ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

ใครที่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่นจะรู้ได้อย่างดีว่าส่วนที่ยากที่สุดนอกจากไวยากรณ์นั้นก็คือการจำคันจิให้ได้ และถ้ายิ่งมีโอกาสได้มาเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นด้วยแล้วจะพบว่าไม่ว่าจะป้ายร้านค้า สินค้าหรือป้ายบอกทางล้วนประกอบไปด้วยตัวคันจิทั้งนั้น เราจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย ไม่มีทางไหนที่จะทำให้เราอ่านได้นอกจากต้องจำคันจิให้ได้เท่านั้น ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาแชร์วิธีการจำคันจิที่ตัวเองใช้ให้กับคนที่ตอนนี้กำลังเจอปัญหาอยู่ค่ะ

  1. จำเป็นรูปภาพ

ถ้าเราจำตัวคันจิทุกตัวด้วยจำนวนเส้นแต่เพียงอย่างเดียว อาจจะต้องใช้เวลาจำนวนมากในการจำเลยค่ะ วิธีที่ลองทำแล้วได้ผลก็คือลองเปลี่ยนมาจำเป็นรูปภาพแทนการจำเส้น ก็จะช่วยให้เรานึกภาพออกเวลาต้องเขียนได้เร็วมากขึ้น อีกทั้งการจำเป็นภาพยังช่วยให้เราจำคันจิตัวนั้นได้ตลอดถึงแม้ว่าจะไปผสมกับตัวอื่นก็ตาม เมื่อต้องนึกลายเส้นก็จะพอจินตนาการได้ว่าจะต้องเขียนเป็นรูปร่างแบบไหน

2. อ่านให้เยอะ

วิธีที่ช่วยให้เราจำคันจิได้ดีก็คือต้องอ่านให้เยอะ ไม่ว่าจะป้ายบอกทาง ป้ายสินค้า หรือที่เราพบเห็นทั่วไป จนไปถึงอ่านหนังสือที่ใช้คันจิแทนฮิรากานะให้มากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้เรานำสิ่งที่เราเรียนไปใช้งานได้จริง เป็นการฝึกฝนอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อเจอคำไหนแล้วอ่านไม่ออกก็จดไว้แล้วนำกลับมาทบทวนอีกครั้ง วิธีนี้จะทำให้เราเหมือนทำแบบฝึกหัดอยู่เสมอ และประเมินตัวเองได้ด้วยว่าจำนวนคันจิที่มีสามารถใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นได้หรือไม่ และเพียงพอกับระดับตัวเองแล้วหรือยัง

3. คัดให้เยอะ

นอกจากจำเป็นภาพและอ่านให้เยอะแล้ว วิธีที่จะช่วยให้เราจำได้ดีอีกวิธีก็คือคัดให้เยอะขึ้น เมื่อเราคัดมากขึ้นมือเราก็จะจำได้ว่าตัวนี้มีลายเส้นอย่างไร ตาเราก็จะจำได้ว่าตัวนี้เขียนแบบนี้และความหมายแบบนี้ เมื่อผ่านการฝึกฝนเยอะขึ้น เราก็จะจำมันได้เองโดยไม่ต้องบังคับ แต่การคัดให้เยอะขึ้นไม่ใช่ทำล่วงหน้าก่อนเรียนเพียงแค่ 1 วัน วิธีนี้ต้องอาศัยความสม่ำเสมอ เพราะการจำคันจิต้องใช้เวลาค่ะ ให้คัดทุกวัน ต่อให้เรียนตัวใหม่แล้วก็ต้องนำตัวเก่ามาท่องใหม่ เพื่อให้ความจำสดใหม่เสมอค่ะ

ถึงแม้ว่าเทคนิคเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ที่คิดค้นขึ้นมา แต่ก็ต้องอาศัยความตั้งใจและสม่ำเสมอในการเรียนอย่างมากนะคะ ถ้าอยากเรียนได้ดี ก็ทำได้แค่ตั้งใจ ฝึกฝน และลงมือทำเท่านั้นค่ะ