“หลังจากที่ได้ฟังผล Career Test ไป ได้ลองไปอ่านเพิ่มเติมมาแล้ว พอจะมีไอเดียเกี่ยวกับอาชีพที่อยากทำในอนาคตเพิ่มไหมคะ”
น้องนั่งก้มหน้า ไม่ตอบอะไร นิ่งเฉย ตัวคนถามเองก็เริ่มรู้สึกไม่สบายใจ เพราะว่าจู่ ๆ คุณพ่อก็พูดขึ้นมาว่า…
“ผมคิดว่า ตอนที่อายุเท่านี้ ยังคิดไม่ออกหรอกครับว่าจะทำอาชีพอะไร เพราะฉะนั้นน้องเองก็น่าจะยังคิดไม่ออก เลยจะให้ทำอาชีพนี้ไปก่อน”
น้องยังคงนิ่งเฉย ไม่พูดตอบโต้อะไร ไม่มีสีหน้าที่แสดงความรู้สึกอะไร
เมื่อเห็นสถานการณ์ดังนี้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะคิดว่าลูกมีความฝัน หรือสิ่งที่อยากทำหรือไม่ก็ตาม แต่การ ‘พูดแทน’ ลูกของตัวเอง โดยไม่ได้มีการฟังความคิดเห็นเขาเลย นอกจากจะไม่ยุติธรรมกับเขาแล้ว เขาเองก็ไม่มีความกล้าหาญ ความมั่นใจ หรือความคิดที่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง เพราะไม่ว่าเขาจะเลือกทางไหน ชีวิตของเขาก็ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว
หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณพ่อและน้องเสร็จ ก็เกิดคำถามในใจว่า ทำไมถึงยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่โลกก็เปลี่ยนไปมากแล้ว มาลองคิดดูอาจจะเกิดมาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ
สานฝันให้พ่อแม่
เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคนเคยอยากทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ แต่ด้วยเหตุผล และโอกาสในตอนนั้นอาจจะไม่สามารถสนับสนุนให้ทำได้ ทำให้ ณ ตอนนี้รู้สึกเสียดาย และคิดว่าถ้าให้ลูกทำแทน ก็เหมือนเป็นการทดแทนความรู้สึกที่หายไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้ ๆ ตัวผู้เขียนเอง เพื่อนของผู้เขียนถูกที่บ้านบังคับให้ไปเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ทั้งที่ตัวเองชอบเกี่ยวกับเกษตรกรรม แต่เพราะคุณพ่อเคยอยากเป็นนักเรียนเตรียมทหาร แต่ไม่สามารถเข้าไปเรียนได้ เลยให้ลูกชายคนเดียวของตัวเองไปเข้าแคมป์ ไปเรียนติวอย่างหนักเพื่อเข้าโรงเรียนเตรียมทหารให้ได้ ถามเพื่อนตอนนั้นว่าอยากเรียนเหรอ เพื่อนบอกว่าไม่ได้อยากเรียน แต่พ่ออยากให้เรียนก็เลยต้องเรียน สุดท้ายเพื่อนไม่สามารถเข้าไปได้ และจบคณะที่เกี่ยวกับเกษตรกรรมแทน ข้อดีก็คือเพื่อนยังสามารถเข้าไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ และได้สานฝันตัวเอง แต่ถ้าเด็กคนนั้นไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันได้เลย ลองคิดดูว่าเรานั้นเห็นแก่ตัวมากแค่ไหน? ทำลายอนาคตของลูกตัวเองมากแค่ไหน? และต่อให้เขาทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการได้แล้ว อนาคตเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป? แต่ก็อย่างที่บอกเอาไว้แล้วนะคะ ชีวิตของลูกไม่ใช่ชีวิตของเรา เรามีความฝันของเราก็จริง แต่ลูกเราก็มีความฝันของเขาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นสนับสนุนให้เขาเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็นจะดีกว่า
ไม่อยากให้ลูกต้องเสี่ยง
ถ้าเรียนวิชานี้ไป จบมาจะทำอะไร? ถ้าไม่ใช่ใครจะรับผิดชอบ?
เชื่อว่าพ่อแม่หลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับทางเลือกที่ลูกของตัวเองเลือก และหลายครั้งไม่มั่นใจว่าลูกจะเลือกทางถูกไหม ไม่อยากให้ลูกต้องเสี่ยง เพราะฉะนั้นเลยไม่ให้ลูกเลือกในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ดีกับลูก คำว่า ‘เสี่ยง’ มันเกิดจากการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างโดยไม่มีชุดข้อมูลในเรื่องนั้น ๆ อย่างเด็กบางคนที่เคย Consult ได้ลองทำ Career Test แล้ว ได้พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่เก่ง รัก ชอบ ถนัด และมีความสนุกที่จะเรียนหลายครั้ง และมีโอกาสที่จะได้ไปทำ Super Curricular เช่น ไปเรียนซัมเมอร์ ไป Work Experience จนรู้แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกเหมาะสมกับตัวเองหรือไม่ เส้นทางของอาชีพตัวเองไปได้กี่เส้นทาง แล้วควรเลือกเส้นทางไหน เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเลือกอาชีพในอนาคตจริง ๆ พวกเขาได้ Explore ตัวเองหลากหลายครั้งจนมั่นใจ มันเลยไม่ใช่เรื่องเสี่ยง แต่ที่เสี่ยงก็เพราะว่าไม่เคยรู้ต่างหากว่าตัวเองเก่ง รัก ชอบ ถนัด และมีความสนุกกับเรื่องอะไร และเมื่อยิ่งรู้ว่าชีวิตของลูกอาจจะเสี่ยง ก็ยิ่งต้องมี Tool ที่จะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยวางแผนอนาคตของเขาได้ เพราะยิ่งวางแผนดีเท่าไร ก็จะช่วยลดความเสี่ยง ไม่เสียเวลา ไม่เสียเงินโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จะไม่มีทางที่คุณพ่อคุณแม่จะนำชีวิตของตัวเองไปยัดเยียดให้กับลูก เพราะเขามีสิ่งที่อยากทำชัดเจน…
เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จะไม่มีความเสี่ยงใดเพราะได้วางแผนมาอย่างดีแล้ว…
เราในฐานะ ‘พ่อแม่’ มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนเขาให้เต็มที่ ไม่ว่าเขาจะอยากไปในทางใดก็ตาม เพราะเขาเองก็อยากจะพิสูจน์ให้ ‘พ่อแม่’ รู้แหละ ว่าสิ่งที่เขาเลือกมันดีกับตัวเขาเองมากแค่ไหน