ปีหน้า จะอ่านหนังสือให้ครบ 50 เล่ม

ปีหน้า จะลดน้ำหนักได้สัก 10 กิโล

ปีหน้า จะสอบได้คะแนนเต็มในทุกวิชา

ปีหน้า จะมีรายได้เท่านั้นเท่านี้บาท

และอีกหลายข้อความที่คุ้นเคยเหล่านี้ มักจะปรากฎอยู่ใน New Year Resolution ของหลาย ๆ คน

New Year Resolution คือการตั้งเป้าหมาย แต่มีความพิเศษกว่าการตั้งเป้าหมายทั่วไป เพราะเรามักจะทำกันช่วงใกล้ ๆ ปีใหม่ เพื่อเป็นการประกาศความตั้งใจทั้งต่อตนเอง หรือในบางกรณีคือต่อสาธารณะด้วย ว่าตั้งใจจะทำอะไรให้สำเร็จในปีหน้า

เคยเขียน New Year Resolution กันไหมครับ ถ้าใครเคยเขียนคงจำความรู้สึกได้ ว่าตอนเริ่มเขียนนั้นมันมีความฮึกเหิม ทุกอย่างดูน่าตื่นเต้น ทุกอย่างดูเป็นไปได้ ส่วนใครถ้ายังไม่เคยเขียน ปีนี้ลองเริ่มดู แล้วจะสัมผัสถึงความรู้สึกอย่างที่ว่าได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

และสิ่งที่มักเกิดขึ้นกับ New Year Resolution ส่วนใหญ่ก็คือ … มันทำไม่สำเร็จ

มีอยู่ปีหนึ่งที่ผมเขียน New Year Resolution ข้อหนึ่งว่า “จะอ่านหนังสือตลอดปี ให้ได้ทั้งหมด 52 เล่ม” หรือว่าง่าย ๆ ก็คืออ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละเล่ม ตอนเขียน New Year Resolution ข้อนี้ลงไปนั้น ไฟมันลุกท่วม มันตื่นเต้น มันตั้งตารอเป็นอย่างมากที่จะทำให้สำเร็จตามที่ประกาศเอาไว้

และในปีนั้น ผมอ่านหนังสือจบไปทั้งสิ้น … 6 เล่ม … น้อยกว่าปีที่ไม่ได้เขียน New Year Resolution ข้อนี้เสียอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ 2 สัปดาห์แรกผมไฟแรงมาก อ่านหนังสือเล่มแรกจบในสัปดาห์แรก อ่านอีกเล่มจบในสัปดาห์ที่สอง พอสัปดาห์ที่สาม งานเริ่มเข้า ภาระเริ่มมา มีอะไรต้องทำมากมาย มีบางวันผมไม่ได้อ่านหนังสือ เหลืออีกแค่ 2 วันจะหมดสัปดาห์ ผมต้องทำอย่างไรก็ได้ให้อ่านหนังสือเล่มที่สามจบภายในเวลา 2 วัน สุดท้ายก็รีบอ่านจนจบได้ … แต่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะรีบเกินไป

พอหนังสือเล่มที่สาม ต้องรีบอ่าน กดดันที่จะอ่าน แล้วไม่ได้สาระ แถมไม่ได้ความพึงพอใจอะไรในการอ่าน ไฟในการอ่านเล่มที่ 4 ก็มอด ผมค้างหนังสือเล่มที่ 4 อยู่หลายเดือนกว่าจะหยิบมาอ่านจนจบ นั่นแปลว่าผมได้ทิ้ง New Year Resolution ข้อนี้ ไปตั้งแต่ยังไม่พ้นเดือนแรกของปีเสียด้วยซ้ำ

ผมไม่ได้บอกว่าการเขียน New Year Resolution นั้นไม่ดี มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ มันคือการตั้งเป้าหมายที่น่าตื่นเต้น เป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเองที่ดีที่หลาย ๆ คนใช้แล้วได้ผล แต่การจะใช้เครื่องมือชั้นดีได้อย่างได้ผลที่แท้จริงนั้น เราต้องใช้มันได้อย่างถูกต้อง

ผู้อ่านอาจจะเคยเห็นคำแนะนำจากหลาย ๆ ที่แล้ว ว่า New Year Resolution ที่ดีต้องเป็นอย่างไร ถ้าคลาสสิคสุด ๆ ก็จะแนะนำว่า New Year Resolution นั้นก็เหมือนกับการตั้งเป้าหมายอื่น ๆ คือมันต้อง SMART ซึ่ง SMART ก็คือ S (Specific – จำเพาะเจาะจง) M (Measurable – วัดผลได้) A (Achievable – เป็นไปได้ คว้าได้ เอื้อมถึงได้) R (Relevant – เกี่ยวกับสิ่งสำคัญในชีวิต) T (Timebound – มีกรอบเวลาที่ชัดเจน) ซึ่งผมก็เห็นด้วย อย่างไรก็ดี ผมมีอีกคำแนะนำซึ่งได้จากการตั้งข้อสังเกตจากความผิดพลาดของตัวเองในอดีตที่ผ่านมา ที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการเขียน New Resolution ของท่านผู้อ่านทุกท่าน

นั่นคือ New Year Resolution นั้น ต้องพูดเรื่องเหตุ มากกว่า ผล

มายกตัวอย่างด้วย New Year Resolution ของผมที่จะอ่านหนังสือให้ได้ปีละ 52 เล่มกัน ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน

52 เล่มคือผลลัพธ์ นั่นหมายความว่าแทบไม่ได้สนเสียด้วยซ้ำว่า 52 เล่มนั้น คือหนังสืออะไร อ่านแล้วรู้เรื่องไหม อ่านแล้วเอาไปทำประโยชน์ได้ไหม อ่านแล้วเอาไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร ซึ่งพอกลับไปที่เหตุผล ว่าทำไมผมถึงตั้ง New Year Resolution เกี่ยวกับการอ่านหนังสือ ผมก็พบว่าผมได้หลงทางไปไกลมาก เพราะเหตุผลที่แท้จริงของผมคือ ผมอยากรู้อะไรเยอะ ๆ เพื่อเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังต่อได้ ซึ่งถ้าเหตุผลของผมเป็นเช่นนี้ การตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเล่มที่ต้องอ่านให้จบ โดยไม่ได้สนใจคุณภาพหรือสาระประโยชน์ที่จะนำไปใช้ต่อได้นั้น มันคือความผิดมหันต์

ถ้าผมอยากรู้เยอะ ๆ จนเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังได้ ผมก็ต้องรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี การที่จะรู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดีได้ มันไม่ใช่แค่อ่านหนังสือจบ แต่มันต้องวิเคราะห์ ต้องตกผลึก ต้องทำสรุป ต้องหาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม ถึงจะเอาไปเล่าให้คนอื่นฟังได้

ซึ่งถ้าการที่ต้องรีบ ๆ อ่านหนังสือให้ได้สัปดาห์ละ 1 เล่ม โดยที่อ่านจบอย่างเดียวแล้วขาดกระบวนการต่าง ๆ เพื่อทำให้ตัวเองรู้เรื่องมากที่สุดเพื่อที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้นั้น … นั่นเท่ากับว่า ผมหลงทางอย่างสิ้นเชิง

ถ้าอย่างนั้น New Year Resolution ที่น่าจะมีประโยชน์กว่าการอ่านหนังสือให้ได้ปีละ 52 เล่ม น่าจะกลายเป็น

“อ่านหนังสือ บทความ งานวิจัย (รวมถึงการฟัง และ การดู) และตกผลึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ออกมา ให้ได้ทุกวัน”

สาระสำคัญอีกอย่างคือคำว่า “ทุกวัน” ถ้าตั้ง New Year Resolution แบบนี้ นั่นแปลว่าเราตั้งใจจะทำเหตุที่สมควรให้ได้อย่างน้อยทุกวัน แบบนี้ต่างหากที่จะตรงกับความตั้งใจที่จะเรียนรู้ให้ได้มาก ๆ เพื่อเอาไปก่อประโยชน์ให้คนอื่นได้เยอะ ๆ

หรืออย่าง New Year Resolution อื่น ๆ ที่ยกตัวอย่างข้างต้น เราก็สามารถเปลี่ยนเป็นแบบ มุ่งที่เหตุ มากกว่าใส่ใจที่ผล ได้ทั้งสิ้น

ปีหน้า จะลดน้ำหนักได้สัก 10 กิโล ก็เปลี่ยนเป็น จะเป็นคนใส่ใจสุขภาพ เลือกอาหารที่กิน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ปีหน้า จะสอบได้คะแนนเต็มในทุกวิชา ก็เปลี่ยนเป็น จะทบทวนบทเรียนทุกวัน จะทำแบบฝึกหัดเสมอ ๆ พัฒนา Skills ที่ยังบกพร่องให้ครบถ้วน

ปีหน้า จะมีรายได้เท่านั้นเท่านี้บาท ก็เปลี่ยนเป็น จะตั้งใจทำงาน จะพัฒนาตัวเอง จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ จะคว้าโอกาสที่ได้รับเข้ามา เป็นต้น

เราจะเอาเรื่องการตั้งเป้าหมายแบบ SMART มาทำให้การทำ New Year Resolution แบบให้ความสำคัญที่เหตุนี้ ดูหนักแน่นยิ่งขึ้นไปก็ได้ อันนี้แล้วแต่ชอบ แล้วแต่สะดวก

แต่สุดท้าย ขอให้อย่าลืมเรื่องหนึ่งว่า ขอให้ทำอย่างสนุก

มันก็เหมือนที่เราบอกเด็ก ๆ ว่าให้เรียนในสิ่งที่เก่ง รัก ชอบ ถนัด และมีความสุข เป็นสิ่งที่ Born to be เป็นสิ่งที่มี Passion เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ Life Purpose ถ้ามันเป็นแบบนั้น เขาก็จะทำได้ดี ประสบความสำเร็จสูงสุดได้ เพราะมันคือความสนุกในชีวิต เพราะฉะนั้น มันต้องสนุกที่จะทำ

ปีใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว ใครอยากพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีหน้า ก็ลองตั้ง New Year Resolution ในแบบของตัวเองกันดู อย่าลืมเน้นไปที่เหตุมากกว่าผล และต้องเป็นสิ่งที่อยากทำและสนุกที่จะทำนะครับ

แต่ถ้าเผอิญใครผ่านเข้ามาอ่านบทความนี้ในช่วงอื่นของปี ก็ไม่จำเป็นต้องรอถึงปีหน้า ถ้าจะตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง ก็ตั้งมันตอนนี้ เดี๋ยวนี้ได้เลย

มีแค่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้เท่านั้น ที่เราจะทำอะไรสักอย่างได้จริง ๆ ที่เราจะมีชีวิตของเราได้อย่างแท้จริง

ขอให้มีชีวิตที่ยอดเยี่ยม ประสบความสำเร็จ สงบ ร่มเย็น เป็นประโยชน์ นะครับ

APSthai : The Best Education In Your Own Version