Personal Statement เป็นส่วนสำคัญของการสมัครเข้าเรียนในประเทศอังกฤษ เนื่องจากเป็นโอกาสสำคัญในการแสดงความสามารถและประสบการณ์ของตัวเองให้ทางมหาวิทยาลัยได้คัดเลือก ดังนั้น เราควรตั้งใจและเตรียมตัวเองให้มีโปรไฟล์ที่มากพอที่จะเขียนเพื่ออธิบายตัวเองได้ ด้านล่างนี้เป็นแนวทางในการเขียน Personal Statement ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนประเทศอังกฤษค่ะ

แต่ก่อนที่จะไปดูวิธีการเขียน เรามาดูคำถามที่จะช่วยให้เราเริ่มเขียน Personal Statement ได้มีอะไรบ้าง โดยอ้างอิงจาก UCAS ค่ะ

  • ทำไมเราถึงได้เลือกเรียนคอร์สนี้ (Why have you chosen this course?)
  • อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณมีความสนใจในวิชานี้ (What excites you about the subject?)
  • สิ่งที่คุณเรียนมาก่อนหน้านี้ได้เกี่ยวข้องกับคอร์สที่คุณสนใจหรือไม่ (Is my previous or current study relevant to the course?)
  • ได้ไปลองฝึกงานที่จะช่วยให้เข้าใจในคอร์สที่คุณเรียนบ้างหรือยัง (Have you got any work experience that might help you?)
  • มีประสบการณ์ในชีวิตอะไรบ้างที่สามารถเล่าได้ (What life experiences have you had that you could talk about?)
  • มีเรื่องที่ตัวเองประสบความสำเร็จแล้วภูมิใจหรือไม่ (What achievements are you proud of?)
  • มีทักษะไหนบ้างที่ทำให้คุณเหมาะสมกับคอร์สนี้ (What skills do you have that make you perfect for the course?)
  • มีเป้าหมายและความตั้งใจอะไรไหมหลังจากเรียนจบ (What plans and ambitions do you have for your future career?)

เมื่ออ่านจาก Guideline ที่ทาง UCAS ได้ให้ไว้ บอกได้คำเดียวว่าถ้าไม่รู้ว่าตัวเอง Born to be อะไร จะเขียนได้ยากมาก เพราะทุกคำถามคือการตอบเกี่ยวกับตัวเอง และเน้นย้ำถึงเป้าหมายในชีวิตที่จะต้องวางแผนมาตั้งแต่ก่อนขึ้นมหาวิทยาลัย เพราะฉะนั้นนอกจากเรียนให้ได้เกรดที่ดีแล้วไม่พอ ต้องหาตัวตนของตัวเองให้เจอด้วย ที่นี่เรามาดูกันว่า แล้วถ้าตอนนี้อยากจะเริ่มเขียนเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นด้วยการรู้จักตัวเอง

ก่อนที่เราจะเริ่มเขียน ให้มั่นใจก่อนว่าเรารู้จักตัวเองแล้วหรือยัง ที่จริงแล้วจะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนขึ้น Year 12 เพราะจะต้องเลือกวิชา A-Level ให้สอดคล้องกับคอร์สที่อยากจะเรียน ทำไมจะต้องรู้จักตัวเอง เพราะในการเขียน Personal Statement เราจะต้องอธิบายทักษะและความสามารถของตัวเอง รวมไปถึงต้องเล่าให้ได้ว่าประสบการณ์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอดีตที่ช่วยให้โปรไฟล์เราแน่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการอาสาสมัคร (Volunteer) หรือกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับคอร์สที่เราสนใจ (Super-curricular) หรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน (Extra-curricular) และที่ง่ายที่สุดคือการอ่านค่ะ (Reading) กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะและความสามารถของเราให้มีความพร้อมที่จะเรียนในคอร์สนี้และมหาวิทยาลัย ใครที่ยังไม่รู้จักตัวเองและอยากให้ทางเราช่วย มาทำ Career Test ให้ทางเราวางแผนการเรียนได้นะคะ

เน้นความเป็นตัวตนของเรา

เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว เราก็จะมีความชัดเจนใสตัวตนของเรา ให้เป็นตัวเราเองเขียน Personal Statement ไม่ควรลอกเลียนแบบหรือใช้คำพูดที่ไม่เป็นธรรมชาติ ต้องมั่นใจว่า Personal Statement ของเราสะท้อนตัวตนและประสบการณ์ของเราอย่างดีแล้ว ไม่ควรที่จะนำคำพูดใน Personal Statement ของใครมาเขียนในงานของตัวเอง เพราะถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่เรา ทาง Admissions Team ก็รู้อยู่ดีค่ะ เพราะบางมหาวิทยาลัยในตอนนี้มีเรียกสัมภาษณ์ด้วย ถ้าเกิดเขียนอะไรที่ไม่ใช่ความจริงแล้วเขาถามในตอนนั้น เราจะตอบไม่ได้ หรือต่อให้ตอบได้ก็ไม่ได้ลึกจริง เพราะทีม Admissions Team ส่วนใหญ่ก็เป็น Professors หรือ Specialist ในด้านที่เราเรียนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ตัวเอง อย่าเขียนลงไปค่ะ

ใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง

ถ้าต้องการจะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษ เรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องพึงระวังคือให้ใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง เพราะการงานเขียนงานทางวิชาการไม่เหมือนการเขียนทั่วไป ให้ตัวเองมั่นใจว่าเรามีภาษาในระดับที่ดีพอทั้ง 4 ทักษะ ไม่จำเป็นต้องเขียนไวยากรณ์ที่ยาก แต่ให้เข้าใจง่ายและถูกต้อง ใช้ภาษาอย่างชัดเจนและถูกต้อง ตรวจสอบการใช้ไวยากรณ์และการสะกดคำ อ่านให้แน่ใจว่าไม่มีข้อความที่ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจซึ่งอาจส่งผลให้มีความผิดพลาดในการตีความหมาย ที่สำคัญให้วางโครงสร้างในการเขียนให้ดี ให้มีความสอดคล้องกัน ในส่วนนี้ไม่เกี่ยวว่าเราเรียนอยู่ในโรงเรียนอินเตอร์หรืออยู่ที่ประเทศอังกฤษ เพราะฉะนั้นในขณะที่เขียนอยู่ แนะนำให้คุณครูช่วยดู ว่างานเขียนเราอ่านเข้าใจไหม มีตรงไหนที่ผิดจะได้สามารถแก้ไขได้ทัน หรือจะต้องเติมส่วนไหนให้งานเขียนเราดีขึ้น ก็จะช่วยทำให้ Personal Statement ของเราน่าเชื่อถือมากขึ้นค่ะ

รักษาความยาวที่เหมาะสม

ความยาวในการเขียน Personal Statement มีเพียงแค่ 4000 characters หรือตัวอักษรเท่านั้น ควรมีความยาวที่เหมาะสม ไม่ควรยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป เพราะฉะนั้นเวลาเขียนงานของตัวเอง ควรเลือกประเด็นที่น่าสนใจ ที่โชว์ให้ทางมหาวิทยาลัยรู้ว่าเราเหมาะสมกับคอร์สนี้ ไม่ควรใช้ Quote ที่ไม่เกี่ยวข้องให้เปลืองพื้นที่ แต่ให้โชว์ความสนใจ สิ่งที่ตัวเองไปทำมา เพราะฉะนั้นเราควรมีการเขียน draft เอาไว้ก่อนที่จะเขียนจริง เพื่อได้รู้ว่าด้วยความยาวที่กำหนดไว้เท่านี้ เราควรเขียนประเด็นไหนลงไปบ้างเพื่อทำให้เราเป็นผู้สมัครที่น่าสนใจที่สุดค่ะ

จำไว้ว่า Personal Statement เป็นโอกาสที่ดีในการนำเสนอตัวเองให้ทางมหาวิทยาลัยได้รู้ จึงควรใช้เวลาในการเขียนและปรับปรุงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่าละเลยโอกาสในการแสดงความสามารถและความพิเศษของตัวเอง เพราะนี่เป็นโอกาสเดียวของเราแล้วนะคะ