ช่วงนี้เด็ก Year 13 หลาย ๆ คนเริ่มได้รับการตอบรับ จากมหาวิทยาลัยที่อังกฤษกันบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ๆ ที่เรียน A-level ในเมืองไทย หรือเด็ก ๆ ที่เรียน A-level ที่อังกฤษ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าการเรียน A-level ที่เมืองไทย กับการไปเรียน A-level ที่อังกฤษนั้น มันต่างกันหรือไม่ ? โอกาสที่จะได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยระดับท็อปที่อังกฤษในสาขาวิชาที่ตัวเองต้องการนั้นเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ?
บทความนี้จะเปรียบเทียบสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ระหว่างการเรียน A-level ที่ไทยกับการไป A-level ที่อังกฤษให้ได้เห็นกันครับ
ระบบการ Support ที่ไม่เหมือนกัน
เด็ก ๆ หลายคนที่เราส่งไปเรียน A-level ที่อังกฤษและได้อยู่ในโรงเรียนที่ดีพอ (ย้ำว่าต้องดีพอ) มักจะเล่าถึงระบบการ Support บางอย่างที่ทำให้ตารางชีวิตของพวกเขาแน่นมาก ๆ แม้การเรียน A-level นั้นจะเป็นการเรียนแค่ 3-4 วิชาเท่านั้นเอง
ยกตัวอย่างเช่น หลาย ๆ โรงเรียนอย่าง Oxford International College, Concord College, หรือ Ruthin School จะมีการสอบทุกวันเสาร์ เพื่อวัดความรู้ความเข้าใจในการเรียนของเด็ก ๆ และนำคะแนนสอบที่ได้มาวางกลยุทธ์ว่า จะช่วยเหลือเด็กต่อไปอย่างไร ระบบนี้เป็นระบบที่ดีมาก ๆ ครับ เพราะทำให้เรารู้ตัวว่าความพร้อมเรามีแค่ไหน และเป็นการกระตุ้นตัวเองอยู่เสมอว่าต้องอ่านหนังสือ ต้องทบทวน ต้องตั้งใจเรียน
บางคนบอกว่าระบบแบบนี้ดูจะเครียดเกินไปสำหรับเด็ก ๆ แต่หากพิจารณาดี ๆ การไม่รู้อะไรเลยว่าตัวเองทำได้ถึงไหนแล้ว แล้วมารู้ตัวอีกทีตอนสอบจริงว่าทำไม่ได้ แบบนั้นน่าจะเป็นอะไรที่เครียดกว่านะครับ จริงไหมครับ ?
หรืออย่างบางโรงเรียน ทุก ๆ ช่วงปิดเทอมย่อย จะมีการจัดหาที่ฝึกงาน (Work Experience) ให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจอาชีพที่ตนเองสนใจมากขึ้น และมีเรื่องราวมาเขียนเล่าใน Personal Statement และมีข้อมูลสำหรับการตอบ Interview มากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่จะสอบติดมหาวิทยาลัยระดับท็อปในสาขาอาชีพที่ตัวเองสนใจได้มากขึ้นนั่นเอง
สิ่งเหล่านี้หากเป็นที่เมืองไทย ถ้าจากประสบการณ์ของผม เราจะไม่ค่อยเห็นสักเท่าไร ซึ่งนั่นแปลว่าเด็กที่เรียน A-level ในเมืองไทยแล้วจะมีโอกาส ก็ต้องหาสิ่งเหล่านี้ทำเพิ่มเอง และความยากของการหาที่ฝึกงานในเมืองไทยก็คือ มันยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับสักเท่าไรที่เด็กวัย 16-17 จะไปฝึกงานกัน จึงไม่ค่อยมีองค์กรไหนรับเด็ก ๆ เข้าไป และบ่อยครั้งยังต้องอาศัย connection ของผู้ปกครองในการฝากฝังอีกด้วย
คุณครูที่วางแผนร่วมกับเด็ก ๆ ไม่เหมือนกัน
เด็ก ๆ ที่ไปเรียน A-level ที่อังกฤษหลาย ๆ คนเล่าว่า พอขึ้น Year 12 แล้ว โรงเรียนมีชั่วโมงที่นั่งคุยเรื่องอนาคต เรื่อง Career Path บ่อยมาก ๆ บางโรงเรียนให้เด็ก ๆ เริ่มเขียน Personal Statement เลยตั้งแต่ต้น Year 12 ส่วนบางโรงเรียนแม้จะยังไม่เขียนตั้งแต่เริ่มต้น Year 12 แต่ก็จัดกิจกรรมบางอย่างให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เรียนรู้และรู้จักตัวเองมากขึ้น จนสามารถนำไปพัฒนาเป็น Personal Statement ได้ในที่สุด อย่างเช่น การหาที่ฝึกงาาน (Work experience) อย่างที่ได้เขียนไว้ข้างต้น
ซึ่งการที่คุณครูลงมาใส่ใจกับเด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มต้น Year 12 นี้ ทำให้การทำ UCAS Application ที่ใช้ในการสมัครมหาวิทยาลัยที่อังกฤษนั้น เป็นงานที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างเด็ก ๆ กับคุณครู เมื่อถึงวันที่คุณครูต้องเขียน Reference ให้กับเด็ก ๆ ก็จะได้ Reference ที่มีประโยชน์ เป็นความจริง และช่วยส่งเสริมการสมัครของเด็ก ๆ ในเชิงบวก ทั้งนี้เพราะรู้จักเด็กแต่ละคนเป็นอย่างดี
สำหรับในเมืองไทย ผมมักจะได้ยินว่า กว่าโรงเรียนจะชวนเด็ก ๆ คุยเรื่องการทำ UCAS Application ก็ล่วงเลยไปถึงก่อนขึ้น Year 13 แล้ว พอถึงเวลาเขียน Reference เด็ก ๆ ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าคุณครูท่านไหนจะเป็นคนเขียนให้ รู้จักกันดีแค่ไหนก็ไม่อาจทราบได้ แถม Personal Statement ก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไร เพราะโรงเรียนไม่ได้สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการเขียน Personal Statement ให้อย่างเพียงพอ
ทำให้เด็ก ๆ ที่เรียน A-level ในเมืองไทยจำนวนมาก ต้องหาเรียนเพิ่มเกี่ยวการเขียน Personal Statement แต่นั่นก็แก้ปัญหาได้แค่จุดเดียว เพราะ Reference นั้นไม่สามารถทำเพิ่มจากคนนอกได้ ต้องเป็นคุณครูในโรงเรียนเท่านั้น คำถามก็คือถ้าคุณครูไม่ได้ลงมาใส่ใจดูแลเด็ก ๆ ตั้งแต่ต้น แล้ว Reference ที่ได้ออกมาจะดีได้อย่างไร ต่อให้เขียน Personal Statement ดีแค่ไหน แต่ถ้า Reference ไม่ดี และไม่สอดคล้องกับ Personal Statement ก็จะกลายเป็นผลเสียต่อการสมัครมหาวิทยาลัยของเด็ก ๆ เสียมากกว่า
โอกาสที่มหาวิทยาลัยหยิบยื่นให้ ไม่เหมือนกัน
ในขั้นตอนของการทำ UCAS Application นั้น เมื่อข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่ผลการเรียน, Personal Statement, Reference, ผลสอบ Admissions Tests และ performance ตอน Interview ถูกพิจารณาโดยมหาวิทยาลัยที่สมัครไปแล้ว ถ้าเขาถูกใจ เขาก็ตอบรับเราด้วยสิ่งที่เรียกว่า Conditional Offer ก็คือ รับแล้ว แต่มีเงื่อนไขว่าต้องทำเกรด A-level ให้ได้ตามที่เขาต้องการ
สิ่งที่เราเจอทุก ๆ ปีก็คือ จะมีเด็ก ๆ ที่สมัครสาขาวิชาเดียวกันในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เรียนกันคนละที่ กลุ่มหนึ่งเรียน A-level ในเมืองไทย อีกกลุ่มคือเรียน A-level อยู่ที่อังกฤษ ได้รับเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยเรียกต่างกันมาก ๆ คือ เด็กที่เรียน A-level ในเมืองไทยส่วนใหญ่จะโดนเรียกเกรดที่สูงกว่าและทำได้ยากกว่า
กรณีล่าสุดที่เราเพิ่งเจอ และเจอกับหลายคนมาก ๆ คือ เด็กที่เรียนที่อังกฤษ มหาวิทยาลัยต้องการเกรด A-level ตอนจบคือ A*AA คือต้องได้ A* 1 วิชา และได้ A 2 วิชา แต่เด็กที่เรียน A-level ที่เมืองไทย กลับถูกเรียกเกรดสูงถึง A*A*AA คือต้องได้ A* 2 วิชา และต้องได้ A อีก 2 วิชา แถมบางกรณีได้เกรดแบบนี้ไม่พอ ต้องไปสอบ Admissions Tests บางตัวอย่าง STEP Papers ที่ยากมหาโหดเพิ่มเข้าไปอีก นี่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยที่อังกฤษให้โอกาสกับเด็กที่เรียน A-level ในอังกฤษมากกว่า
สาเหตุที่มหาวิทยาลัยหยิบยื่นโอกาสที่ดีกว่าและง่ายกว่าให้กับเด็กที่เรียน A-level ในอังกฤษอยู่แล้ว อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่มีข้อสงสัยในคุณสมบัติของเด็ก ๆ เนื่องจาก เด็ก ๆ เขียน Personal Statement ได้ดี มีประสบการณ์ที่จำเป็นครบถ้วน มี Reference ที่ support เป็นอย่างดีจากคุณครูที่รู้จักเด็กจริง ๆ และเด็ก ๆ ก็มักจะมีคะแนนสอบ Admissions Tests ที่สูง บวกกับมีผลงานตอน Interview ที่ดีเพราะได้รับการฝึกฝนจากคุณครูที่มีประสบการณ์มาก ๆ ซึ่งครูผู้มากไปด้วยประสบการณ์เหล่านี้ก็มักจะสอนกันอยู่ในโรงเรียนดี ๆ ที่ประเทศอังกฤษนี่แหละครับ
ทั้งหมดนั้น คือโอกาสที่ไม่เท่ากัน ของเด็ก ๆ ที่เรียน A-level ในเมืองไทย กับ เด็ก ๆ ที่ไปเรียน A-level ที่อังกฤษในโรงเรียนที่ดีพอ (ย้ำอีกครั้งว่าโรงเรียนที่ดีพอ) อย่างไรก็ดี อยากให้เข้าใจว่าการอยู่โรงเรียน A-level ในเมืองไทยนั้นไม่ได้แปลว่าเด็ก ๆ จะหมดโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ ที่อังกฤษเสมอไป เพียงแต่การ support ต่าง ๆ ที่โรงเรียนมีให้อาจจะไม่เพียงพอ และนั่นหมายถึงเด็ก ๆ รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อยมากขึ้นในการหาสิ่งต่าง ๆ มาชดเชย
ซึ่งถ้ามั่นใจว่าสามารถหา support เหล่านั้นชดเชยได้ ก็เรียน A-level ที่เมืองไทยได้ แต่ถ้าคิดว่าไม่น่าจะหาได้ หรือหาได้แล้วไม่เพียงพอ การไปเรียน A-level ต่อที่โรงเรียนดี ๆ ในประเทศอังกฤษ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดครับ