ใครอยากเป็นหมอคงเคยได้ยินคำว่า BMAT เพราะมันคือชื่อของข้อสอบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้วัดว่า ผู้สอบมีความ Born to be ที่จะเป็นหมอมากแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันนี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการคัดเลือกคนเข้าไปเรียนหมอในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศอังกฤษ และ ประเทศไทยด้วย
หมายเหตุ : ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ ที่ใช้ BMAT หลาย ๆ ที่ใช้ UCAT เพราะฉะนั้น ให้ตรวจสอบเว็บไซต์ของแต่ละมหาวิทยาลัยอีกทีหนึ่ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเลือกสอบ
BMAT สอบอะไรบ้าง ?
ข้อสอบ BMAT แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ
- Thinking Skills
- Scientific Knowledge and Application
- Writing Task
ซึ่งแต่ละส่วน มีรายละเอียดดังนี้
Part 1 – Thinking Skills – วัดทักษะทางด้านการคิด
อาชีพหมอหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ทั้งข้อมูล สถานการณ์ อาการของผู้ป่วย เพราะฉะนั้น Thinking Skills จึงเป็นด่านแรกในการสอบ BMAT ซึ่งก็แบ่งย่อยเป็นอีก 2 ส่วนคือ
- Problem Solving เป็นการวัดทักษะการแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่ให้มาพร้อมกับข้อมูลต่าง ๆ อาจเป็นข้อมูลเชิงตัวเลข เชิงสถิติ แผนภาพ หรือ กราฟ แล้วให้ตัดสินใจ แก้ปัญหา หาคำตอบจากสิ่งเหล่านั้น
- Critical Thinking เป็นการวัดทักษะในการตีความ ว่าจากเรื่องราวที่ให้มา สิ่งใดจริง สิ่งใดไม่จริง หรือสามารถสรุปอะไรจากสิ่งที่ให้มาได้บ้าง
ในส่วนนี้คะแนนจะเป็น scale ตั้งแต่ 0 (คะแนนต่ำสุด) ถึง 9 (คะแนนสูงสุด)
Part 2 – Scientific Knowledge and Application – วัดทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์
คนจะเป็นหมอต้องมีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ ข้อสอบในส่วนนี้ของ BMAT จึงเป็นการวัดทักษะดังกล่าวในวิชา Math, Physics, Chemistry, และ Biology เฉลี่ย ๆ จำนวนข้อเท่า ๆ กัน
ซึ่งระดับความรู้ความเข้าใจที่ต้องใช้ในการทำ BMAT ส่วนนี้ คือระดับเทียบเท่ากับ IGCSE อย่างไรก็ดี ตัวโจทย์จะมีการเน้นการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มี มากกว่าการถามตรง ๆ เพราะฉะนั้นการได้เกรดดี ๆ ใน IGCSE มา อาจจะยังไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราจะทำส่วนนี้ได้ดี จนกว่าจะได้ลองฝึกฝนดูจริง ๆ
สำหรับส่วนนี้ คะแนนจะเป็น scale ตั้งแต่ 0 (คะแนนต่ำสุด) ถึง 9 (คะแนนสูงสุด) เช่นเดียวกับส่วนแรก
Part 3 – Writing Task – วัดทักษะในการเขียน
หมอต้องมีความสามารถในการเขียนที่ดี เพื่อใช้ในการสรุปสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในส่วนสุดท้ายของข้อสอบ BMAT นี้ จึงวัดทักษะในการเขียน โดยให้ผู้สอบเขียนสนับสนุน เขียนค้าน หรือเขียนหาข้อดีของทั้ง 2 ทาง ตามแต่กรณี
และเนื่องจากการเขียนที่ดี จะต้องดีทั้งคุณภาพของเนื้อหา และคุณภาพของภาษาที่ใช้เขียน การให้คะแนนในข้อสอบส่วนนี้จึงแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
- คะแนนในส่วนของคุณภาพของเนื้อหา จะเป็น scale ตั้งแต่ 0 (คะแนนต่ำสุด) ถึง 5 (คะแนนสูงสุด)
- คะแนนในส่วนของคุณภาพของภาษาที่ใช้เขียน จะเป็นเกรด E (ต่ำสุด) ไปจนถึง A (สูงสุด)
แล้วเวลาให้คะแนนก็ให้ 2 ส่วนนี้คู่กัน เช่น 4A หมายถึงคุณภาพของเนื้อหาอยู่ที่ระดับ 4 และคุณภาพของภาษาที่ใช้เขียนอยู่ที่เกรด A เป็นต้น

ต้องสอบ BMAT ช่วงไหน ?
หลักง่าย ๆ ก็คือ จะยื่นคะแนนปีไหน ก็คือสอบปีนั้น การสอบล่วงหน้าไม่ว่าจะได้คะแนนดีแค่ไหน ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะคะแนนใช้ได้แค่ปีต่อปีเท่านั้น
ปกติแล้วในหนึ่งปีจะมีสอบ BMAT 2 รอบ คือ รอบ September กับรอบ November
หมายเหตุ : ปี 2020 นี้ ด้วยสถานการณ์ของ Covid-19 การสอบ BMAT จึงเหลือแค่ November รอบเดียวเท่านั้น
ในกรณีของการสมัครเข้าเรียนหมอที่อังกฤษผ่าน UCAS Application นั้น ถ้าสอบรอบ September ข้อดีก็คือจะรู้คะแนนก่อนยื่น UCAS ทำให้ประเมินได้ว่าคะแนนสูงพอที่จะเลือกมหาวิทยาลัยไหนได้บ้าง ส่วนการสอบรอบ November ข้อดีก็คือมีเวลาในการเตรียมสอบมากกว่า ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยในอังกฤษไม่ได้ให้เครดิตกับการสอบรอบใดรอบหนึ่งมากกว่า เพราะฉะนั้นเราสามารถเลือกรอบสอบตามกลยุทธ์ของตัวเองได้เลย อย่างไรก็ดี ให้พึงระวังว่า
- บางมหาวิทยาลัยรับผลสอบ BMAT แค่จากรอบใดรอบหนึ่งเท่านั้น ถ้าสอบผิดรอบก็จะใช้ผลไม่ได้ ให้ตรวจสอบกับมหาวิทยาลัยดี ๆ (ข้อมูลเปลี่ยนแปลงได้ ต้องตรวจสอบทุกปี)
- แม้ปีหนึ่ง ๆ จะมีสอบ 2 รอบ แต่ผู้สมัครสามารถเลือกสอบได้รอบใดรอบหนึ่งเท่านั้น จะวางแผนว่าสอบ September ไปก่อน ถ้าไม่ดีค่อยสอบ November อีกรอบ แบบนี้ทำไม่ได้ จะกลายเป็นทุจริต
เตรียมตัวสอบ BMAT อย่างไรดี ?
ซ้อมทำให้เยอะที่สุด คือคำแนะนำที่ดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Part แรกที่เป็น Thinking Skills นั้น มันไม่ได้ตรงกับวิชาใดวิชาหนึ่งที่เคยเรียนมา แต่มันเป็นทักษะการคิด ที่อาศัยว่าเห็นโจทย์บ่อย ๆ หัดทำมาก ๆ ก็จะสามารถทำได้เร็วขึ้นและถูกต้องมากขึ้น
สำหรับการเรียนพิเศษหรือลงคอร์สเพิ่มเติมก็สามารถช่วยได้ในแง่ของการเสริมเทคนิค อย่าง The Medic Portal และ Krutoo Homeschool ก็มีคอร์ส BMAT ที่น่าสนใจ สามารถติดต่อทีมงานของเราเพื่อสอบถามข้อมูลและสมัครเรียนได้เลยครับ
อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าข้อสอบ BMAT คือข้อสอบที่ใช้วัดว่า เรา Born to be ที่จะเป็นหมอหรือไม่ มันจึงถูกออกแบบมาแล้วว่า ถ้าใครไม่ได้เหมาะกับการเป็นหมอจริง ๆ ก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จในการทำข้อสอบ BMAT ได้
ลองทบทวนตัวเองสักนิด เรา Born to be ที่จะเป็นหมอจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ลืมการสอบ BMAT ไปเสีย ลืมการเป็นหมอไปเสีย แล้วหันไปเลือกในสิ่งที่ใช่ตัวเราเองที่สุดจะดีกว่าไหม ?
แต่ถ้าเราใช่ และเราต้องใช้ BMAT ก็มาเตรียมตัวให้ดีที่สุดกันครับ ขอให้โชคดีครับ