หนังสือเรื่อง How we learn : The new science of education and the brain โดยคุณ Stanislas Dehaene ซึ่งเป็น Neuroscientist ระดับแถวหน้าของยุโรป ได้พูดถึงหลักการการเรียนรู้ของมนุษย์ ผ่านการศึกษาการทำงานของสมอง รวมถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และประสบการณ์ที่เด็ก ๆ ได้รับในโรงเรียน เป็นหนังสือที่น่าสนใจเป็นอย่างมากครับ

และในตอนท้ายของเล่ม ผู้เขียนได้ฝาก 13 ข้อคิดเอาไว้สำหรับพ่อแม่และคุณครูเพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ไปสู่ศักยภาพสูงสุด ผมได้ตกผลึกส่วนที่สำคัญเอามาไว้ให้ตามนี้ครับ

1. เด็ก ๆ มีความสามารถมากกว่าที่เราคิดตั้งแต่เกิด

จากการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสมอง ตั้งแต่เกิด เด็กทุกคนมีบางอย่างติดตัวมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานบางอย่างและทักษะพื้นฐานบางอย่าง เพราะฉะนั้นการคอยสังเกตความสามารถของเขาและส่งเสริมให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

2. อย่าปล่อยให้ช่วงวัยเด็กผ่านไปอย่างไร้ค่า

ตั้งแต่แรกเกิด สมองและระบบประสาทต่าง ๆ ในสมอง มีความ sensitive ต่อการเรียนรู้สิ่งใหม่มาก การเรียนรู้บางอย่างจะทำได้ดีมากในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของภาษาที่สอง เพราะฉะนั้นอย่ารอให้สายเกินไปที่จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้บางอย่าง

3. สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ดีให้กับเด็ก ๆ

บ้านและโรงเรียนต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดี อย่างเช่นการที่บ้านมีหนังสือให้เด็กอ่าน มี Puzzle ให้เด็กได้เล่น ได้หัดใช้สมองเพื่อแก้ปัญหา หรือการพูดคุยในเรื่องมีสาระบางอย่างเพื่อฝึกให้เด็ก ๆ ได้คิด ได้แสดงความคิดเห็น ได้จินตนาการ เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กมีทักษะในการเรียนรู้ที่พร้อม และมีทัศนคติต่อการเรียนรู้ที่ดีในวันข้างหน้า

4. แม้เด็กทุกคนแตกต่าง แต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน

เด็กทุกคนมีความแตกต่างในเรื่องความชอบ ความถนัด วิธีการเรียนรู้ และอีกหลายอย่าง แต่ก็มีบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น มีการทำงานของสมองที่เหมือนกัน มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เรื่องพื้นฐานของชีวิตเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการใช้ภาษา (Literacy) และการคิดคำนวณ (Numeracy) นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นกับเด็กทุกคน อย่ามีความคิดว่าคนนี้ไม่เก่งเลข ไม่ต้องส่งเสริมเรื่องเลข หรือคนนี้ไม่เก่งภาษา ไม่ต้องส่งเสริมเรื่องภาษา เพราะนั่นจะทำให้เด็ก ๆ เขาขาดสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต

5. ความสนใจเรียนรู้ เป็นเรื่องใหญ่

ถ้าครูสอนไม่น่าสนใจ ถ้าโรงเรียนไม่ทำให้เด็กอยากเรียนรู้ เรื่องเหล่านี้อย่าปล่อยผ่าน เพราะถ้าเด็กขาดความสนใจที่จะเรียนรู้แล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ แต่นอกจากเรื่องของครูกับโรงเรียน สิ่งแวดล้อมรอบตัวเขารวมถึงที่บ้านก็มีความสำคัญ การคอยพูดคุยเพื่อค้นหาสิ่งที่เขาสนใจ ก็มีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง

6. ให้เด็ก ๆ มีส่วนร่วมและอยากรู้อยากเห็นอยู่เสมอ

การเรียนรู้เกิดได้เสมอแม้ในนอกห้องเรียน ในวงสนทนาของผู้ใหญ่ ก็สามารถให้เด็ก ๆ เขามีส่วนร่วมได้ ด้วยการชวนเขาคิด ชวนเขาพูด ชวนเขาดู อย่างไรก็ดี อย่าคาดหวังว่าเด็ก ๆ จะเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้เอง การเรียนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยขาดการให้คำแนะนำที่เหมาะสม หรือคอยกระตุ้นเตือนต่าง ๆ สุดท้ายเด็กอาจไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

7. ให้การไปโรงเรียนเป็นเรื่องสนุก

ให้เด็ก ๆ เขาได้ภูมิใจกับการที่ตัวเองเติบโตขึ้นและพัฒนาขึ้นในทุก ๆ วัน อย่าเอาแต่ลงโทษเมื่อทำผิด แต่ให้เห็นความผิดพลาดนั้นเป็นเรื่องสนุกที่จะมาหาทางปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น และคอยชื่นชมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาทำได้ดีขึ้น ให้เขาได้เห็นข้อดีของตัวเอง และเห็นความสนุกที่จะได้เรียนรู้ในทุก ๆ วัน

8. ให้ความสำคัญกับความพยายาม

แม้ผลลัพธ์จะผิดพลาด แต่ความพยายามก็ยังต้องได้รับการชื่นชม เด็กที่ถูกสอนให้ยึดติดกับผลลัพธ์ ชนิดที่ว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีถึงได้คำชมนั้น สุดท้ายจะกลายเป็นคนที่ไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะผิดพลาด แต่หากสอนให้เขาเห็นคุณค่าของความพยายามแล้ว เขาจะกล้าเรียนรู้ กล้าผิด กล้าลงมือทำ แล้วเขาก็จะเติบโตได้จริง ๆ

9. ชวนเด็ก ๆ คิดใคร่ครวญให้ลึกขึ้น

บางเรื่องอาจแค่จำแล้วเอาไปใช้ได้ แต่มันคุ้มค่าที่จะชวนเด็ก ๆ คิดถึงเหตุผลเบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น รวมถึงที่มาที่ไปของสิ่งต่าง ๆ การฝึกให้เด็ก ๆ ตั้งคำถาม และพยายามหาเหตุผล โดยไม่เชื่อทุกอย่างไปเสียหมดโดยขาดการไตร่ตรอง จะทำให้เขาเผชิญหน้ากับปัญหาที่ยากขึ้นในอนาคตได้ อย่างมีสติและมีเหตุผล

10. มีเป้าหมายในการเรียนรู้ที่ชัดเจน

อย่าลืมที่จะอธิบายว่า เราจะเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ไปทำไม การขาดเหตุผลว่าทำไปทำไม เป็นการทำลายแรงจูงใจที่ร้ายกาจที่สุด การบอกให้เรียน ๆ ไปโดยไม่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ สุดท้ายการเรียนรู้ย่อมไม่เกิดขึ้น

11. ยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขข้อผิดพลาด

ยกตัวอย่างเช่นในการสอบวัดผลต่าง ๆ เมื่อได้คะแนนมาแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าการชื่นชมว่าได้คะแนนเท่าไร คือการเอาสิ่งที่ยังผิดพลาดมาเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุว่าผิดพลาดเพราะอะไร ขาดความเข้าใจตรงไหน ขาดการทบทวนตรงไหน ขาดเทคนิคที่สำคัญอย่างไร แล้ววางแผนเพื่อหาทางแก้ไขและทำให้ดีขึ้นในครั้งถัด ๆ ไป

12. ฝึกฝนสม่ำเสมอ

ชวนเด็ก ๆ ให้ฝึกฝนสม่ำเสมอในทุก ๆ เรื่อง ให้เด็ก ๆ เขาได้เห็นความจริงของการเรียนและพัฒนาตัวเองว่าเราจะเก่งขึ้น สนุกขึ้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เมื่อเรามีความคุ้นเคย และความคุ้นเคยนั้นย่อมได้มาจากการฝึกฝนซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

13. นอนหลับให้เพียงพอ

การเรียนรู้เกิดขึ้นเวลาเราตื่น ส่วนสมองจะตกผลึกสิ่งที่เราเรียนรู้มาแล้วนั้นในช่วงที่เรานอนหลับ มีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สมองมากมายที่ชี้ให้เห็นว่ายิ่งคุณภาพของการนอนดีเท่าไร ผลลัพธ์จากการเรียนรู้ก็จะดีขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่มีบทบาทเป็นอย่างมากที่จะสร้างนิสัยในการนอนหลับให้เพียงพอให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้สมองของเขาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจริง ๆ

และสุดท้ายอย่าลืมว่า มนุษย์เราจะทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีเมื่อเขามีความสุขและรักที่จะทำในสิ่งนั้น การหาสิ่งที่ Born to be ให้เจอ เป็นสิ่งที่มี Passion สูงสุด และการตอบได้ว่าเป้าหมายในชีวิต (Life Purpose) ที่ยิ่งใหญ่ของตัวเองคืออะไร คือวัตถุดิบชั้นเยี่ยมที่จะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จและศักยภาพสูงสุดได้

ทีม Consult ของ APSthai และ Krutoo พร้อมให้คำแนะนำในการวางแผนการเรียนในแต่ละชั้นปี การรู้จักตัวเองมากขึ้นด้วย Career Test และการวางกลยุทธ์สำหรับ Top University และ Careers สำหรับอนาคต ติดต่อเข้ามาพูดคุยกับเราได้ที่ 084-320-1789, 083-179-9630, และ Line @apsthai นะครับ

เพราะทุกคนสมควรได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ในแบบของตัวเอง
APSthai : The best education in your own version