เมื่อหลายปีก่อน มีโรงเรียนหนึ่งในประเทศอังกฤษ ที่จัดสอบนักเรียนทุก ๆ สัปดาห์ในเนื้อหาที่เรียนมาในสัปดาห์นั้น ๆ เพื่อดูว่านักเรียนเรียนรู้บทเรียนเหล่านั้นได้ดีแค่ไหน ปรากฎว่ามีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ผลการสอบแต่ละสัปดาห์นั้นคะแนนออกมาอยู่ในระดับที่ถือว่าค่อนข้างสูง คือเกิน 80% ตลอด บางทีก็ขึ้นไปถึง 95% เลยทีเดียว แน่นอนว่าถ้าเราเจอนักเรียนที่ผลการเรียนการสอบระหว่างเทอมสูงระดับนี้ตลอด เราคงคาดหวังได้ว่านักเรียนจะมีเกรดตอนสอบจริงไม่ต่ำกว่า A เป็นแน่แท้

แต่ปรากฎว่านักเรียนกลุ่มที่ว่านี้ กลับมีผลสอบจริงออกมาแค่เกรด C เท่านั้น

และการสอบที่ได้เกรด C นี้เป็นการสอบที่สำคัญมาก ๆ คือการสอบ AS-level หรือคะแนนครึ่งแรกของ A-level ทั้งหมด ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มนี้หมดหวังในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยระดับท็อปในประเทศอังกฤษเลยทีเดียว

คำถามคือเกิดอะไรขึ้น ?

เมื่อเห็นผลอย่างที่ว่า ครูที่โรงเรียนจึงทำการตรวจสอบหาสาเหตุ ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องสุดวิสัยบางอย่างหรือเปล่า เช่น นักเรียนไม่สบายในวันนั้น หรือเกิดความเครียดฉับพลัน แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ใช่สาเหตุเหล่านั้นเลย สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกรดออกมาแค่ C นั้น น่าตกใจกว่านั้นมาก

เมื่อครูวิเคราะห์ข้อสอบที่นักเรียนทำออกมาได้แค่ C ก็พบว่า คำถามที่นักเรียนตอบไม่ได้ หรือ ตอบผิด หรือ ตอบไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งที่นักเรียนเคยตอบไม่ได้ ตอบผิด หรือ ตอบไม่ครบถ้วน ในข้อสอบประจำสัปดาห์ที่เคยสอบไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งนั้น นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่นักเรียนสอบประจำสัปดาห์เสร็จ นักเรียนไม่เคยกลับไปดูเลยว่า สิ่งที่ตัวเองยังทำไม่ได้ ยังผิดพลาด ยังไม่เข้าใจ คืออะไร

เราให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า ระหว่างความสำเร็จ กับ ความผิดพลาด ?

หนึ่งในคำถามยอดนิยมของวงการพัฒนาตนเองก็คือ เราควรให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า ระหว่างความสำเร็จที่ได้มา กับ ความผิดพลาดความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าความสำเร็จก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่บอกว่าเราทำได้ดีแล้ว เพียงแต่ว่าถ้าเราหยุดอยู่แค่ว่าเราทำได้ดีแล้ว ก็แปลว่าเราเลือกที่จะไม่พัฒนาตัวเองต่อไป และเปิดช่องให้เรามีโอกาสล้มเหลวในวันข้างหน้าได้มากขึ้น

บางคนก็ให้ความสำคัญกับความผิดพลาดมาก ๆ แต่เป็นในมุมมองที่ผิดคือ อยู่กับความผิดพลาด ความล้มเหลว ด้วยความเศร้าเสียใจ โทษตัวเอง โทษคนรอบข้าง​ โทษสิ่งแวดล้อม แล้วก็เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดนั้น จริง ๆ สิ่งที่ควรจะทำมากกว่า คือ เราเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดเหล่านั้นได้บ้าง

กลับมาที่เรื่องที่กำลังเล่ากันอยู่ สิ่งที่ครูพบก็คือ นักเรียนไม่ได้สนใจกับสิ่งผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเมื่อไปถามนักเรียนดูก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ นักเรียนเหล่านี้ยอมรับว่า ในการสอบประจำสัปดาห์นั้น เมื่อได้คะแนนเกิน 80% ก็รู้สึกดีใจ รู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมันหมายถึงว่าอย่างน้อยเราก็ได้ A แล้ว จึงไม่เคยกลับไปสนใจเลยว่า ข้อที่ยังทำไม่ได้คืออะไร เนื้อหาที่ยังไม่เข้าใจคืออะไร

และในวันที่สอบ AS-level จริง ๆ นั้น ก็เจอเข้ากับตัวเองจริง ๆ ว่า มีข้อที่ทำไม่ได้หลายข้อ มีคำถามที่ไม่มั่นใจในคำตอบของตัวเองหลายเรื่อง ทั้งหมดนี้มาจากการที่นักเรียนไม่ได้เคยไปเรียนรู้เลยว่า สิ่งที่ตัวเองยังทำไม่ได้คืออะไร สิ่งที่ตัวเองยังขาดพร่องคืออะไร มัวแต่ดีใจไปกับสิ่งที่ตัวเองทำได้แล้วเท่านั้น

เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง ?

ในการสอบทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นสอบย่อย สอบใหญ่ quiz mock หรืออะไรก็แล้วแต่ เราต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดในทุกครั้ง และเมื่อทำเสร็จแล้ว สิ่งไหนที่ทำไม่ได้ สิ่งไหนที่ไม่เข้าใจ ก็ไปหาทางทำให้เข้าใจให้ได้ ข้อไหนยังตอบไม่ได้ ยังไม่รู้ ก็ต้องไปรู้วิธีทำมาให้ได้ ให้ตั้งเป้ากับตัวเองไปเลยว่า ต่อจากนี้เรียนอะไรก็ตามจะต้องเรียนให้รู้ ให้เข้าใจ 100% ให้ได้ จะไม่มีคำว่าหยวน ๆ จะไม่มีคำพูดว่า “เรื่องนี้คงไม่ออกสอบ ไม่ต้องรู้ก็ได้” “เรื่องนี้คะแนนไม่เยอะ ไม่ต้องเข้าใจก็ได้” “เรื่องนี้ยากจัง ช่างมันเถอะ” ต้องเลิกนิสัยแบบนี้ แล้วเปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ว่า เราเรียนเพื่อที่เราจะรู้และเข้าใจทั้งหมด

ส่วนการสอบนั้น เรามีหน้าที่ทำให้เต็มที่ที่สุด สุดท้ายผลจะออกมาอย่างไร นั่นคือเรื่องของเหตุปัจจัยอื่นที่อาจเข้ามาผสมโรงด้วย แต่ขอแค่ว่าเราทำดีที่สุดแล้วแบบ 100% แล้ว นั่นคือสิ่งที่เราควบคุมได้

เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้เวลาผลสอบในห้องเรียนออกมา ถ้ายังไม่ได้ 100% ควรถามตัวเองว่า สิ่งที่ยังทำให้ดีขึ้นได้คืออะไร ข้อผิดพลาดที่ยังเกิดขึ้นที่สามารถเรียนรู้และแก้ไขได้คืออะไร เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับดีใจเสียใจ คือเราไม่ได้ต้องเครียดว่าถ้าไม่ได้ 100% แล้วต้องร้องไห้ ไม่ใช่อะไรแบบนั้นเลย ผลออกมาเท่าไรก็แค่ถามตัวเองว่าเราทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อย่างไรอีกบ้าง เอาจริง ๆ แม้กระทั่งได้ 100% แล้วยังควรถามตัวเองเลยว่า มีอะไรที่เราทำได้ดีมากกว่านี้อีกบ้าง

จงกระหายการเรียนรู้ จงกระหายที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดครับ สุดท้าย เราจะได้สิ่งที่สมควรที่สุด ตามแต่เหตุปัจจัยที่เราลงมือทำครับ