สมัยนี้คนพูดถึง GED กันมากขึ้น ในฐานะของการสอบที่เทียบเท่ากับวุฒิการศึกษาระดับ High school ที่สามารถสอบให้ผ่านได้ในระยะเวลาอันสั้น และดูเหมือนจะไม่ยากนัก เมื่อเทียบกับหลักสูตรอย่าง A-level หรือ IB แถมมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศต่างก็ให้การยอมรับ ให้นักเรียนที่มีวุฒิ GED ใช้วุฒินี้สมัครเข้าไปเรียนต่อได้

ฟังดูแล้วก็เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร หรือจริง ๆ แล้วอาจมีปัญหาบางอย่างที่เรามองข้ามไปกันแน่ เพียงเพราะว่ามันเร็วกว่าและง่ายกว่า

เปรียบเทียบ GED กับ A-levelและ IGCSE

ในเชิงการสอบ GED สอบทั้งหมด 4 skills ได้แก่

  • Mathematics Reasoning
  • Reasoning Through Language Arts
  • Social Studies
  • Science

ซึ่งทั้ง 4 ด้านนี้ ความรู้ที่ต้องใช้ในการสอบ อยู่ที่ระดับ IGCSE ซึ่งถูกคนเข้าใจผิดไปมากว่าเทียบเท่ากับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่จริง ๆ แล้วเป็นความรู้ระดับความรู้รอบตัวทั่วไป และไม่ได้มากไปกว่ามัธยมศึกษาตอนต้นเลย

ในขณะที่ A-level นั้น เป็นการเรียนความรู้เชิงลึกในวิชาที่เลือก ต่อยอดจากการเรียนความรู้ระดับชีวิตประจำวันอย่าง IGCSE ถ้าเปรียบเทียบกับหลักสูตรไทย A-level บางวิชาในบางหัวข้อนั้นมีระดับเนื้อหาที่เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยปี 1 หรือปี 2 ด้วยซ้ำ และนักเรียนเรียนแค่ 4 วิชา (เลือกเองอย่างอิสระ) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อยากเรียนในมหาวิทยาลัย และ สิ่งที่อยากทำต่อไปในอนาคต ทำให้นักเรียนมีความพร้อมสำหรับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยและการประกอบอาชีพมาก ๆ

บางคนอาจมอง GED ในแง่ดีว่า เป็นการสอบที่ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ได้แก่การอ่าน การตีความ การให้เหตุผล ซึ่งจริง ๆ แล้วหลักสูตร A-level ก็มีการฝึกทักษะเหล่านี้ แทรกอยู่ในเนื้อหาการเรียนเชิงลึกด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่า A-level ได้ทั้งทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับการต่อยอดเลยทีเดียว

ทางลัด ที่ไม่ใช่ทางรอด

GED เป็นหลักสูตรที่ไม่ต้องผ่านการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ใช้การอ่านหนังสือเตรียมสอบไม่นาน ก็สามารถสอบให้ผ่านได้ หลาย ๆ คนจึงมองว่าเป็นทางลัดที่ทำให้ผ่านเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยได้เร็วขึ้น แต่จริง ๆ แล้วความเร็วที่ว่านี้ อาจทำให้นักเรียนขาดกระบวนการเรียนรู้บางอย่างหรือไม่ ?

ในขณะที่ A-level ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี หรือโดยปกติ 2 ปี เน้นการเรียนทั้งด้านทฤษฎี ปฏิบัติ การคิดวิเคราะห์ และเรียนวิชาการเชิงลึกในสิ่งที่จะนำไปใช้ต่อในอนาคต จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นักเรียนที่จบ A-level นั้นจะมีความพร้อมสำหรับก้าวต่อไปในชีวิตมากกว่านักเรียนที่มีวุฒิ GED มาก ๆ

และปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและเริ่มตื่นตัวกับเรื่องนี้ ได้เริ่มปฏิเสธที่จะรับนักศึกษาโดยการใช้วุฒิ GED แล้ว หรืออย่างมาก GED ก็จะถูกเทียบให้เท่ากับวุฒิพื้นฐานที่ต้องมี แต่นักเรียนต้องไปสอบวุฒิอย่างอื่นที่สูงกว่าเพิ่มอีกอยู่ดี เพื่อให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเข้าไปเรียนต่อ เพราะฉะนั้น ทางลัดที่ชื่อว่าดีอย่าง GED ก็อาจจะไม่ใช่ทางรอดอีกต่อไป

ขึ้นชื่อว่าการศึกษาแล้ว เราอย่ามัวแต่มองหาทางลัดกันเลยครับ เราหาทางที่มีคุณภาพ ให้เด็ก ๆได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองเก่ง รัก ชอบ ถนัดและมีความสุข ในหลักสูตรที่ดีที่สุดในที่ที่ดีที่สุด ที่เด็ก จะได้ทั้งความรู้ ทักษะ ไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษา และไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้ในที่สุด ดีกว่าครับ