ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

ถ้าได้มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เราจะพบว่าเป็นประเทศที่สะอาดมาก นอกจากวิวที่สวยแล้ว ตามสถานที่ต่าง ๆ ก็ไม่เจอขยะเลย เพราะประเทศญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดในการทิ้งขยะมากค่ะ แล้วที่มากไปกว่านั้น ทุกคนจะทราบกันดีว่าที่ประเทศญี่ปุ่นมีการแยกประเภทขยะก่อนทิ้งอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเจอถังขยะแล้วก็ทิ้งได้เลยโดยไม่ได้ดูให้ดีก่อนว่าเราทิ้งขยะถูกประเภทไหม แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยู่ประเทศญี่ปุ่นไม่นานคงจะไม่รู้สึกปวดหัวเท่าไร แต่สำหรับคนที่อาศัยอยู่นาน ๆ เช่น นักเรียน จำเป็นต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างดี เพราะนอกจากจะต้องแยกประเภทให้ได้แล้ว ในแต่ละเทศบาล แต่ละพื้นที่ก็มีช่วงเวลาเก็บขยะที่อาจจะไม่เหมือนกัน และใช้ถุงขยะที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนอกจากจะต้องแยกประเภทให้ถูกต้องแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเช็คให้ดี ๆ ว่าถุงใส่ขยะถูกต้อง เช็ควันให้ดี ๆ ด้วยว่าเราสามารถทิ้งได้หรือเปล่าด้วยค่ะ เดี๋ยวเรามาดูกันว่าขยะที่ญี่ปุ่นในเมืองที่ผู้เขียนอยู่แยกเป็นกี่ประเภท? ทิ้งอย่างไร? ใช้ถุงขยะแบบไหน? ไปดูกันเลยค่ะ

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับประเภทของขยะที่ต้องแยกกันก่อนค่ะ โดยจะขออิงจากเมืองที่ผู้เขียนอยู่นะคะ โดยที่จะแบ่งง่าย ๆ เป็น 5 ประเภท

  1. 『燃やせるごみ』: ขยะที่เผาได้
  2. 『燃やせないごみ』:ขยะที่เผาไม่ได้
  3. 『容器包装プラスチック』:บรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก
  4. 『ペットボトル』:ขวดพลาสติก PET
  5. 『びん・かん、有害物』:ขวดน้ำ กระป๋องและวัตถุอันตราย

———-

1.『燃やせるごみ』: ขยะที่เผาได้

ถ้าสังเกตจากภาพจะพบว่า ‘ขยะที่เผาได้’ หรือ 『燃やせるごみ』ก็จะเป็นพวกเศษอาหาร วัสดุที่ทำจากกระดาษ เช่น กล่อง กระดาษ จานชามกระดาษ โปสเตอร์ หรือพวกตุ๊กตาและเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว เราจะรับของเหล่านี้ว่าเป็นของที่เผาได้ แต่ถ้าภาชนะที่ใส่อาหาร ก่อนจะทิ้งต้องล้างด้วยน้ำเปล่าให้สะอาดแล้วผึ่งเอาไว้ให้แห้งก่อนทิ้งทุกครั้งด้วยค่ะ

2. 『燃やせないごみ』:ขยะที่เผาไม่ได้

ถ้าสังเกตจากภาพก็จะพบว่าขยะที่เผาไม่ได้ก็คือต่อให้โดนความร้อนของก็ไม่สลายหายไป เช่น จานชาม ช้อนส้อม กระจก รองเท้า กระเป๋า กาต้มน้ำ แปรงสีฟัน ไม้แขวนเสื้อ และแผ่นซีดี เป็นต้น และวิธีทิ้งที่ถูกต้องคือไม่สามารถวางไว้ได้เลย แต่ต้องใส่ถุงที่ถูกต้องก่อนที่จะทิ้งแล้วรัดปากถุงให้มิดชิดด้วยค่ะ

3.『容器包装プラスチック』:บรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก

ขยะประเภทนี้ จะเป็นพลาสติกทั้งหมดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นซองขนมกรุบกรอบ ขวดน้ำมัน ขวดแชมพู บรรจุภัณฑ์ใส่ไข่ รวมไปถึงฝาขวดน้ำและฉลากที่พันรอบขวดน้ำ โดยที่จะต้องแยกฝากขวดน้ำและฉลากที่พันรอบขวดน้ำออกจากขวดน้ำก่อนทิ้งนะคะ เพราะขวดน้ำไม่ได้จัดเป็นวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก ไม่สามารถทิ้งรวมกันได้ค่ะ และที่สำคัญก่อนที่จะทิ้งให้มั่นใจก่อนว่าภาชนะบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ล้างสะอาดแล้วผึ่งให้แห้งแล้ว จึงจะสามารถทิ้งได้นะคะ แต่คนที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ ๆ อาจจะงงและแยกไม่ออก ให้สังเกตดี ๆ ที่บรรจุภัณฑ์ ถ้ามีคำว่า 『プラ』ที่มาจาก プラスチック ก็คือ Plastics ซึ่งคำว่า『プラ』ก็เป็นคำย่อนั่นเองค่ะ ถ้ามีสัญลักษณ์แบบนี้เป็นอันว่าทิ้งได้ค่ะ

4.『ペットボトル』:ขวดพลาสติก PET

มาที่ในส่วนของขวดน้ำกันบ้าง ง่าย ๆ เลยค่ะ ถ้าเป็นขวดน้ำ เราจะเรียกว่า 『ペットボトル』:ขวดพลาสติก PET ทั้งหมด เพราะฉะนั้นต้องใส่ในถุงที่ไว้สำหรับขวดพลาสติก PET โดยเฉพาะ ให้แยกฝาขวดน้ำกับสลากที่พันรอบขวดออกไปก่อน ทิ้งน้ำในขวอดให้หมด ตากไว้ให้แห้งก่อน แล้วบิดตามในภาพ ก็เป็นอันว่าเสร็จสมบูรณ์สามารถทิ้งได้ค่ะ

5.びん・かん、有害物』:ขวดน้ำ กระป๋องและวัตถุอันตราย

การแยกขวดน้ำ กระป๋องและวัตถุอันตราย เช่น กระป๋องแก๊ส ขวดไวน์และเหล้า ถ่าน และไฟแช็คออกจากวัสดุอื่น ๆ ถือเป็นความปลอดภัยที่ไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าเกิดแยะประเภทสินค้าอันตรายไปไว้ในที่ ๆ ไม่ควรอยู่ก็จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเราเองด้วย และคนอื่น ๆ เพราะฉะนั้นให้สังเกตสัญลักษณ์บนบรรจุภัณฑ์ให้ดีก่อนทิ้ง

เมื่อเราแยกประเภทขยะได้ถูกวิธีกันแล้ว ก็มาดูถุงขยะที่ใส่ขยะกันบ้างค่ะ โดยในเมืองที่ผู้เขียนอยู่ กำหนดให้ใช้ถุงขยะตามภาพด้านล่างค่ะ

โดยในแต่ละถุงขยะที่ซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป จะระบุไว้ชัดเจนว่าสีไหนมีไว้สำหรับใส่ภาชนะประเภทไหนอยู่แล้วบนถุงค่ะ โดยยกตัวอย่างเช่น

  • ถุงสีฟ้า จะใช้สำหรับ『燃やせるごみ』: ขยะที่เผาได้
  • ถุงสีเทา จะใช้สำหรับ 『容器包装プラスチック』:บรรจุภัณฑ์และวัสดุที่ทำมาจากพลาสติก
  • ถุงสีเหลือง จะใช้สำหรับ 『燃やせないごみ』:ขยะที่เผาไม่ได้

และขยะแต่ละประเภท ก็จะมีวันที่กำหนดชัดเจนเลยว่าจะมารับวันไหนบ้าง โดยขึ้นอยู่กับเทศบาลที่อยู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องวางแผนการทิ้งให้ดี ๆ จะได้ไม่มีขยะตกค้างทำให้เกิดความรำคาญใจกันนะคะ

เป็นอย่างไรคะ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะสำหรับการแยกประเภทขยะและทิ้งให้ถูกวิธีแบบคนญี่ปุ่น ถ้าได้ทำบ่อย ๆ ก็จะเกิดความเคยชินและมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าไม่แยกขยะแน่นอนเพราะจะทำให้บ้านสะอาดขึ้น บ้านเมืองก็สะอาดขึ้นด้วย ไม่ต้องกังวลด้วยว่ากลิ่นจะเหม็นตกค้างด้วยค่ะ ดีเลยใช่ไหมคะ 🙂