บ่อยครั้งที่เด็ก ๆ บางคนที่ (ดูเหมือนจะ)เตรียมสอบมาเป็นอย่างดี พอเข้าไปสอบ IGCSE หรือ A-level ของจริงแล้ว ออกห้องสอบมาถึงกับหน้าเสีย แล้วก็มาบ่นกับครูว่าทำไม่ได้ ข้อสอบเปลี่ยนเยอะมาก ไม่ตรงกับที่เตรียมไปเลย เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึงนี้ เรามาดูกันครับว่า เราจะรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

หลักสูตรมีการเปลี่ยนแปลงตลอด

หลักสูตร IGCSE และ A-level ในทุก ๆ วิชามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดครับ ถ้าเราเข้าเว็บไซต์ของ examination board อย่าง CAIE (หรือ CIE ในชื่อเดิม), Edexcel, AQA, OCR, WJEC หรืออะไรก็ตาม เวลาเราเข้าไปดูหลักสูตร หรือ syllabus ในแต่ละวิชา เราจะเห็นว่ามันมีหลักสูตรให้เลือกในหลาย version แล้วมันจะมีระบุไว้ชัดเจนว่า ตัวไหนใช้สำหรับการสอนในปีไหน และใช้กับการสอบในปีไหน

ส่วนมากมันจะเปลี่ยนทุก ๆ 2-3 ปี บางอย่างก็ 5 ปี ตรงนี้แล้วแต่เลย ซึ่งสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ก็คือ ครูผู้สอนต้องรู้ว่าตนเองกำลังสอน syllabus ตัวไหน ใช่ตัวที่เด็กจะต้องใช้สอบหรือไม่ เพื่อให้อย่างน้อยเป็นการสอน syllabus ที่ถูกต้อง

แม้หลักสูตรจะเปลี่ยนแปลง แต่ข้อสอบเก่า (Past papers) ก็ยังใช้ได้เสมอ

แม้ว่าหลักสูตรจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามันไม่ได้ถึงกับเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ มันจะยังมีเนื้อหาหลัก ๆ หลาย ๆ อย่างที่คงอยู่ อาจมีการเพิ่มบางบท ลดบางหัวข้อ ให้ความสำคัญกับบางเรื่อง ลดความสำคัญกับบางสิ่ง ก็เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ข้อสอบเก่าหรือ Past papers นั้น ยังใช้ประกอบการเรียนการสอนได้เสมอ แม้จะเป็นของ syllabus เก่าก็ตาม

เพียงแต่ว่าเป็นหน้าที่ที่ครูต้องรู้ว่า syllabus ปัจจุบันเป็นอย่างไร แล้วโจทย์ใน Past papers ที่เอามาให้เด็กทำนั้นมันสอดคล้องกับ syllabus ปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ส่วนหน้าที่ของเด็ก ๆ นั้น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างว่า “โห! ครู ข้อสอบมันเก่าไปตั้ง 10 กว่าปีแล้ว ไม่ต้องทำหรอก มันใช้ไม่ได้แล้ว” อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะข้อสอบจะเก่าแค่ไหนก็ยังมีประโยชน์ในแง่ของการฝึกฝนได้ ถ้าเราเลือกที่จะใช้มันให้เป็น

ข้อสอบเปลี่ยนไหมไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องเอาตัวรอดให้ได้

มีคนทำนายว่า ข้อสอบ IGCSE และ A-level นั้นจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทุก ๆ 5 ปี เพราะสังเกตได้ว่าทุก ๆ 5 ปีจะมีการโอดครวญครั้งใหญ่ของเด็ก ๆ ที่ทำข้อสอบไม่ได้ แต่เอาจริง ๆ แล้วผมเห็นการโอดครวญเกิดขึ้นทุกปี เห็นเด็กโวยวายทุกปี ไม่ว่าจะทุก ๆ 1-2 ปี หรือทุก ๆ 5 ปี นั่นแปลว่าจริง ๆ แล้วข้อสอบเปลี่ยนทุกปีใช่หรือไม่ ?

เปลี่ยนไม่เปลี่ยนไม่สำคัญหรอกครับ เราต้องคิดแบบนี้ว่า ในวันที่เด็กหลาย ๆ คนบ่นเรื่องข้อสอบเปลี่ยน ทำให้ตัวเองทำข้อสอบไม่ได้ ก็จะยังมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้เจอปัญหานี้ ยังคงทำข้อสอบได้ และสุดท้ายก็ได้เกรดและคะแนนที่ดีมาก ถ้าข้อสอบมันเปลี่ยนจริง ๆ ชนิดที่ว่าเปลี่ยนจนเด็ก ๆ ไม่ควรจะทำได้ มันก็ควรจะทำไม่ได้กันทุกคน แต่ถ้านี่ยังมีบางคนที่ทำได้ คำถามคือ จริง ๆ แล้วปัญหามันอยู่ที่ตัวเราเองหรือเปล่า ?

โจทย์จึงไม่ใช่ว่าข้อสอบเปลี่ยนหรือไม่ เพราะเราไม่มีวันรู้อนาคต อย่างเดียวที่ต้องรู้และต้องจัดการให้ได้ก็คือ ไม่ว่าข้อสอบจะเปลี่ยนหรือไม่ เราจะเอาตัวรอดได้อย่างไร

ย้อนกลับไปที่วิธีการเรียนการสอน และ การทำ Past papers

จะเอาตัวรอดได้หรือไม่ต้องกลับไปที่การเรียนสอน ครูสอนให้เด็กเข้าใจเนื้อหาวิชานั้น ๆ อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่แค่ท่อง ๆ จำ ๆ เอาไปสอบหรือไม่ และเด็ก ๆ เองเข้าใจเนื้อหาจริง ๆ หรือแค่สามารถถู ๆ ไถเพื่อเอาตัวรอดไปวัน ๆ หรือเปล่า

ซึ่งนี่รวมไปถึงการทำ Past papers ด้วย ครูให้เด็กทำ Past papers เยอะ ๆ เด็ก ๆ เองก็ทำ Past papers เยอะ ๆ เพียงเพื่อให้คุ้นเคยกับโจทย์ กับคำถาม และวิธีตอบเพียงเท่านั้น โดยคาดหวังว่าเดี๋ยวข้อสอบจริง ๆ ก็คงจะออกซ้ำ ๆ แบบนี้อีก หรือการฝึกทำ Past papers นี้เป็นไปเพื่อพัฒนาทักษะ (skills) ต่าง ๆ ที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นทักษะในการแก้ปัญหา (Problem solving skill) ทักษะการคิดอย่างมีเหตุมีผล (Logical thiking skill) ทักษะในการวิเคราะห์ (Analytical skill) ทักษะในการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ (Decision making and critical thinking skill) รวมถึงทักษะอื่น ๆ อีกมากมาย นี่แหละครับคำถามสำคัญว่าเราฝึกทำ Past papers ไปเพื่ออะไร

ถ้าเพื่อแค่ให้คุ้นเคย และหวังว่าข้อสอบจะออกแบบเดิมอีก อันนี้โอกาสล้มเหลวก็สูงมาก เพราะถ้าข้อสอบพลิกนิดเดียว นั่นแปลว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าเพื่อพัฒนาทักษะให้สามารถรับมือได้ไม่ว่าข้อสอบจะเป็นแบบไหน ประกอบกับการเข้าใจสิ่งที่เรียนอย่างแท้จริง แบบนี้ข้อสอบมาแบบไหนก็ทำได้หมด และนี่คือความแตกต่างของคนที่ล้มเหลวกับคนที่สำเร็จครับ

เพราะฉะนั้น ให้คาดหวังไว้ก่อนเลยว่า ข้อสอบอาจจะไม่เหมือนเดิม แล้วย้อนกลับไปถามตัวเองว่า เราเรียนเข้าใจจริง ๆ แล้วหรือยัง เราฝึกทำแบบฝึกหัดและข้อสอบเก่าแล้วได้พัฒนาทักษะอะไรที่จำเป็นครบถ้วนแล้วหรือยัง ในมุมของครูผู้สอนก็เช่นกันครับ เราแค่กำลังให้เทคนิคเด็ก ๆ เพื่อแค่ให้พอที่จะสอบผ่านเอาตัวรอดไปได้ หรือเรากำลังสอนเขาให้เข้าใจในสิ่งนั้น ๆ อย่างแท้จริง

การรับมือกับข้อสอบที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ดีที่สุด ก็คือ mindset นี้แหละครับว่า เราไม่ได้เรียนแค่พอผ่าน เราไม่ได้เรียนเชิงกลยุทธ์ว่าจะเอาเกรดมาได้อย่างไร แต่เราเรียนเพื่อที่จะเข้าใจจริง ๆ และเพื่อพัฒนาทักษะที่ควรจะมีได้อย่างครบถ้วนจริง ๆ ถ้าคิดแบบนี้ได้ ยังไงก็รอดครับ

ขอให้ทุกคนคิดได้ รอดไปได้ และประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ในการสอบที่กำลังจะมาถึงนี้นะครับ เป็นกำลังใจให้ครับ