สมัยที่ยังสอนเลข มีเด็กคนหนึ่งถามผม ขณะที่เรากำลังเรียน Calculus กันอยู่ว่า

“มันเอาไปใช้อะไรอะพี่”

ผมตอบไปว่า “ก็ใช้สอบไง”

เด็กทำหน้าสงสัย ไม่ค่อยพอใจในคำตอบ แล้วก็ถามต่อไปว่า “ถ้านอกจากสอบล่ะพี่”

ด้วยความอ่อนประสบการณ์ในวันนั้น ผมก็ได้แต่ตอบไปว่า “ก็คงไม่ได้ใช้หรอก”

น้องมองผมด้วยสายตาที่ผิดหวัง แล้วพูดกับผมอย่างจริงจังว่า

“พี่ แล้วเราเสียเวลาเรียนเรื่องนี้กันไปเพื่ออะไรอะ”

จริง ๆ ผมก็ไม่ได้ตอบผิด เรื่องที่กำลังสอนกันอยู่ คงไม่มีใครได้เอาไปใช้ต่อในชีวิตจริงหรอก ต่อให้เรียนสาย Engineering หรือ Economics ที่จะมีโอกาสได้ใช้ Calculus บ้าง แต่เรื่องนี้ก็เฉพาะทางมากเหลือเกิน เกินกว่าที่จะได้ใช้

แม้ผมจะไม่ได้ตอบผิด แต่ผมนั้นตอบไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมด วันนั้นผมยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมกับเด็กกำลังคุยกันอยู่นั้น คือสิ่งที่เรียกว่า Knowledge ซึ่งไม่ใช่แก่นหลักของสิ่งที่เรียกว่า Education เลย

ทำไม Knowledge ถึงไม่ใช่แก่นของ Education

Knowledge คือสิ่งที่ลืมได้ ลองนึกถึงหลาย ๆ เรื่องที่เราเรียนเมื่อตอนเด็ก ๆ เราก็คงลืมไปทั้งหมดหรือเกือบหมดแล้ว

Knowledge คือสิ่งที่ล้าสมัยได้ เพราะเมื่อมีการค้นพบอะไรใหม่ ๆ ความรู้เก่า ๆ ก็จะถูกเลิกใช้ไป

Knowledge คือสิ่งที่ถ้าต้องการจริง ๆ ก็ค้นหาได้ ยิ่งในยุคที่หาข้อมูลง่ายขนาดนี้ อยากรู้อะไรที่ไม่เคยรู้ แค่เข้าอินเตอร์เน็ตก็หาได้ทั้งหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น Knowledge จึงไม่ใช่แก่นของ Education ไม่ใช่เป้าหมายของการเรียน ไม่ใช่สิ่งที่ควรยึดถือเป็นสรณะในการพัฒนาตัวเอง แม้แต่นิดเดียว

แล้วสิ่งที่เป็นแก่นของ Education คืออะไร

ตอนที่ผมสอนเลข ผมมีทั้งเด็กที่สอบแล้วได้เกรดที่ดี กับได้เกรดที่ไม่ดี พอสอนไปมาก ๆ เข้า ผมเริ่มเจอว่าสุดท้ายแล้วเด็กที่จะสอบเลขได้คะแนนเยอะ ๆ นั้น ไม่ใช่เด็กที่จำสูตรเลขได้เยอะ หรือจำแนวคิดต่าง ๆ ได้เยอะ แต่กลับเป็นเด็กที่มีความสามารถในการแก้ปัญหา ซึ่งแม้จะเจอปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน ก็สามารถประยุกต์เอาสิ่งที่ทำได้ทั้งหมดมาสร้างเป็นวิธีการใหม่ ๆ ได้

สิ่งนี้เรียกว่า Skill และนี่คือแก่นแท้ของ Education

คนที่ Knowledge เยอะ เช่นจำสูตรได้เยอะ ก็จะสู้คนที่มี Skill การแก้ปัญหาที่สูง และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีในการเรียนเลขไม่ได้

คนที่ Knowledge เยอะ เช่นจำคำศัพท์ได้มาก ก็จะสู้คนที่อ่านเป็น วิเคราะห์เป็น วิพากษ์วิจารณ์เป็นในการเรียนวิชาทางภาษาไม่ได้

เพราะฉะนั้น แล้วเป้าหมายของการศึกษา เพื่อให้สามารถใช้งานในอนาคตได้จริง ๆ นั้น จึงเป็นการมุ่งเน้นไปที่ Skills ที่เกี่ยวข้องที่สามารถหาได้ในวิชานั้น ๆ

Knowledge แม้ไม่ใช่แก่น แต่ก็เป็นเครื่องมือในการพัฒนา Skills

ถ้าจะฝึก Skill ในการแก้ปัญหา เราก็ต้องมีปัญหาให้ฝึกแก้ Knowledge ในวิชาเลขจึงต้องเข้ามามีบทบาท เราต้องรู้แนวคิดต่าง ๆ รู้สูตรต่าง ๆ รู้ขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อเอามาประกอบการฝึก Skill ในการแก้ปัญหาของเรา

เช่นเดียวกับเวลาเรียน Science อย่าง Chemistry แม้สุดท้ายเราจะไม่ต้องจำข้อมูลใน Periodic Table ได้ทั้งหมด แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีโอกาสได้ฝึก Scientific Skill, Reasoning Skill, Systematic Thinking Skill ผ่านความเข้าใจเรื่อง Element ต่าง ๆ ใน Periodic Table ได้

เพราะฉะนั้นแล้ว Knowledge แม้จะไม่ใช่แก่น แต่ก็เป็นเครื่องมือที่จำเป็นที่จะทำให้เราพัฒนา Skills ได้

คำถามสำคัญอยู่ตรงนี้

ถ้า Knowledge มันน่าเบื่อ มันไม่สนุก มันไม่ใช่สิ่งที่อยากเรียน ไม่ใช่สิ่งที่อยากรู้ ไม่มีอารมณ์แม้แต่จะสนใจ คำถามคือ Skills จะถูกพัฒนาได้อย่างไร

ถ้าเราเกลียด Physics แต่เราชอบ Chemistry เราคงสนุกกับพัฒนา Reasoning Skill ของเราในการใช้เหตุผล ในการวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ในการทดลองใน Chemistry Lab มากกว่าเราไปทำการทดลองใน Physics Lab เป็นแน่แท้

เพราะฉะนั้น การเลือกเรียนวิชาที่รัก ที่ชอบ ที่ใช่ จึงเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนา Skills ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงข้าม การฝืนเลือกวิชาที่ไม่รัก ที่ไม่ชอบ ที่ไม่ใช่ เราจะพัฒนา Skills ได้อย่างยากยิ่ง

เราจะเรียนได้ดีขึ้น เมื่อเราหาเจอว่า เราเรียนเพื่อพัฒนาตัวเองใน Skills ไหน

ในหลักสูตรอย่าง IGCSE, A-level, และ IB ทุกเรื่องที่เราต้องเรียน ได้ถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่า มีเป้าหมายในการพัฒนา Skills ด้านไหน ถ้าเราเอาหลักสูตรมาอ่าน เอาข้อสอบมาวิเคราะห์ เราจะพบว่ามีจุดที่เราสามารถเอาไปใช้พัฒนา Skills ของตัวเองได้หลายจุดมาก ๆ

คุณครูที่สามารถชี้ประโยชน์ให้เด็ก ๆ เห็นได้ว่า เรื่องนี้เรียนไปจะได้พัฒนา Skills อะไร จะทำให้เด็ก ๆ สนุกกับการเรียนได้ง่ายขึ้น ยิ่งสามารถทำให้เห็นว่า Skills เหล่านั้นจะมีประโยชน์กับชีวิตในวันข้างหน้าอย่างไร ก็ยิ่งได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าผมย้อนเวลากลับไปได้ แล้วผมได้รับคำถามเดิม ๆ จากเด็กคนนั้นว่า “มันเอาไปใช้อะไรอะพี่”

ผมก็อยากจะบอกกับเด็กคนนั้นว่า

“ถ้าทำอันนี้เป็น ก็จะแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้เก่งขึ้น

เวลาเราโตขึ้นจะไปเรียนต่อด้านไหนก็ตาม ก็ต้องเจอกับปัญหาทั้งนั้นทั้งการงานและชีวิต เราหลีกเลี่ยงปัญหาไม่ได้หรอก

ถ้าวันนั้นที่เราต้องเจอกับปัญหา มันคงแย่มาก ๆ ใช่ไหมที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะเราไม่ได้ฝึกเอาไว้

เพราะฉะนั้น ถือว่าวันนี้เรามาฝึกตัวเองให้มี Skill ในการแก้ปัญหาให้ได้เก่ง ๆ เผื่อไว้สำหรับวันหน้าก็แล้วกัน”

บทสรุป

ถ้ามองแค่เรื่องของ Knowledge เพียงอย่างเดียว ส่วนมากแล้วเรียนไปก็จะไม่ได้ใช้จริง ๆ

แต่เมื่อไรที่มองออกว่า เรียนไปแล้วได้พัฒนา Skills อะไรบ้าง ทุก Skills ที่ได้เรียนรู้ไปนั้น เราจะมีโอกาสได้ใช้มันในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน และที่สำคัญที่สุดก็คือ Skills เป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ทำเป็นแล้วก็ติดตัวเราไป เป็นอาวุธที่สามารถหยิบมาใช้ได้ เมื่อมีโอกาสที่ต้องใช้จริง ๆ

เพราะฉะนั้น เรียนไปย่อมได้ใช้ ถ้าเราใส่ใจถูกจุด คือใส่ใจที่ Skills เป็นสำคัญ เพราะ Education ไม่ใช่แค่เรื่องของ Knowledge อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ Skills ต่างหากที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งครับ