ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

ถ้าเคยอ่านมังงะ ดูอะนิเมะ หรือดูละครญี่ปุ่นกันมาบ้าง น่าจะเคยได้ยินการใช้คำลงท้ายชื่ออย่างเช่น ซัง คุง หรือจังกันมาบ้าง ซึ่งถ้าจะให้เทียบเคียงกับสังคมไทย ก็จะเหมือนกับการใช้ ‘คุณ’ ‘พี่หรือน้อง’ ก่อนหน้านี้ได้มีพูดถึงการใช้คำสุภาพ (Keigo: 敬語) ในภาษาญี่ปุ่นกันไปแล้ว จะเห็นได้ว่า ‘วัฒนธรรมญี่ปุ่น’ ให้ความสำคัญกับสังคมลำดับชั้น (Hierarchy) นอกจากไวยากรณ์และคำศัพท์แล้ว การใช้คำลงท้ายชื่อก็ถือเป็นการให้เกียรติกับบุคคลที่พูดด้วยอย่างหนึ่ง แต่เคยสงสัยไหมว่าการเรียกแบบนั้นมีความหมายว่าอย่างไร? และแต่ละคำมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง? เพื่อให้เราสามารถใช้ภาษาญี่ปุ่นได้อย่างธรรมชาติมากขึ้น มาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะ

วิธีการใช้คำลงท้ายชื่อสำหรับผู้เริ่มต้น

การใช้คำลงท้ายชื่อนั้น เมื่อศึกษาอย่างดี ๆ แล้วจะพบว่ามีความซับซ้อนมาก เพราะการใช้แต่ละคำนั้นต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก เช่น อายุ ความสนิทสนมและชนชั้นทางสังคม เพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องสนทนากับคนญี่ปุ่น เราต้องระวังการใช้คำเหล่านี้ให้ดี เพราะถ้าเราใช้อย่างเหมาะสม ต่อให้เราเป็นคนต่างชาติก็ตาม เราก็จะถูกมองว่าเป็นคนที่ใช้ภาษาได้ถูกกาลเทศะและรู้สึกดีกับเรามากกว่าที่เราใช้ไม่ถูกต้องหรือพูดไม่เหมาะสม

การใช้คำลงท้ายชื่อสำหรับผู้เริ่มต้นนั้นไม่อยาก อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าต้องคำนึงถึงปัจจัยหลัก เช่น อายุ ความสนิทสนมและชนชั้นทางสังคม โดยส่วนใหญ่แล้ว หากบุคคลนั้นเป็นคนที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หรือมีอายุที่มากกว่า คนญี่ปุ่นมักจะใช้นามสกุลแทนชื่อเรียกและตามด้วยคำลงท้าย ‘ซัง’ เช่น เมื่อเราต้องการจะเรียกชื่อ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ เราจะเรียกว่า ‘คิชิดะซัง’ เป็นต้น แต่ถ้ามีความคุ้นเคยกันแล้ว และไม่ได้มีอายุที่มากกว่าเราก็สามารถใช้ชื่อแล้วตามด้วยคำลงท้ายที่เหมาะสมได้เลยอย่างเช่น เคนตะคุง มินามิจัง เป็นต้น

คำลงท้ายชื่อที่นิยมใช้กันเป็นส่วนใหญ่

1. ซัง (さん)

เรามักจะได้ยินคำลงท้ายชื่อว่า ‘ซัง’ อยู่บ่อยครั้ง ‘ซัง’ เป็นคำลงท้ายชื่อที่สุภาพแต่ไม่ได้เป็นทางการมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นคำที่ถูกใช้บ่อยมากที่สุด เนื่องจากคำนี้จะถูกใช้เมื่อพูดกับคนที่มีชนชั้นทางสังคมที่เท่ากันก็ได้ มีอายุเท่ากันก็ได้ หรือพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนไม่ว่าจะมีเพศอะไร อายุเท่าไร หรือมีชนชั้นทางสังคมอย่างไรก็ตามก็ได้ เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ซัง’ จึงถือเป็นคำที่ปลอดภัยที่สุดที่จะใช้เมื่อต้องการจะพูดชื่อคนญี่ปุ่นที่เราต้องสนทนาด้วย

2. คุง (くん)

คำว่า ‘คุง’ จะพบเห็นบ่อยมากในอะนิเมะหรือมังงะ คำว่า ‘คุง’ สุภาพแต่ไม่ได้เป็นทางการมากนักเมื่อเทียบกับคำลงท้ายชื่ออื่น ๆ และมักจะถูกใช้กับเด็กผู้ชายหรือผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิงหรือผู้หญิง แต่ผู้หญิงก็สามารถใช้คำนี้ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คำว่า ‘คุง’ จะใช้กับเพื่อนหรือบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า

3. จัง (ちゃん)

ที่จริงแล้วคำว่า ‘จัง’ นั้นมาจากในสมัยก่อนเด็ก ๆ ออกเสียง ‘ซัง’ ไม่ค่อยได้ จากเสียง ‘S-’ กลายเป็นเสียง ‘Ch-’ แทน เมื่อออกเสียงจึงออกว่า ‘จัง’ แทน ‘ซัง’ แต่ถึงอย่างนั้นคำว่า ‘จัง’ ก็ยังคงใช้อยู่โดยเฉพาะเมื่อต้องการจะสื่อถึงเด็ก ๆ และแสดงความน่ารัก ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า เด็กผู้หญิง เพื่อนผู้หญิงที่สนิท คุณย่า คุณยาย หรือกับสัตว์ที่เรามีความเอ็นดูเป็นพิเศษ แต่เราจะไม่ใช่คำเหล่านี้กับคนที่เราไม่สนิท จะดูไม่เหมาะสมอย่างมาก

4. ซามะ (さま)

คำว่า ‘ซามะ’ เป็นคำที่สุภาพและเป็นทางการมากที่สุดในบรรดาคำลงท้ายชื่อที่กล่าวมาข้างต้น คำนี้เป็นคำทางการของคำว่า ‘ซัง’ มักจะถูกใช้เพื่อต้องการจะสนทนากับบุคคลที่มีชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่า เช่น ลูกค้า เป็นต้น และถ้าหากใครจะชอบดูอะนิเมะอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘คามิซามะ’ ที่แปลว่าพระเจ้า เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า ‘ซามะ’ ลงท้ายชื่อจะเป็นการให้เกียรติมากที่สุด ถ้าเป็นลูกค้าก็เปรียบได้กับว่าลูกค้าคือพระเจ้า

คำที่ใช้ลงท้ายชื่อในภาษาญี่ปุ่นยังมีอีกหลายคำและซับซ้อนอีกมากเมื่อเรียนไปจนถึงขั้นที่ยากขึ้น แต่หากเราใช้เพียง 4 คำนี้ในระดับเบื้องต้นได้อย่างธรรมชาติและถูกต้อง เราก็จะเป็นคนต่างชาติที่ขยับเข้าไปใกล้กับเข้าว่า ‘คนใน’ มากขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่ ‘คนใน’ ในตอนนี้ก็ตาม แต่ถ้าเราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นแล้ว การเรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยเฉพาะการใช้คำสุภาพในรูปแบบต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องใด