ผมได้มีโอกาสคุยกับ LSE ในงาน UCAS International Teachers’ and Advisers’ Conference 2021 เมื่อวันที่ 7 ถึง 8 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่ได้คุยกับ LSE นั้น ช่วยตอบคำถามหลาย ๆ ข้อได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมที่ผ่านมา LSE ที่นอกจากจะขึ้นชื่อว่าเป็น Top University ของอังกฤษแล้ว ยังเป็นหนึ่งใน University ที่ขึ้นชื่อว่าเข้ายากที่สุดอีกด้วย

คำถาม 3 ข้อที่ผมถามในวันนั้นคือ

  • ถ้าเด็กคนหนึ่งมีผลการสอบ IGCSE ที่ไม่ดี แต่มีผลงานช่วง A-level ที่ดี และมี Personal Statement ที่โดดเด่น เขาจะยังมีโอกาสเข้า LSE ได้หรือไม่
  • จำเป็นต้องเรียน Further Math ใน A-level หรือไม่ สำหรับสาขาวิชาที่ไม่ได้บอกว่า Further Math เป็น Requirement
  • Reference มีความสำคัญหรือไม่ หรือแค่ Personal Statement โดดเด่นอย่างที่เรารู้ ๆ กันก็พอแล้ว

และนี่คือคำตอบครับ

ถ้าเกรด IGCSE ไม่ดี ต้องเสียใจด้วยที่คำตอบคือ No

LSE บอกว่า จำนวนคนที่สมัคร LSE ต่อปีนั้นเยอะมาก และทุกคนจะมี Profile ในระดับ A-level ที่ดีพอ ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น Predicted Grade หรือคะแนนสอบ AS-level นอกจากนี้ Personal Statement ของหลาย ๆ คนก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ ใครที่ IGCSE ไม่ดีพอ คือ ไม่ได้ A* หรือเกรด 8/9 เยอะ ๆ ก็อาจจะถูกคัดออกตั้งแต่ต้น

LSE อธิบายว่า มันก็ไม่ใช่ว่านี่คือการคัดออกหรอก แต่เขาก็คาดหวังจะได้คนที่ตั้งใจเรียนสม่ำเสมอ คือมีผลงานที่ดีมาตั้งแต่ IGCSE มากกว่าคนที่เพิ่งมากระเตื้องขึ้นตอน A-level มากกว่า ความสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคุณแสดงความไม่สม่ำเสมอตั้งแต่ต้น เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ถ้าคุณเข้ามาที่ LSE แล้วคุณจะยังทำได้ดีที่สุดอยู่เหมือนเดิม

เพราะฉะนั้น คงพูดได้อย่างเดียวว่า ใครยังมีโอกาสทำเกรด IGCSE ให้ดีที่สุด ให้จำนวนวิชามากที่สุด ให้ได้ A* หรือเกรด 8/9 (โดยเฉพาะเกรด 9) เยอะที่สุด ขอให้ตั้งใจให้เต็มที่นะครับถ้า LSE คือเป้าหมายที่ต้องการ

สำหรับคนที่มาจากโรงเรียนระบบที่ไม่ได้ทำ IGCSE เช่นระบบ IB MYP นั้น LSE อาจขอดู School Report ในช่วงที่เทียบเท่ากับ IGCSE แทน เพราะฉะนั้นก็ต้องทำ School Report ให้ดีที่สุด หรือถ้าคิดว่าเปลี่ยนระบบมาทำ IGCSE จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่า ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ

Further Math คือวิชาที่ “ต้องมี” แม้เราจะไม่ได้พูดว่า “ต้องมี”

เมื่อเราเปิดดู Entry Requirement ของหลาย ๆ สาขาวิชาของ LSE ที่เกี่ยวข้องกับ Mathematics ไม่ว่าจะเป็น Economics หรือ Finance หรือแม้กระทั่ง Management เราจะพบว่า เขาไม่ได้บอกว่า Further Math เป็นวิชาบังคับ

แต่เมื่ออ่านไปจนถึงหมายเหตุด้านล่าง เราจะพบว่า Further Math คือวิชาที่ desirable หรือ helpful ซึ่งจากการพูดคุยกับ LSE ในวันนั้น เราจำเป็นต้องตีความหมาย 2 คำนี้ใหม่ว่า จริง ๆ แล้วมันแปลว่า “ต้องมี” Further Math ใน A-level

LSE บอกว่า คอร์ส Economics, Finance, หรือแม้กระทั่ง Management ที่ LSE เป็น highly quantitative course คือมีการใช้ Mathematics เยอะมาก ๆ ในการเรียนตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ได้ชอบ Mathematics แปลว่าคุณไม่เหมาะกับ LSE ในสาขาวิชาเหล่านี้ และการที่คุณไม่ได้เลือกเรียน Further Math มันก็แปลว่าคุณไม่ได้ชอบ Mathematics ถึงระดับที่ LSE ต้องการอยู่แล้วตั้งแต่ต้น

วิธีเดียวที่จะรอดได้ ที่จะไม่ทำ Further Math แต่ยังมีโอกาสเข้า LSE คือ คุณครูที่เขียน Reference ตอนสมัคร UCAS ให้จะต้องแจ้งลงไปใน Reference ว่า ที่โรงเรียนไม่มีการเรียนการสอน Further Math (ไม่ใช่โรงเรียนเห็นสมควรว่าตัวเราไม่ได้รับอนุญาตให้เรียน Further Math เพราะอันนี้จะยิ่งดูแย่เข้าไปใหญ่) ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะโรงเรียนส่วนมากสอน Further Math ใน A-level กันหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ชอบ Mathematics หรือไม่คิดจะทำ Further Math ใน A-level อย่าเลือกคอร์สเหล่านี้ใน LSE ครับ นอกจากจะแทบไม่มีโอกาสจะสำเร็จแล้ว นี่ยังไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมสำหรับเราอีกด้วย

หรือถ้าคิดจะทำ Further Math A-level แค่ครึ่งเดียวคือทำเป็น AS-level จากหมายเหตุที่ปรากฎในเว็บไซต์ของ LSE นั้น อาจดูเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ … แต่เชื่อเถอะว่าถ้าคนส่วนมากเขาทำ Further Math A-level กันแบบเต็ม ๆ แต่เราทำแค่ AS-level เราก็แพ้เขาในการคัดเลือกอยู่ดี

Reference คือสิ่งที่ทำให้ Personal Statement ดีขึ้น หรือ แย่ลง

เป็นที่รู้กันว่า LSE ไม่คัดเลือกด้วยการ Interview และไม่มีการให้ทำข้อสอบ Admissions Tests เพิ่มเติมเหมือน Oxbridge เพราะฉะนั้นนอกจากดู Predicted Grade, AS-level, IGCSE แล้ว Personal Statement คือสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างไรก็ดี ในการพูดคุยกับ LSE เขาบอกว่า แต่ทั้งหมดนั้นจะมี Reference อยู่เบื้องหลังเสมอ

Reference ที่คุณครูเขียนให้ มีหน้าที่หลักในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมของเด็กคนนั้น เพื่อทำให้ Profile ของเด็กคนนั้นน่าสนใจขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ใน Personal Statement เราอาจจะพูดว่าเราไปประกวดแข่งขันอะไรมา ได้ฝึกทักษะอะไร ได้เรียนรู้อะไร แล้วเราก็ต้องไปอธิบายเรื่องอื่นต่อแล้ว เพราะความยาวของ Personal Statement นั้นจำกัดไว้แค่ 4,000 ตัวอักษรเท่านั้น ตรงนี้คุณครูต้องอธิบายเพิ่มใน Reference ได้ว่า คุณครูได้เห็นอะไรในตัวเด็กคนนี้บ้าง ได้เรียนรู้อะไร ได้พัฒนาอะไร ในมุมมองของคุณครู

เพราะฉะนั้น Reference ที่ดีจะช่วยทำให้ LSE รู้จักผู้สมัครมากขึ้น ให้ข้อมูลเชิงบวกที่เป็นประโยชน์ และทำให้ LSE เข้าใจมากขึ้นว่าเด็กคนนี้มีความเป็นมาอย่างไร ส่วน Reference ที่ไม่ดี อาจจะทำให้ LSE ไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เป็นการกระทำที่สูญเปล่า หรือถ้าเลวร้ายกว่านั้น คืออาจเขียนเนื้อหาขัดแย้งกับ Personal Statement เพราะไม่รู้จักเด็กดีพอ กลายเป็นทำให้เด็กเสียประโยชน์ไป

ตรงนี้คงอธิบายอะไรได้ไม่มากไปกว่า เราจำเป็นที่จะต้องอยู่ในโรงเรียนที่ดีพอ ที่ใส่ใจเรา ที่รู้จักเรา รู้ว่า Top University ในอังกฤษต้องการอะไร และมีผลงานที่นักเรียนสอบเข้าใน University เหล่านั้นได้เป็นจำนวนมากให้เป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว เท่านั้น เราถึงจะมีโอกาสได้รับ Reference จากคุณครูที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราได้จริง ๆ

คำตอบเหล่านี้ของ LSE อาจถูกมองว่าเป็นข่าวร้าย ที่ทำให้เรารู้สึกว่า LSE คือสิ่งที่อยู่ไกลเกินเอื้อม แต่ถ้าเราจะมองเป็นข่าวดี นี่ก็คือการเตือนล่วงหน้า ให้เราต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุด ในเมื่อทุกปี มีคนที่เข้าไปเรียน LSE ได้ เราเองก็ทำได้เช่นกัน แค่รู้ว่าต้องทำอะไร แล้วลงมือทำให้ดีที่สุด ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.lse.ac.uk/study-at-lse/Undergraduate/Degree-programmes-2022/BSc-Economics

https://www.lse.ac.uk/study-at-lse/Undergraduate/Degree-programmes-2022/BSc-Finance

https://www.lse.ac.uk/study-at-lse/Undergraduate/Degree-programmes-2022/BSc-Management