงเด็กพูดคุยกัน หรือบรรยากาศความจริงจังในห้องเรียนและในห้องสมุดก่อนหน้านี้ แปรเปลี่ยนเป็นความสงบนิ่งอย่างไม่น่าเชื่อ ทุกคนให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี เป็นบรรยากาศความร่วมมือร่วมใจของการอยู่โรงเรียนใหญ่ ๆ ที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
หลังเสร็จพิธีแล้ว เราเดินชมโรงเรียนต่ออีกนิดหน่อย จากนั้นจึงเดินไปชม Boarding House หรือที่พักของเด็ก ๆ ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน
“ไม่ต้องกลัวว่าเด็ก ๆ จะอันตรายจากการข้ามถนนที่นี่นะคะ เด็กทั้งโรงเรียน พอถึงเวลาพักเที่ยงจะข้ามถนนพร้อมกัน เดินพร้อมกันกลับมาที่ Boarding House ของแต่ละคน” คุณครูอธิบายให้พวกเราทราบเพื่อคลายข้อสงสัยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ถามถึง
“แล้วเด็กที่เป็น Day Student ล่ะครับ จะไปอยู่ที่ไหนในช่วงพักเที่ยง” เราถามเพราะอยากทราบความแตกต่างระหว่างเด็ก 2 กลุ่มนี้
“เขาก็กลับ Boarding House เหมือนกันค่ะ แม้จะไม่ได้ต้องนอนค้างที่นี่ แต่เด็ก Day Student เองก็จะเป็นสมาชิกของ Boarding House หนึ่ง ๆ เสมอ ทุกคนจะมาใช้ชีวิตร่วมกันช่วงพักเที่ยงพักผ่อนที่ Boarding House ของตัวเอง ทานข้าวด้วยกัน ใช้เวลาด้วยกัน ก่อนจะกลับไปเรียนด้วยกันในตอนบ่ายค่ะ”
เราได้พูดคุยกับ House Parents ที่ดูแล Boarding House หนึ่ง ว่าชีวิตเด็ก ๆ ในแต่ละวันที่ Boarding House เป็นอย่างไรบ้าง
“วุ่นวายมากค่ะ แต่เป็นความวุ่นวายแบบสนุกสนาน”
House Parents ตอบด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะอธิบายต่อไปว่า
“เด็ก ๆ ที่นี่เขารักกันมาก เขาเหมือนพี่น้องที่เติบโตมาด้วยกัน กินด้วยกัน นอนด้วยกัน เล่นด้วยกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน เดินไปเดินกลับโรงเรียนด้วยกัน เด็ก ๆ แทบจะไม่มีเวลาว่างเลย”
เราดูรูปถ่ายที่แปะเอาไว้ใน Boarding House ทั้งบรรยากาศช่วงเทศกาล การแข่งขันกีฬา การไปเที่ยวต่างเมือง การจัดงานรื่นเริงต่าง ๆ ดูแล้วเห็นแต่รอยยิ้ม ความสุข และสัมผัสได้ถึงสายสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น
ยิ่งไปกว่านั้น ในทุก ๆ ภาพถ่าย เราจะเห็น House Parents อยู่ร่วมกับเด็ก ๆ อย่างกลมกลืน เด็ก ๆ ทุกคนดูรัก House Parents ราวกับเป็นคุณพ่อคุณแม่จริง ๆ ที่ดูแลอยู่ที่นี่ คอยเตรียมกับข้าวให้ทาน คอยรับฟังเวลามีปัญหา คอยเป็นเพื่อนเล่นเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ
เราปิดท้ายการเยี่ยมชม Cheltenham Ladies College ด้วยคำถามที่มีต่อ House Parents ว่า
“เด็ก ๆ มาที่นี่แล้ว homesick กันบ้างไหมครับ”
“แรก ๆ ใคร ๆ ก็เป็นค่ะ … แต่อยู่ไปสักพัก ทั้งเรียนยุ่ง ทำกิจกรรมเยอะแยะ แถมอยู่กับเพื่อน ๆ ที่เรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกันขนาดนี้ รู้ตัวอีกที homesick หายไปตอนไหนก็ไม่รู้ค่ะ”
จากการเยี่ยมชม Cheltenham Ladies’ College และอีกหลาย ๆ โรงเรียน เราได้พบเคล็ดลับ 2 ข้อที่สามารถใช้จัดการกับอาการ homesick ได้เป็นอย่างดี
อย่างแรกคือ ยุ่งเข้าไว้ ยิ่งโรงเรียนไหนเรียนหนัก กิจกรรมเยอะ มีอะไรให้ต้องทำอยู่ตลอดเวลา เด็ก ๆ จะอยู่กับความจริงตรงหน้า และอยู่กับการมีชีวิตอย่างแท้จริง เด็ก ๆ จะหลุดออกจากโลกของความคิดอันวกวนได้มากขึ้น เพราะเหตุนี้ อาการ homesick ก็จะค่อย ๆ เบาบางและจางหายไป
และอย่างที่สองที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การอยู่ในโรงเรียนที่ดี สังคมที่ดี เพื่อนที่ดี คนดูแลที่ดี เพราะแม้จะไกลบ้าน แต่นี่แหละจะเป็นดั่งครอบครัวที่สอง ที่พร้อมจะสนับสนุนให้เราเติบโตและประสบความสำเร็จได้ ในช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตในต่างแดนเช่นนี้ครับ