จะเรียนให้มีประสิทธิภาพและจำในสิ่งที่เรียนได้ นอกจากจะตั้งใจเรียนในห้องเรียนแล้ว ก็ต้องทบทวนสิ่งที่ได้เรียนมาด้วย แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือถ้าเรียนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะคุณครูสอนไม่รู้เรื่อง (taught ineffectively) หรือมีปัจจัยที่นอกเหนือจากตัวเรามาทำให้การเรียนเรามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ในห้องเพื่อนเล่นกันไม่ยอมตั้งใจเรียน คุณครูเลยต้องสนใจเพื่อนมากกว่า เป็นต้น เราจะมาบอกเทคนิคง่าย ๆ แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่จะช่วยให้เราเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดชีวิต เทคนิคนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Spaced Repetition’ แต่ก่อนที่เราจะไปรู้ว่ามันดีอย่างไร เราไปดูกันก่อนว่า Spaced Repetition คืออะไรค่ะ

Spaced Repetition คืออะไร?

ก่อนที่เราจะไปรู้จักกับเทคนิคอย่างลึก ๆ เรามาทำความเข้าใจกับกลไกในสมองของเราก่อนค่ะ ในบทความหนึ่งที่เขียนโดยคุณ Leon Ho ใน How to Use Spaced Repetition to Remember What You Learn ได้พูดเอาไว้ว่าที่จริงแล้วสมองของเราก็แค่ต้องการเพียงไม่กี่สิ่ง หลังจากที่สมองเราได้เรียนรู้อะไรมา เราก็แค่ต้องทบทวนในช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด พูดง่าย ๆ คือเราต้องปัดฝุ่นให้กับข้อมูลที่ได้มาอยู่เสมอ เช่น วันนี้ได้เรียนศัพท์ใหม่คำว่า ‘案内する’ อ่านว่า ‘อันไนสุรุ’ ที่แปลว่า แนะนำ, นำเที่ยว, บอกทาง ถ้าเราเรียนเสร็จแล้วแต่ไม่ได้กลับมาทบทวนทันทีในวันนั้นเลย ก็จะลืมไปในที่สุด เพราะฉะนั้นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราเรียนแล้วจำได้คือ ยิ่งเราทบทวน ยิ่งเราพูดถึงสิ่งนั้นมากเท่าไร เหมือนเราได้ ‘Refresh’ ข้อมูลอยู่เสมอ เราก็จะจำสิ่งนั้นได้ในที่สุด

ในบทความนั้นคุณ Leon Ho ยังพูดถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนหรือข้อมูลที่เราได้รับมาแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่ได้รับมามีมากน้อยแค่ไหน และเราใช้ความพยายามมากน้อยแค่ไหนการทบทวนเพื่อให้เรายังจำข้อมูลเหล่านั้นได้อยู่ เพราะฉะนั้นเราควรกำหนดเวลาต่อวันไปเลยว่าเราจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการทบทวน ขอให้เป็นช่วงเวลาที่เรามีทั้งอารมณ์และความตั้งใจที่อยากจะทบทวน (intensity of our emotions และ intensity of our attention) จะเป็น 30 ต่อวันก็ได้ หรือบางคนทำได้มากกว่านั้น แต่ขอให้ทำทุกวัน รักษาความสม่ำเสมอ (Consistency) เอาไว้ให้ได้ก็เพียงพอค่ะ นอกเหนือจากเรื่องของการจัดตารางให้กับตัวเองให้ได้ทบทวนในแต่ละวันแล้ว ในบทความยังได้มีการแนะนำวิธีที่จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน และง่ายกว่าการกำหนดตารางไว้ให้ด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้นตอนค่ะ มีอะไรกันบ้างไปดูกันเลย

1. REVIEW YOUR NOTES

เวลาเราจดโน๊ตเอาไว้ ไม่ว่าจะในสมุดหรือที่ไหนก็ตาม ให้เรามั่นใจว่าภายในเวลา 20-24 ชั่วโมง เราได้อ่านในสิ่งที่เราจดเอาไว้แล้วหรือยัง ไม่จำเป็นต้องจำให้ได้ ณ เวลานั้นเลย อ่านให้ครบที่จดมาและหลังจากอ่านแล้ว ในระหว่างที่ทำอย่างอื่น ให้พยายามนึกให้ได้ว่ามีประเด็นไหนที่สำคัญบ้าง ขั้นตอนนี้เหมือนเราปัดฝุ่นให้สมองเราค่ะ เพราะการนำสิ่งที่เราจดมาอ่าน มันคือรื้อเอาสิ่งที่เรียนไปออกมาอีกครั้ง ก็คือการนำออกมาเคาะฝุ่นให้มีความสดใหม่เสมอนั่นเองค่ะ

2. RECALL THE INFORMATION FOR THE FIRST TIME

หลังจากนั้น 1 วัน ให้เราพยายามนึกถึงสิ่งที่เรียนไป โดยไม่ดูโน๊ตที่จดเอาไว้ ถึงดูได้ก็ให้ดูไม่มาก นอกจากนั้นเวลาเดินหรือนั่ง หรือทำสิ่งไหนอยู่ก็ตาม ให้พยายามนึกอยู่เสมอว่าที่เราเรียนไปมีอะไรบ้าง ประเด็นที่สำคัญมีอะไรบ้าง ลองทำ Flashcard หรือลองทำควิซให้ตัวเองทำดู เพื่อทดสอบความจำและความเจ้าใจ

3. RECALL THE MATERIAL AGAIN

หลังจากนั้น ในทุก ๆ 24 – 36 ชั่วโมงหลังจากได้เรียนให้พยายามเอาสิ่งที่จดมาอ่านอยู่เสมอ ในขั้นตอนนี้จะไม่เน้นว่าจะต้องใช้เวลาอย่างนานเป็นชั่วโมง แต่ให้ทันสม่ำเสมอ เช่น นั่งอยู่ในรถระหว่างไปเรียนก็ให้หยิบโน๊ตมาอ่านเรื่อย ๆ หรือทำ Flashcard ไว้มาดูระหว่างรอคาบเรียนถัดไป พยายามตั้งคำถามให้กับประเด็นที่ได้เรียนมาเพื่อให้เรานึกถึงสิ่งนั้นอยู่เสมอและจำได้

4. STUDY IT ALL OVER AGAIN

หลังจากผ่านไปหลาย ๆ วันแล้วได้ลองทำตามขั้นตอนที่ 1 ถึง 3 แล้ว ให้นำสิ่งที่จดไว้ในโน๊ต หรือหนังสือกลับมาอ่านและทำความเข้าใจอีกครั้ง สำหรับใครที่จะสอบ แนะนำให้ทำก่อนสอบ 1 สัปดาห์ เพราะถ้าเราเร่งรีบเกินไป และต้องจำหลายวิชา สมองเราไม่มีเวลามากพอที่จะประมวลข้อมูลได้ค่ะ หรือดูจากภาพข้างล่างให้เข้าใจง่าย ๆ ค่ะ 

ไม่ว่าที่เรียนอยู่จะเป็นเนื้อหาแบบไหนก็ตาม จะต้องใช้ความเข้าใจหรือท่องจำก็ตาม แต่ให้เรานึกเอาไว้สมองว่าสมองของเรารับเรื่องใหม่ ๆ ทุกวัน และเมื่อเรื่องไหนที่ไม่ได้รับการทบทวนหรือนำกลับมาทำซ้ำ ก็จะถูกกลายเป็นขยะไปในที่สุด เพราะฉะนั้นเพื่อให้สิ่งที่เราได้เรียนมาหรือได้รับรู้มาไม่กลายเป็นขยะ เราก็ต้องพูดถึงเรื่องนั้นบ่อย ๆ อ่านบ่อย ๆ ทบทวนบ่อย ๆ เพราะกุญแจสำคัญของวิธี ‘Spaced Repetition’ ก็คือทำซ้ำ ทำเป็นประจำในช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพจนสมองเคยชินนั่นเองค่ะ