ลูกของเราไม่ว่าตอนเด็ก ๆ เขาจะน่ารักสักแค่ไหน พอโตเติบใหญ่ขึ้นมา วันนั้นก็จะมาถึง วันที่เขาเริ่มดื้อ วันที่เขาเริ่มไม่เชื่อฟัง วันที่เราเห็นเขาทำอะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เราเริ่มเห็นเขาไม่ตั้งใจเรียน เราเริ่มเห็นเขาไม่ทำการบ้าน เราเริ่มเห็นเขาติดเกม เราเริ่มเห็นเขาติดเพื่อน และเราก็จะเริ่มบังคับเขา

เราเริ่มเชื่อ หรือเราอาจจะเชื่อมานานแล้ว ว่ายังไงลูกก็มีประสบการณ์ไม่เท่าเรา ยังไงลูกก็รู้น้อยกว่าเรา และยิ่งถ้าเขาเริ่มดื้อ เริ่มต่อต้าน นั่นแปลว่าเขากำลังจะเดินผิดทาง ในฐานะของพ่อแม่ เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเราต้องเข้าไปควบคุม เราต้องบังคับเขา เราต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เขา เราต้องปกป้องเขา เราต้องทำให้เขามีชีวิตที่ดีและปลอดภัย … ในแบบที่เราคิดว่าดี

ในแบบที่เราคิดว่าดี … เราก็จะเริ่มคิดไปว่า งั้นโตขึ้นลูกควรเรียนอันนี้ ลูกควรทำอาชีพนี้ อันนี้เลี้ยงตัวเองได้ อันนี้ทำมาหากินได้ อันนี้ปลอดภัย พอลูกอยากทำอีกอย่าง เราก็จะเริ่มมองว่าลูกไร้สาระ เราจะรู้สึกว่ายังไงลูกก็ยังเด็กและด้อยกว่าเรา เราไม่เชื่อหรอกว่าความคิดของลูกจะเป็นความคิดที่ถูกต้อง แล้วเราก็จะเริ่มบังคับเขามากขึ้น ลูกต้องเรียนอันนี้ ลูกต้องตั้งใจเรียนแบบนี้ ลูกต้องไปเรียนพิเศษแบบนี้ ลูกต้องนั่น ลูกต้องนี่ และทั้งหมดนี้ “เพราะพ่อกับแม่รักลูกนะ พ่อกับแม่เลยต้องทำแบบนี้”

ถามว่าแล้วสุดท้ายเราได้อะไรจากการบังคับนี้ ?

ถ้าลูกหัวอ่อน ลูกก็แค่ยอมพ่อแม่ ทิ้งทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ ทิ้งทุกอย่างที่เป็นตัวเองจริง ๆ เชื่อพ่อแม่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด แล้ววันหนึ่งที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว เขาจะทำอย่างไร เขาจะตัดสินใจเองได้ไหม ในเมื่อทั้งชีวิตที่ผ่านมา เขาเดินตามพ่อแม่มาทุกอย่าง

ถ้าลูกหัวแข็ง สุดท้ายก็ทะเลาะกัน สุดท้ายก็หมางใจกัน ในฐานะพ่อแม่เราก็จะเอาแต่พูดว่าทำไมลูกถึงไม่เชื่อฟัง ทำไมลูกถึงไม่รักดี ในฐานะลูก ลูกก็คงอยากจะพูดกลับไปว่า “แล้วทำไมไม่เข้าใจลูกบ้าง”

เรารู้สึกอย่างไร เวลาเราอยากให้ลูกทำนั่นทำนี่ ?

ลองสังเกตตัวเองดู เวลาเราอยากให้ลูกทำนั่นทำนี่ เราอยากให้ลูกทำการบ้าน เราอยากให้ลูกอ่านหนังสือ เราอยากให้ลูกตั้งใจเรียน เราอยากให้ลูกเลือกเรียนสาขาวิชานั้นสาขาวิชานี้ ชั่วขณะจิตที่เรากำลังเกิดความอยากนั้น จริง ๆ แล้วเรารู้สึกอย่างไร

ครั้งต่อไปที่เกิดความรู้สึกเหล่านี้ขึ้นมา ก่อนจะพูดอะไรออกไป ลองสังเกตตัวเองดูครับ ว่าจริง ๆ แล้วความอยากที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความปรารถนาดีที่มีต่อคน ๆ นั้นที่เราเรียกเขาว่าลูก หรือจริง ๆ แล้วมันเป็นความอยากเพื่อที่จะเติมเต็มบางอย่างในใจเราเอง

ผมไม่ได้บอกว่าเราไม่ต้องปรารถนาดีต่อลูก ในฐานะพ่อแม่เราสมควรที่จะต้องปรารถนาดีต่อลูกอยู่แล้ว เราต้องเลี้ยงดูเขา ป้องกันภัยอันตรายให้เขา ตามหน้าที่ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา แต่ในที่นี้ ผมอยากให้ลองสังเกตจริง ๆ มากกว่า ว่าความอยากที่แท้จริงของเราคืออะไร

เพราะบ่อยครั้ง ความอยากชั่วขณะจิตแรกที่เกิดขึ้นนั้น มันมาจากแค่ว่า เพราะเราถูกนิยามหรือเรานิยามตัวเองว่าเราเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกให้ดี พ่อแม่ต้องทำให้ลูกประสบความสำเร็จ ถ้าเราทำได้ไม่ดี คนอื่นจะว่าเรา ถ้าเราทำได้ไม่เต็มที่ คนอื่นจะมองว่าเราไม่ดี โดยไม่รู้ตัวหรอกครับ บ่อยครั้งมันมาจากความรู้สึกเหล่านี้ก่อน มันคือความรู้สึกที่ตัวตนของเรา หรือ Ego พยายามจะรักษาเสถียรภาพของตัวเองไว้

หรือบางครั้ง มันอาจเกิดมาจากความรู้สึกเหนือกว่า (Superiority) ซึ่งมาจากนิยามที่ว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมเหนือกว่าลูก เมื่อเหนือกว่าลูก การที่ลูกไม่เชื่อฟัง การที่บังคับไม่สำเร็จ การที่ลูกไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ แปลว่าเราเสียจุดยืนของความเป็นพ่อแม่ แปลว่าเราจะอยู่ในจุดที่ต่ำกว่า (Inferiority) ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งของตัวตน หรือ Ego เหมือนกัน ที่พยายามจะรักษาสภาพที่เหมาะสมที่สุดของตัวเองไว้

ตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุด ว่าจริง ๆ แล้วเรากำลังรู้สึกอย่างไรกันแน่ ก็คือ ความรู้สึกแว่บแรกเมื่อลูกปฏิเสธ เมื่อลูกไม่เชื่อ เมื่อลูกไม่ยอมรับ ถ้ามันคือความรู้สึกเสียหน้า เสียจุดยืน หวาดกลัว โกรธ อับอาย หรืออะไรก็ตามที่มีตัวเองเป็นที่ตั้ง นั่นหมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้พยายามบอก พยายามบังคับลูกไปนั้น ทั้งหมดเป็นเพียงเพื่อสนองความต้องการของตัวเองล้วน ๆ

ไม่ต้องตกใจถ้าได้เห็นความรู้สึกแบบนั้นของตัวเองนะครับ มันเกิดขึ้นกับทุกคน มันเป็นธรรมชาติ ทันทีที่เห็นเราจะเริ่มรู้ตัวมากขึ้น และนั่นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาครับ

เพราะรักแท้ย่อมไม่มีเงื่อนไข

ได้โปรดอย่าเข้าใจผิด คิดว่าผมพยายามจะบอกว่าพ่อแม่ไม่ต้องปรารถนาดีต่อลูก ยังไงพ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดครับ แต่ถ้ามันเกิดจากความรักจริง ๆ มันจะไม่มีเงื่อนไข ความรักที่แท้จริงมันไม่ใช่การให้ไปแล้วต้องได้รับกลับคืนมา ความรักที่แท้จริง มันเหมือนกับพระอาทิตย์ที่ส่องแสงอยู่อย่างนั้น ทำหน้าที่อยู่ทุกวัน โดยไม่จำเป็นเลยที่สรรพสัตว์ ต้นไม้ใบหญ้าจะต้องเยินยอสรรเสริญหรือกล่าวคำขอบคุณ

ในฐานะพ่อแม่ เมื่อเห็นว่าสิ่งไหนดีกับลูก มันคือการพูดคุยกัน มันคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน มันคือการรับฟัง ถ้าเป้าหมายคือการให้เขามีชีวิตที่ดี จริง ๆ แล้วเขาก็ควรมีส่วนร่วมกับการมีชีวิตที่ดีด้วย เพราะสุดท้ายนั่นคือชีวิตของเขา ถ้าเราบังคับเสียหมด มันจะเป็นชีวิตของเขาได้อย่างไร

ไม่ใช่ว่าลูกไม่ยอมทำการบ้าน ก็ปล่อยให้ลูกไม่ต้องทำการบ้าน แต่ทุกครั้งที่เดินไปบอกลูกหรือถามลูกว่าทำการบ้านหรือยัง เราเดินไปคุยไปบอกด้วยสีหน้าอย่างไร เราใช้น้ำเสียงอย่างไร เรามีเมตตาหรือเราพยายามจะเอาชนะลูกของเรา เวลาเราบอกลูกว่าการไม่ทำการบ้านจะเกิดผลเสียที่ตามมาอย่างไร เราใช้การขู่ หรือเราคุยกันด้วยเหตุผล ในความเป็นจริงบางบ้านแก้ปัญหาเรื่องลูกไม่ทำการบ้านด้วยการ ก็ปล่อยให้เขาเจอความเป็นจริงว่าการไม่ทำการบ้านจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเกิดผลเสียขึ้นก็ไม่ซ้ำเติม แต่เข้าไปอธิบาย แล้วหาทางออกร่วมกัน แบบนั้นจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ถ้าความรักของเรามีเงื่อนไข ถ้าความปรารถนาดีของเราต้องการสิ่งตอบแทน เราดำเนินมันไปในมุมของผู้ที่อยู่เหนือกว่า มันคือความแตกแยก แต่ถ้ามันไม่มีเงื่อนไข มันคืออันหนึ่งอันเดียวกัน มันคือความเข้าใจกัน มันคือการร่วมมือกัน และผลลัพธ์มันย่อมออกมาดี

คุณพ่อคุณแม่ครับ ยังไงลูกก็ต้องการพ่อแม่ เพียงแต่เมื่อถึงวัยที่เขาเริ่มเป็นผู้ใหญ่ เขาก็ต้องการมีชีวิตของเขาบ้างเช่นกัน เขาเลยไม่ชอบให้เราบังคับ หลักการมันก็แค่นี้ ซึ่งเราก็แค่ไม่บังคับ แต่คุยกันด้วยความเข้าใจ ให้เขาตัดสินใจ ให้เขารับรู้ผลของสิ่งที่ทำ ให้เขารู้ว่าเราอยู่กับเขา ให้เขารู้ว่าเขาจะมีเราอยู่เสมอ ในฐานะของพ่อแม่ที่ไม่ได้รักเขาเพราะต้องการสิ่งตอบแทน ไม่ได้รักเขาเพราะแค่ต้องการได้ชื่อว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ดี ไม่ได้รักเขาเพียงเพราะว่าไม่อยากเสียจุดยืนของความเป็นพ่อแม่ แต่รักเขาด้วยความปรารถนาดีจริง ๆ และพร้อมจะให้เขาเติบโตในแบบของตัวเองจริง ๆ

สรุปแล้ว ลูกไม่เชื่อฟังทำอย่างไร ?

ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่สามารถจัดการได้ด้วยการบังคับ เพราะตัวตนหรือ Ego ของทั้ง 2 ฝ่ายจะปะทะกัน การบังคับจะเกิดการแบ่งแยกว่าเราเป็นพ่อแม่ เขาคือลูก ไม่เกิดการประสานเป็นเนื้อเดียว เพราะฉะนั้นยิ่งทำ ยิ่งไม่เชื่อฟัง

อยากให้ลูกเชื่อฟัง เอาความอยากออกไปก่อน เปลี่ยนเป็นการทำในฐานะของพ่อแม่ที่เหมาะสม พูดคุยกับเขาด้วยเมตตา ปรึกษากัน ร่วมมือกัน และสุดท้ายชีวิตเขาจะดีหรือไม่ดี จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว จริง ๆ แล้วไม่มีใครสามารถกำหนดให้ลูกของเราได้เลย นอกจากตัวของเขาเอง ในฐานะพ่อแม่เราทำได้ดีที่สุดแค่การทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ โดยไม่เอาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องว่าเราเป็นพ่อเแม่ เอาแต่ความเมตตาปรารถนาดีที่แท้จริงมามอบให้ลูก เท่านั้นคือพอแล้ว

สุดท้ายแล้ว ทุกชีวิตจะมีวิถีทางของตัวเอง และมันจะเป็นวิถีทางที่เหมาะสมที่สุด อย่าฝืนธรรมชาติ กลมกลืมกับธรรมชาติ แล้วทุกอย่างจะเป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนะครับ