มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า กว่า 87% ของ Professor ใน UK มีความเห็นว่า นักเรียนที่มาเรียนในระดับ University นั้นขาด Research Skill ซึ่งเป็นหนึ่งใน Skills ที่สำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียนได้

เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ จนเราอยากจะตั้งคำถามให้กับสังคม โดยเฉพาะนักเรียนทุก ๆ คนที่กำลังจะก้าวขึ้นไปเรียนในระดับ University ว่า

“คุณคิดว่าคุณมีความพร้อมสำหรับการเรียนในระดับ University จริง ๆ หรือไม่ ?”

เมื่อผลการเรียนอาจไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

เราอาจบอกว่าคน ๆ หนึ่งจะถือว่ามีความพร้อมที่จะเรียนในระดับ University จริง ๆ หรือไม่นั้น เราสามารถวัดได้จากเกรดที่เขาได้จากการสอบจบ A-level หรือ IB Diploma เกรดยิ่งสูง หมายความว่ายิ่งมีความพร้อม

เรื่องราวดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะหลักสูตรอย่าง A-level หรือ IB Diploma นั้น ถูกออกแบบมาโดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนา Skills ที่จำเป็นให้กับนักเรียนให้ไปถึงระดับสูงสุดที่ควรจะเป็นก่อนระดับ University เพราะฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจเรียน A-level หรือ IB Diploma เป็นอย่างดี จนสอบได้เกรดที่สูงมาก ๆ แล้ว ก็น่าจะแปลได้ว่าเราได้ Skills เหล่านั้นครบถ้วนแล้วจริง ๆ

แต่เรื่องราวที่แท้จริง อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเสียทั้งหมด

การวัดผลของ A-level และ IB Diploma นั้น ขึ้นกับการสอบเป็นหลัก แม้หลักสูตรและข้อสอบจะถูกออกแบบมาอย่างดีที่สุดที่จะรวบรวม Skills ที่จำเป็นเอาไว้ให้ครบ แต่มันก็อาจจะไม่ครบถ้วนเสียทั้งหมดทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น Research Skill การที่จะบอกว่าคน ๆ หนึ่งมี Research Skill ที่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะวัดจากการสอบเพียงอย่างเดียว เพราะ Research Skill จะพัฒนาได้ มันต้องผ่านการทำ Research ที่ครบถ้วนกระบวนการ อย่างเช่น การที่นักเรียนได้ทำ EPQ (Extended Project Qualification) นั้น ก็อาจเป็นไปได้ว่านักเรียนคนนั้นจะมีโอกาสได้พัฒนา Research Skill ในช่วงหนึ่งของการเรียน แต่มันจะเกิดขึ้นน้อยมากสำหรับนักเรียนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำ เว้นแต่ว่า เขาทำ Research ข้างนอกเพิ่มด้วยตัวเองจริง ๆ

เพราะฉะนั้น ผลการเรียนที่ดี อาจเป็นเพียงตัวบอกว่าเรามี Skills บางอย่าง แต่อาจจะยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่มี ก็เป็นไปได้

สิ่งที่ทุกคนต้องเจอในการเรียนระดับ Bachelor Degree

เป้าหมายของ Bachelor Degree คือการพัฒนา Skills ของผู้เรียนในด้าน Learning Skills ให้ไปถึงระดับสูงสุด เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องเจอเป็นอย่างแรกก็คือ University เขามีความคาดหวังว่าเราจะเป็นคนที่มี Learning Skills สูงมากมาแล้วในระดับหนึ่ง และพร้อมที่จะมาพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกใน 3 – 4 ปีที่จะได้มาเรียนด้วยกัน

อย่างเช่น ช่วงปี 1 หลาย ๆ ที่จะเริ่มจากการให้สัดส่วนของ Teaching หรือการสอนแบบป้อนให้เราทั้งหมดจริง ๆ นั้น เหลือแค่ประมาณ 20% โดยที่ประมาณ 80% ที่เหลือเป็นหน้าที่ของผู้เรียนที่จะต้อง Self-study ด้วยตัวเอง การอ่านหนังสือ เตรียมข้อมูลล่วงหน้า ก่อนเข้าห้องเรียนนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากใครไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า เข้าเรียนแล้วก็จะไม่เข้าใจ เรียนไม่รู้เรื่อง ตามไม่ทัน และส่งผลเสียในระยะยาวในที่สุด

ส่วนในปี 3 หลาย ๆ ที่จะเน้นการให้นักเรียนทำ Project 100% เต็ม ๆ Professor จะมีหน้าที่แค่ให้คำแนะนำ แต่หน้าที่หลักในการเรียน ค้นคว้า หาความรู้ พัฒนาตัวเองต่าง ๆ จะอยู่ที่ผู้เรียนทั้งหมด เพราะฉะนั้นคนที่ไม่คุ้นเคยกับการที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง จะเกิดปัญหามาก ๆ ถึงขั้นที่อาจจะเรียนต่อไม่ไหวเลยทีเดียว

รางวัลที่จะได้จากการเรียนจบระดับ Bachelor Degree ได้สำเร็จ คือ Skills การเรียนรู้ที่จะติดตัวไปชั่วชีวิต เป็น Skills ที่มีประโยชน์สูงสุดถึงขั้นว่า ต่อจากนี้ถ้าอยากเรียนรู้อะไร ก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การจะผ่านไปจนถึงขั้นนั้นได้ ก็ต้องกลับมาสำรวจตัวเองตั้งแต่ก่อนจะเข้าไปเรียนระดับ Bachelor Degree ว่า เรามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองมากแค่ไหน ถ้ายังไม่พร้อม ก็ได้เวลาเริ่มฝึกฝนตัวเองให้มี Skills ที่ว่านี้ได้แล้ว

Skills อะไรอีกบ้างที่จะทำให้เราพร้อมสำหรับ University และชีวิตในวันข้างหน้า

Skills ที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับทุกคนไม่ว่าสุดท้ายจะไปเรียนต่อด้านไหน หรือเติบโตไปประกอบอาชีพอะไร คือ Skills ในกลุ่มที่เรียกว่า Transferable Skills ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ๆ ได้ดังนี้

  • Cognitive Skills คือ Skills ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ การคิด และการให้เหตุผล ยกตัวอย่าง Skills ย่อย ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
    • Critical Thinking คือความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล
    • Problem Solving คือความสามารถในการแก้ปัญหา
    • Analysis คือความสามารถในการวิเคราะห์
    • Decision Making คือความสามารถในการตัดสินใจ
    • Creativity คือความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ
  • Intrapersonal Skills คือ Skills ที่เกี่ยวกับการจัดการตัวเอง ทั้งในด้านของอารมณ์ และ การเรียนรู้ ยกตัวอย่าง Skills ย่อย ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
    • Adaptability คือความสามารถในการปรับตัวเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป
    • Continuous Learning คือความสามารถในการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
    • Intellectual Curiosity คือความอยากรู้อยากเห็นในแนวคิดที่ลึกซึ้ง
    • Self-Evaluation คือความสามารถในการประเมินตัวเอง
  • Interpersonal Skills คือ Skills ที่เกี่ยวกับการติดต่อและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ยกตัวอย่าง Skills ย่อย ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
    • Teamwork and Collaboration คือความสามารถในการทำงานเป็นทีมและทำงานร่วมกับผู้อื่น
    • Communication คือความสามารถในการสื่อสาร
    • Negotiation คือความสามารถในการเจรจาต่อรอง
    • Empathy คือความสามารถในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
    • Leadership คือความสามารถในการเป็นผู้นำ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของ Transferable Skills ที่มีประโยชน์ เพิ่มเติมนอกเหนือไปจาก Learning Skills และ Research Skills ที่เป็น Skills หลักที่ University ต้องการจะเห็น อย่าลืมสำรวจตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่ามี Skills ไหนบ้างที่เรายังขาด หรือยังสามารถพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีก เพราะยิ่งเรามีสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จในการเรียนระดับ University และการใช้ชีวิตในวันข้างหน้าก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

ความรักในสิ่งที่เรียนจะทำให้เรามีความพร้อมสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง

การสร้างความพร้อม และการพัฒนา Skills ที่จำเป็นสำหรับชีวิตก่อนที่จะขึ้นไปเรียนในระดับ University นั้น จะทำได้ง่ายขึ้นมาก ๆ ถ้าเราทำผ่านสิ่งที่เรารัก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไม University โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน UK นั้น ให้ความสำคัญมาก ๆ กับการคัดเลือกคนที่ Born to be ในสิ่งที่ทำ มี Passion ในสิ่งที่เลือก และมี Purpose ในสิ่งที่ตรงกับตัวเราเองที่สุด เพราะ University ใน UK เขามีความเชื่ออยู่แล้วว่า ถ้าคน ๆ หนึ่งจะพัฒนา Skills ของตัวเองไปถึงระดับสูงสุดได้จริง ก็จะต้องทำผ่านสิ่งที่ตัวเองมีความรักที่จะเรียนรู้มากที่สุดเท่านั้น

ถ้าเรารัก เราชอบ เรามีความสุขในเรื่องนั้น การให้เราต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย การให้เราต้อง Research ค้นคว้าอย่างไม่หยุดหย่อน รวมถึงการพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้านนั้น เราจะไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระ แต่เรากลับจะรู้สึกว่ามันเป็นชีวิตที่ดี เพราะเราได้อยู่กับสิ่งที่เป็นความสุขของชีวิตตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น นอกเหนือไปจากการพัฒนา Skills ให้ครบทุกด้านก่อนจะไปเรียนในระดับ University แล้ว ก็อย่าลืมกลับไปถามตัวเอง ว่าเรากำลังจะเลือกเรียน เลือกทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบจริง ๆ หรือไม่

ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ขอแสดงความยินดีด้วยครับ เพราะมันแปลว่าคุณน่าจะมีความพร้อมสำหรับการเรียนในระดับ University แล้วครับ