ครั้งแรกที่โดนถามคำถามนี้เมื่อหลายปีก่อน เราคิดว่านี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ

เราพยายามหาคำตอบ จากการสอบถาม Top Uni ต่าง ๆ โดยตรงเมื่อได้มีโอกาสไป Meeting กับเขา รวมถึงการถามจากโรงเรียนระดับท็อปในต่างประเทศ ที่เราเป็น Partner อยู่ด้วย คำตอบเกือบทั้งหมดที่เราได้รับกลับมานั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก และใจความสำคัญก็คือ

“ไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้หรอก ว่าต้องอ่านกี่เล่ม”

ไม่น่าแปลกใจเท่าไรสำหรับคำตอบแบบนี้ เพราะสิ่งที่เราได้รับจากการ Meeting กับ Top Uni ต่าง ๆ ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มันก็ทำให้เราได้รู้ว่า มันไม่ใช่เรื่องของปริมาณของหนังสือที่อ่านว่าคือกี่เล่ม แต่มันคือเรื่องของคุณภาพของการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่านหนังสือเสียมากกว่า

เราเคยเจอคนที่เขียนใน Personal Statement ที่เขียนชื่อหนังสือที่ตัวเองอ่านเป็นสิบ ๆ เล่มลงไปใน Personal Statement และถูกปฏิเสธจาก Top Uni ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า Personal Statement ที่เขียนมานั้นอ่อนเกินไป ซึ่งพอวิเคราะห์ Personal Statement ที่เขียนมาแล้ว ก็เข้าใจได้ทันทีว่า เรื่องราวที่เขียนมาไม่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนได้อะไรจากการอ่านหนังสือเหล่านั้นบ้าง และเอาไปต่อยอดการเรียนรู้ต่อ ๆ ไปอย่างไรบ้าง มีแต่การเขียนเล่าว่าอ่านหนังสือเล่มไหน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ เลย

และเรากลับพบว่า คนส่วนใหญ่ที่เข้า Top Uni ได้นั้น เขาพูดถึงหนังสือใน Personal Statement ไม่มากไปกว่า 3 เล่ม และบางคนเขียนถึงเพียง 1 เล่มเท่านั้น แต่พออ่าน Personal Statement แล้วพบว่า เห็นภาพชัดเจนว่า เส้นทางการเรียนรู้ของคน ๆ นี้เป็นอย่างไร จากหนังสือเล่มหนึ่ง โยงไปสู่งานวิจัยเรื่องหนึ่ง นำไปสู่การประกวดแข่งขันครั้งหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับการฝึกงาน ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ Top Uni อยากเห็น เพราะมันแสดงให้เห็นว่าคน ๆ นี้เขามีความใฝ่รู้ในสิ่งที่ตัวเองเลือกจริง ๆ

บางคนอ่านมาถึงตรงนี้ อาจอนุมานเอาว่า คำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ อ่านแค่ 1 – 3 เล่มก็พอแล้ว

เปล่าเลยครับ มันไม่ใช่แบบนั้นเลย

พอเราถามคนเหล่านั้นที่เขียน Personal Statement แล้วเล่าถึงหนังสือที่ตัวเองอ่านในนั้นแค่ไม่กี่เล่ม ว่าจริง ๆ แล้วเขาอ่านหนังสือกี่เล่ม คำตอบที่เราได้ส่วนใหญ่ก็คือ ไม่เคยนับเลยว่าอ่านไปกี่เล่ม มันเยอะมากจนจำไม่ได้ และไม่ใช่แค่หนังสือเท่านั้นที่อ่าน แต่ยังมี Paper มี Journal มีงานวิจัยต่าง ๆ มากมาย แถมยังมี Podcast ที่ฟัง มี Youtube ที่ดู มีสัมมนาที่ไปเข้าร่วมอีกนับไม่ถ้วน

ซึ่งพอถามว่า แล้วทำไมไม่เล่าทั้งหมดให้มันครบ คำตอบที่ได้ก็คือ ถ้า Personal Statement เขาให้เขียนได้สัก 40,000 ตัวอักษรก็คงพอจะเป็นไปได้ แต่นี่ให้แค่ 4,000 ตัวอักษร ก็ต้องเล่าเรื่องที่สำคัญที่สุดเป็นหลัก อย่างไรก็ดี เขาต่างก็พูดไม่ต่างกันว่า แต่เรื่องทั้งหมดที่ผ่านมานั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ยากมากทีเดียวที่ต้องตัดหลาย ๆ เรื่องทิ้ง ด้วยข้อจำกัดที่ Personal Statement มีให้

นั่นแสดงให้เห็นว่า บนเส้นทางการเรียนรู้ของคนที่เข้า Top Uni ได้นั้น เขาเรียนรู้แทบจะตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งเคล็ดลับที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้คน ๆ หนึ่งเรียนรู้แทบจะตลอดเวลาได้ นั้นก็มีเพียงหนึ่งเดียวคือ มันต้องเป็นสิ่งที่เขารัก เขาชอบ เขา Born to be เขามี Passion และตรงกับ Life Purpose ของเขาจริง ๆ

ลองถามตัวเองดูนะครับ ถ้าคำถามในใจของเราวันนี้คือ อยากให้ Top Uni ชอบ ต้องอ่านหนังสือกี่เล่ม นั่นแปลว่าเราอาจจะกำลังเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป เราอาจแค่เพียงต้องการจะเอาใจ Top Uni และพยายามจะทำตามเงื่อนไขที่เขาตั้งเอาไว้

ซึ่งนั่นจะไม่มีวันทำให้เราทำสำเร็จได้เลย เพราะเงื่อนไขเหล่านั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง

คนที่จะเข้า Top Uni ได้ จะไม่มีคำถามข้อนี้ในใจ เขาจะลืมเรื่องนี้ไปเสียด้วยซ้ำ เพราะในทุก ๆ วันเขาสนุกกับการทำสิ่งที่เขารัก เขาชอบ เขาถนัด เขาอ่านหนังสือเพราะเขาอยากอ่าน อยากรู้ อยากเข้าใจ ไม่ใช่อ่านเพื่อนับแต้มว่าอ่านไปแล้วกี่เล่ม เขาลงมือค้นคว้า สร้างสรรค์ Profile ต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่ได้เพียงเพื่อเอาใจใคร แต่ทำเพราะตัวเองมีความสุขที่ได้ทำจริง ๆ

คนแบบนี้ จะเข้า Top Uni ได้ และจะประสบความสำเร็จในชีวิตในระยะยาวได้ในที่สุด

APSthai : The Best Education In Your Own Version