บางคนกล่าวเอาไว้ว่า “ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ แค่เพียงเราเลือกที่จะเรียนรู้จากมัน” เป็นประโยคที่ฟังดูดีทีเดียวครับ และเชื่อไหมครับว่าบ่อยครั้งที่ความผิดพลาดได้กลายเป็นบ่อเกิดของสิ่งที่งดงามที่สุดในชีวิต คราวนี้ดูเหมือนจะเป็นประโยคที่ฟังดูเกินจริงไปบ้าง แต่มันไม่เกินจริงไปหรอกครับ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงในประเทศญี่ปุ่น และนี่คือเรื่องราวที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้ครับ

ถ้วยชามที่แตกร้าว ไม่ได้แปลว่าต้องทิ้งเสมอไป

ปกติแล้วถ้าเราทำถ้วยชามแตก เราจะทำอย่างไรครับ ? แน่นอนว่าส่วนใหญ่ก็คงจะทิ้ง เพราะการซ่อมแซมถ้วยชามที่แตกนั้นไม่ง่าย และรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นนั้นก็ดูไม่ดีเอาเสียมาก ๆ เพราะฉะนั้นทิ้งไปเลยน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แต่ที่ญี่ปุ่นในสมัยหนึ่งของโชกุน Yoshimitsu นั้น โชกุนท่านนี้ทำถ้วยชามใบโปรดแตก และช่างฝีมือในสมัยนั้นนำไปซ่อมโดยเปลี่ยนรอยแตกร้าวที่น่าเกลียดนั้น ให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่าและงดงามที่สุด

สิ่งที่ช่างฝีมือคนนั้นทำคือการนำทองคำมาประสานรอยร้าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้รอยแตกร้าวที่ควรจะดูน่าเกลียดกลายเป็นลวดลายของทองคำที่สวยงาม ทำให้ถ้วยชามใบนั้นที่จากเดิมสวยแบบธรรมดาทั่วไป สวยงดงามมากขึ้นจากการที่รอยแตกร้าวถูกประสานด้วยทองคำ และเทคนิคการซ่อมแซมถ้วยชามด้วยทองคำนี้เรียกว่า Kintsugi ครับ

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของนักปราชญ์ชื่อ Rikyu ที่เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่บ้านของท่านผู้หนึ่งที่เป็นเจ้าของเหยือกชาที่งดงามที่ได้มาจากเมืองจีน และตั้งใจว่าจะเอามาอวดในงานเลี้ยงเพื่อให้นักปราชญ์ Rikyu ชื่นชม ปรากฎว่าในงานเลี้ยงดังกล่าวนักปราชญ์ Rikyu ไม่ได้สนใจเหยือกชานั้นเลย จนกระทั่งเลิกงานเลี้ยงกลับไป เจ้าของเหยือกชารู้สึกไม่พอใจที่ไม่ได้รับความสนใจ จึงขว้างเหยือกชาลงกับพื้นจนแตกกระจาย ปรากฎว่ามีคนหนึ่งในบ้านท่านเอาเหยือกชาที่แตกกระจายนั้นไปซ่อมแซมด้วยวิธีการแบบ Kintsugi แล้วนำกลับวางไว้ที่เก่า พองานเลี้ยงครั้งถัดมา นักปราชญ์ Rikyu เข้าร่วมอีก และเมื่อได้เห็นเหยือกชาที่มีรอยแตกร้าวที่เคลือบด้วยทองคำนั้น ก็พูดขึ้นมาว่า “นี่สิ ที่เรียกว่างดงามอย่างแท้จริง”

ในทำนองเดียวกัน ชีวิตที่ผิดพลาดก็ไม่ได้แย่ แถมยังดีกว่าเดิมได้อีก

ถ้าจะเอาหลักการของ Kintsugi มาประยุกต์ใช้กับชีวิตนั้น ก็คงตรงกับสิ่งที่หลาย ๆ คนเคยได้ยินมานั่นแหละว่า เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ให้เรียนรู้จากตรงนั้น แก้ไขปัญหา แล้วทำให้ดีขึ้น แต่หลาย ๆ คนก็อาจจะสงสัยว่ามันจะเทียบเคียงกันได้อย่างไร ในเมื่อความผิดพลาดที่ทำไปนั้นมันก็ยังคงอยู่ และสิ่งที่ได้เรียนรู้ ก็อาจจะไม่ได้มีค่าอะไรที่จะไปเทียบกับทองคำได้

ผมจะเล่าเรื่องจริงที่เกิดขึ้นให้ฟังครับ

นักเรียนคนหนึ่งไม่ผ่านการสัมภาษณ์เข้า Cambridge ในวันแรกที่รู้ผล เขาเสียใจมาก ๆ ณ เวลานั้น เขาได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยแล้วทั้งหมด 3 แห่ง และมีอีก 1 แห่งที่กำลังรอให้เขาไปสัมภาษณ์คือที่ Imperial แต่ด้วยความที่เสียใจมาก ๆ เขาตัดสินใจบอกกับทุกคนว่า เขาจะปฏิเสธการตอบรับจากมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง และจะไม่ไปสัมภาษณ์ที่ Imperial ด้วย เขาจะไม่ไปไหนแล้ว เขาก็จะขอพักสัก 1 ปี จนกว่าจะทำใจได้ แล้วปีหน้าค่อยสมัคร Cambridge ใหม่

เราได้พูดคุยกับนักเรียนคนนี้ และถามเขาว่าเขาวางแผน 1 ปีตรงนี้ไว้อย่างไร เขาบอกว่าช่วงแรกนี้เขาคงจะหยุดการเรียนไปเลย คงจะออกไปเที่ยวไปทำอะไรสนุก ๆ เพราะตอนนี้เขาเสียใจมาก ๆ และยังไม่อยากคิดอะไร เขาเชื่อว่าในวันที่เขาหายดี เขาก็จะสามารถกลับมาสมัคร Cambridge ได้ใหม่ในปีหน้า

เราแนะนำเขาว่า ความคิดแบบนี้อาจจะเป็นอันตรายต่ออนาคตของเขาเอง เพราะเราจะรู้ได้อย่างไรว่าปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แล้วสุดท้ายเขาจะหายเสียใจจริง ๆ ได้อย่างไรถ้าเขาเลือกที่จะหนีความจริงแบบนี้ เราแนะนำต่อไปว่าสิ่งที่ควรจะทำตอนนี้คือยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วตั้งใจกับอีก 1 มหาวิทยาลัยที่รอเราไปสัมภาษณ์นั่นคือ Imperial อย่างน้อยสิ่งที่ต้องทำคือ พิสูจน์ตัวเองให้ดีที่สุดก่อน ถ้าได้ Imperial มาแล้วในมือ แล้วปีหน้าจะยังสมัคร Cambridge ใหม่ก็แล้วแต่ แต่จะทิ้งทุกอย่างแบบพ่ายแพ้แบบนี้ไม่ได้

นักเรียนคนนี้เห็นด้วย เราจึงช่วยกันเริ่มวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสัมภาษณ์ที่ Cambridge ว่าเขาถูกถามคำถามอย่างไรบ้าง เขาตอบคำถามอย่างไรบ้าง เขามีอาการเป็นอย่างไรบ้าง เขาเตรียมตัวไปอย่างไรบ้าง เมื่อวิเคราะห์ทั้งหมดแล้ว เราก็ช่วยกันดูอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่น่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้คืออะไร

จากนั้น เราก็มาช่วยกันวิเคราะห์ว่า Imperial จะถามอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอะไรเพิ่มอีกไหม เชื่อไหมครับว่าการที่นักเรียนคนนี้ได้กลับมาลงมือทำสิ่งที่ควรทำ มันทำให้เขาลืมความเสียใจไปได้ชั่วขณะหนึ่ง มันทำให้เขาเกิดความคิดอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาแทนว่า เขาจะสามารถชนะใจ Imperial ได้อย่างไร เขาจะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร

สุดท้ายเขาไปสัมภาษณ์ที่ Imperial ด้วยความพร้อมและมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม แน่นอนครับ ในที่สุด Imperial ก็ตอบรับเขาให้เข้าไปเรียน

เราได้พูดคุยกับนักเรียนคนนี้หลังจากนั้นว่า เขายังคิดจะกลับไปสมัคร Cambridge ในปีหน้าไหม เขาตอบว่าเขาไม่คิดจะกลับไปแล้ว เพราะอย่างแรกก็คือ ได้ Imperial นี่ก็ดีมาก ๆ แล้ว และอย่างที่สองก็คือเขาคิดว่าเขาได้เรียนรู้สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว เขาได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดในการสัมภาษณ์ที่ Cambridge ของเขาคืออะไร เขาได้เรียนรู้วิธีที่จะปรับปรุงสิ่งที่ยังเป็นข้อบกพร่องของเขาให้ดีขึ้น และเขาได้เรียนรู้ที่จะมองข้อดีในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้เป็น

เราถามนักเรียนคนนี้ว่า เขายังเสียใจไหมที่ไม่ได้ Cambridge เขาตอบว่า ความเสียใจลึก ๆ มันก็ยังมี แต่มันก็เบาบางไปมาก ๆ แล้ว แต่ตอนนี้เขารู้สึกดีมาก ๆ กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ กับโอกาสใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามา เขาเชื่อว่า ถ้าเขาไม่ถูกปฏิเสธจาก Cambridge เขาก็ยังคงไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้ต้องถือว่าดีมาก ๆ เพราะมันทำให้เขาได้เจออีกสิ่งหนึ่งที่ดีมาก ๆ เช่นกัน ก็คือตัวเองที่พัฒนาขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง

เหมือนดั่งรอยร้าวของถ้วยชามที่ไม่มีวันหายไป แต่ที่เคลือบเอาไว้คือทองคำที่มีค่า ที่ยิ่งทำให้ถ้วยชามนั้นมีความงดงามและโดดเด่นมากขึ้น

ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมดีเสมอ และเผลอ ๆ มันดีกว่าที่เราคิดเอาไว้มาก ๆ ขอแค่เพียงเรียนรู้จากมัน แม้ในชั่วโมงที่มืดมิดที่สุดจงหัดที่จะมองเห็นประโยชน์จากช่วงเวลานั้นให้เจอ แม้ในวันเวลาที่เลวร้ายที่สุด จงหัดที่จะมองเห็นโอกาสในวิกฤตเหล่านั้นให้ได้ ทุกสิ่งที่ได้เรียนรู้จะกลายเป็นของขวัญล้ำค่า ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าต้องกลับมาขอบคุณเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้น

ชีวิตที่ดีงาม ไม่ใช่ชีวิตที่ไม่เคยผิดพลาด แต่คือชีวิตที่ผิดพลาดแล้วเติบโต เรียนรู้ จากความผิดพลาดนั้นได้ต่างหากครับ