ทำไมต้อง Study in Japan?
เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป
ถ้าได้มีโอกาสเรียนภาษาญี่ปุ่น คงจะพอทราบกันดีว่าภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีความซับซ้อน เหตุผลหลัก ๆ นั้นมาจากไวยากรณ์ที่มีความแตกต่างกับภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งภาษาญี่ปุ่นมีตัวอักษรที่ต่างกัน 3 ชนิด ได้แก่ ฮิรางานะ คาตากานะ และคันจิ โดยที่ตัวอักษรฮิรางานะและคาตากานะจะเป็นตัวที่แสดงเสียง หนึ่งตัวอักษรแทนหนึ่งพยางค์ ส่วนตัวคันจิเป็นตัวอักษรที่สื่อถึงความหมาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://studyuk.in.th/2022/12/14/why-kanji/
แต่ที่ทำให้ภาษาญี่ปุ่นซับซ้อนมากขึ้นไปอีกคือการใช้ ‘คำสุภาพ’ หรือ ‘Keigo (敬語)’ ที่ต่อให้เรียนไวยากรณ์ทั่วไปได้อย่างเข้าใจ มีความเข้าใจในตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นอย่างดี แต่มื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ Keigo (敬語) เมื่อใด ก็ต้องมีชะงักทุกครั้ง คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเราไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่น ไม่ต้องใช้ Keigo (敬語) ให้ชำนาญขนาดนั้นก็ได้ แต่ถ้าคิดอยากจะไปศึกษาต่อหรือไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว Keigo (敬語) มีความสำคัญอย่างมาก ถ้าอยากรู้ว่าสำคัญแค่ไหน อ่านต่อได้เลยค่ะ
เรียนรู้วัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านแนวคิด ‘uchi (内)’ และ ‘soto (外)’

เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงได้ใช้ ‘คำสุภาพ’ หรือ ‘Keigo (敬語)’ กัน เรามาเข้าใจแนวคิดเรื่อง ‘uchi (内)’ และ ‘soto (外)’ กันก่อนดีกว่าค่ะ คำว่า ‘内’ มีความหมาย ‘ข้างใน’ หรือแปลว่า ‘บ้าน’ ได้ด้วย ส่วนคำว่า ‘外’ มีความหมายว่า ‘ข้างนอก’ ทั้งสองคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่ออธิบายตำแหน่งทางกายภาพเท่านั้น แต่ในเชิงสังคมศาสตร์และจิตวิทยาสังคมยังหมายถึงระยะห่างทางสังคมที่มีความหมายในอีกนัยหนึ่งว่า ‘คนใน’ และ ’คนนอก’ ซึ่ง ‘คนใน’ ก็หมายถึงคนที่อยู่ในแวดวงสังคมของตัวเอง เช่น ครอบครัว เพื่อน หรือคนในบริษัท ส่วนคำว่า ‘คนนอก’ ก็หมายถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงตัวเอง เช่น คนที่อยู่ต่างบริษัท หรือคนที่อยู่ต่างโรงเรียน เป็นต้น
เราจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ทำอะไรที่ผิดแปลกไปจากมาตรฐานของสังคม (Norm) เพราะการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้นก็เหมือนกับการเป็น ‘uchi (内)’ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และแนวคิดนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อการใช้ภาษาในสังคม (Sociolinguistics) เพราะเพื่อให้เห็นความแตกต่างของความเป็น ‘uchi (内)’ และ ‘soto (外)’ อย่างชัดเจนแล้วจึงต้องมีการใช้ภาษาที่แตกต่างจากคนในกลุ่มของตัวเอง ซึ่งก็คือการใช้ ‘Keigo’ นั่นเองค่ะ
นอกจากน้ัน ‘Keigo’ ยังถูกใช้เพื่อสะท้อนสังคมลำดับชั้น (Hierarchy) ที่ฝังลึกลงรากในสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอีกด้วย ถึงแม้ว่าในตอนนี้สังคมญี่ปุ่นจะมีการรับสังคมตะวันตกเข้ามาแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่อย่างการใช้ ‘Keigo’ ก็ยังคงถูกใช้ต่อเนื่องและไม่มีท่าทีที่จะหายไปตามกาลเวลา เพราะที่จริงแล้ว ‘Keigo’ เป็นมากกว่าภาษา จะอธิบายให้เข้าใจในลำดับถัดไปค่ะ
Keigo เป็นภาษาที่สะท้อนสังคมลำดับชั้น (Hierarchy) ของญี่ปุ่น

หากจะมีโอกาสไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าไปในร้านอาหารญี่ปุ่นอยู่บ้าง เราจะพบว่าพนักงานทุกคนมีความนอบน้อมกับเรา ไม่ว่าจะอายุมากกว่าหรือไม่ก็ตาม หรือบางคนเคยทำงานกับคนญี่ปุ่น ก็จะพบว่าคนญี่ปุ่นจะใช้ภาษาต่างกันตามลำดับสถานะในสังคมนั้น ที่เป็นเช่นนี้ เพราะญี่ปุ่นมีสังคมที่ให้ความสำคัญกับแสดงความเคารพกับบุคคลที่มีสถานะและลำดับขั้นที่แตกต่างกัน ถึงแมเว่าในช่วงที่ผ่านมานี้ ญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาให้เป็นตะวันตกแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงหลงเหลือความเป็นลำดับชั้นทางสังคมอยู่
เมื่อเทียบกับสังคมตะวันตกแล้ว การใช้ภาษาทั่วไปกับทุกคนนั้นถือเป็นเรื่องที่ปกติ เช่น เมื่อต้องการจะกล่าวถึงบุคคลที่ 2 ในภาษาอังกฤษก็จะใช้คำว่า ‘You’ เท่านั้น ในขณะที่คนญี่ปุ่นจะมีการใช้คำศัพท์ที่หลากหลายแล้วแต่ว่าบุคคลที่ 2 นั้นมีลำดับชั้นทางสังคมอย่างไร ถ้าอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะไปทำงานหรือไปเรียนก็ตาม เพื่อให้มีความกลมกลืนกับความเป็นสังคมญี่ปุ่นที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นอย่างดี เราต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ ‘Keigo’ เพื่อให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และนอกจากนั้นถ้าเราใช้ keigo ได้ ก็จะเป็นการสะท้อนว่าเราเป็นบุคคลที่มีมารยาทเพราะใช้ภาษาสุภาพและเหมาะสมคนหนึ่งค่ะ
Keigo มีอะไรบ้าง? แต่ละประเภทใช้อย่างไรบ้าง?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ‘Keigo’ เป็น ‘ภาษา’ ที่แสดงความเคารพและให้เกียรติต่อบุคคลที่เรากำลังพูดด้วย Keigo ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
- Sonkeigo (尊敬語)
- Kenjougo (謙譲語)
- Teineigo (丁寧語)
Sonkeigo (尊敬語)
ใช้แสดงความเคารพต่อบุคคลที่มีตำแหน่งทางสังคมที่สูงกว่า หรือยกระดับตำแหน่งของบุคคลที่เรากำลังพูดด้วย เช่น เมื่อต้องการพูดกับเจ้านาย หรือลูกค้า เป็นต้น นอกจากนั้น Sonkeigo ยังถูกใช้เมื่อเราต้องการพูดกับบุคคลที่มีอายุที่สูงกว่า หรือไม่เคยเจอกันมาก่อน และที่สำคัญ Sonkeigo จะไม่ถูกใช้เมื่อพูดถึงตัวเอง
Kenjougo (謙譲語)
Kenjougo ใช้เมื่อต้องการลดระดับของผู้พูดเมื่อพูดถึงตัวเอง เมื่อพูดกับบุคคลที่มีตำแหน่งทางสังคมที่สูงกว่า เพื่อให้เกียรติและแสดงความเคารพต่อบุคคลนั้น เพื่อให้ไม่สับสนกับการใช้ Sonkeigo กับ Kenjougo ให้ผู้พูดระบุไปเลยว่าบุคคลที่ทำกริยานั้น ๆ เป็นตัวผู้พูดหรือบุคคลที่มีตำแหน่งที่กว่า
Teineigo (丁寧語)
Teineigo ใช้เพื่อแสดงความสุภาพ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงตำแหน่งทางสังคม ไวยากรณ์และคำศัพท์ที่ใช้มีใกล้เคียงกับภาษาทางการ (Casual Speech) มักจะเป็น Keigo ในรูปแบบเบื้องต้นที่ผู้เรียนมักจะได้เจอ โดยมักจะใช้ です และ ます แทน Dictionary Form
ถึงแม้ว่าการใช้ Keigo จะมีความซับซ้อนและยากต่อผู้เรียนก็ตาม แต่เพื่อให้เข้าใจสังคมญี่ปุ่นและกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมได้อย่างดีมากขึ้น การใช้ Keigo ได้อย่างถูกต้องก็จะเป็นผลดีต่อเรามากกว่าค่ะ ฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วเราจะใช้ได้เก่งมากขึ้นค่ะ