มีชาวต่างชาติคนหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า

“ผมได้รับโอกาสให้เข้าไปเป็นอาจารย์สอนในหลักสูตรอินเตอร์ ของโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เดิมทีสอนแต่หลักสูตรไทยมาก่อน เพิ่งเปิดสอนอินเตอร์ได้ไม่นาน คุณรู้ไหมว่าเปิดเทอมมาตั้งหลายวันแล้ว หลักสูตรของคลาสที่ผมจะต้องสอนโรงเรียนยังเขียนไม่เสร็จ โรงเรียนยังไม่มีคลาสเรียนอะไรให้เด็กเป็นเรื่องเป็นราว ให้เรียนภาษาอังกฤษไป ให้ทำกิจกรรมที่อ้างว่าเป็นกิจกรรมเสริมทักษะไป แต่การเรียนการสอนใด ๆ ยังไม่มีเลย ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเมื่อไรเขาจะให้ผมเริ่มได้สอนอย่างจริงจังเสียที”

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า มีด้วยหรือ ? โรงเรียนที่เปิดเทอมมาแล้วตั้งหลายวันแต่หลักสูตรยังไม่ชัดเจน แล้วถ่วงเวลาเด็กโดยการให้เรียนอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องไปวัน ๆ เอาจริง ๆ ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ ว่าเรื่องที่ชาวต่างชาติท่านนี้เล่ามาเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าถามผมว่าเป็นไปได้ไหม ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ แต่สุดท้ายผมแนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ครับ

อย่างไรก็ดี ที่ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ เพราะผมเคยเจอเคสที่ใกล้เคียงกัน ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาที่โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียน English Programme หรือโรงเรียน IEP หรืออะไรก็ตามผุดขึ้นมาในประเทศเราอย่างกับดอกเห็ด ว่าบ่อยครั้งที่โรงเรียนไม่ได้มีความชัดเจนเรื่องหลักสูตร หรือ ไม่ก็ไม่มีความรู้เรื่องหลักสูตรที่แท้จริง

สำหรับผมคำว่าอินเตอร์ นานาชาติ สองภาษา English Programme IEP หรืออะไรก็ตามแล้วแต่จะเรียกนั้น เป็นแค่ชื่อที่อุปโลกน์ขึ้นมา เราไม่สามารถใช้แค่คำนี้ในการวัดได้ว่าโรงเรียนนั้นเป็นโรงเรียนที่ดีหรือไม่ มีมาตรฐานระดับไหน จนกว่าเราจะแหกดูไส้ในของโรงเรียนไปเลยว่า หลักสูตรที่ใช้ ปรัชญาที่ใช้ ทีมงานและครูที่นำสิ่งเหล่านี้มาใช้ นั้นเป็นอย่างไร

เวลาโรงเรียนใด ๆ ก็ตามบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า เขาเป็นโรงเรียนที่สอนโปรแกรมอะไรต่าง ๆ ตามแต่จะตั้งชื่อข้างต้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องตรวจสอบต่อไปใน 3 ประเด็นนี้เป็นอย่างน้อยครับ

ประเด็นแรก โรงเรียนใช้หลักสูตรอะไร

ระบบอังกฤษ ระบบอเมริกัน ระบบ IB หรือระบบประเทศไหน สิ่งที่ต้องระวังให้มาก ๆ คือคำตอบชนิดที่ว่า เราบูรณาการหลักสูตรจากหลาย ๆ ประเทศมารวมกัน อันนี้ต้องระวังจริง ๆ เพราะมันฟังดูดี ฟังดูสวยหรู แต่การเอาหลักสูตรหลาย ๆ ประเทศมายำรวมกัน มีความเสี่ยงสูงมากที่โรงเรียนนั้นจะไม่เข้าใจปรัชญาการศึกษาของระบบต่าง ๆ แค่เอามาทับ ๆ ถม ๆ กันเราย่อมไม่สามารถเรียกสิ่งนี้ว่าการบูรณาการได้ และเมื่อทำไปอย่างไม่เข้าใจ สุดท้ายเด็กจะได้อะไร นอกจากภาระหน้าที่ที่มากขึ้นและทิศทางที่ไม่ชัดเจนในการเรียนและการเติบโตเท่านั้น

ประเด็นที่สอง โรงเรียนเข้าใจหลักสูตรมากแค่ไหน

บางโรงเรียนบอกว่าสอนระบบอังกฤษ เราเป็น Cambridge School เราสอน IGCSE ของ Cambridge พอถามว่าให้เด็กเรียนกี่วิชา ก็บอกว่า 6 วิชาพอแล้ว เพราะว่าขั้นต่ำในการเรียนจบคือ 5 วิชา แบบนี้เรียกว่าไม่เข้าใจหลักสูตร เพราะจริง ๆ ในต่างประเทศเขาเรียน IGCSE กันเป็น 10 วิชา โรงเรียนก็อาจจะอ้างว่ามันเยอะไป แต่ความเป็นจริงคือ IGCSE มันเรียนแค่ General knowledge การเรียน 6 วิชานั่นแหละที่น้อยไป และเด็กจะแทบไม่ได้อะไรเลย

อันนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ความไม่เข้าใจหลักสูตรยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนระบบอเมริกัน IB หรือระบบผสมอะไรก็แล้วแต่ ขั้นแรกคุณพ่อคุณแม่จะต้องหาความรู้ด้วยตัวเองหรือถามผู้รู้เสียก่อนว่าแต่ละหลักสูตรมีปรัชญาการศึกษาอย่างไร แต่ละชั้นปีเราควรคาดหวังอะไรที่ลูกของเราควรจะได้ แล้วเอาสิ่งนี้แหละไปตรวจสอบโรงเรียนว่ามีความรู้ความเข้าใจหลักสูตรมากแค่ไหน

ประเด็นที่สาม ครูและบุคลากรของโรงเรียนสามารถใช้หลักสูตรที่โรงเรียนเลือกมาได้อย่างเต็มที่และถูกต้องหรือไม่

บางโรงเรียนที่ใช้หลักสูตร IB ชอบโฆษณาว่า IB เป็นหลักสูตรที่ดีที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นโรงเรียนของตัวเองก็ย่อมดีที่สุดเช่นกัน จริงอยู่ว่า IB เป็นหลักสูตรที่ดีมาก ๆ (แต่ผมไม่เชื่อว่าดีที่สุด เพราะดีที่สุดไม่มีจริง มีแต่เหมาะที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคน ๆ เท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน) แต่เพราะเป็นหลักสูตรที่ดีมาก ๆ จึงมีปรัชญาและโครงสร้างที่ซับซ้อนลึกซึ้ง ครูและบุคลากรที่ขาดประสบการณ์และไม่มีคุณภาพ จะไม่สามารถใช้หลักสูตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน บางคนถึงกับเกิดอคติกับหลักสูตรด้วยซ้ำ ซึ่งถือว่าเป็นผลเสียเป็นอย่างมาก

ไม่ใช่แค่ IB ครับ หลักสูตรอังกฤษ หรือ อเมริกัน หรือ ระบบอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าครูและบุคลากรใช้มันไม่ถูกทาง ใช้มันไม่เป็น ย่อมมีแต่ผลเสีย เราเคยเจอโรงเรียนสอนระบบอังกฤษระดับ A-level เอาชาวต่างชาติประเทศ Canada มาเป็นผู้บริหารโรงเรียน แล้วผู้บริหารคนนั้นก็บอกเด็กทุกคนว่า A-level เลือกวิชาอะไรก็ได้ เพราะมหาวิทยาลัยสนใจแค่คะแนน ไม่สนใจว่าเรียนวิชาอะไรมา งั้นเอาวิชาอะไรก็ได้ที่คะแนนได้ง่าย ๆ ไว้ก่อน ซึ่งนี่คือผิดหลักการของหลักสูตร A-level ของระบบอังกฤษโดยสิ้นเชิง

โรงเรียนอินเตอร์ สองภาษา English Programme หรือ IEP ที่ทำไม่ถูกต้องใน 3 ประเด็นข้างต้น ถ้าจะเรียกให้ตรงก็คงต้องเรียกว่าเป็นโรงเรียนอินเตอร์แหกตา เป็นกับดับที่พ่อแม่ต้องระวัง ด้วยความปรารถนาดีนะครับ ผมอยากให้คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบให้ดี ก่อนจะเลือกโรงเรียนให้กับลูก ใช้ 3 ประเด็นนี้เป็นประเด็นตั้งต้นก่อน จากนั้นในเชิงลึกมากกว่านั้นก็ตรวจสอบกันอีกที อย่าให้ชื่อที่สวยหรู วิสัยทัศน์ที่ฟังดูดี ราคาที่ดูแพง (ซึ่งจะพาลทำให้คิดว่าของแพงต้องดี ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วเป็นการสิ้นเปลืองแบบไม่ได้อะไรกลับมามาก ๆ) มาหลอกเราได้

เพราะสุดท้าย สิ่งที่จะเสียหายที่สุด ก็คืออนาคตของลูกของคุณพ่อคุณแม่นั่นแหละครับ เพราะฉะนั้น พิจารณากันให้ดีนะครับ