ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

หากอยากเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศญี่ปุ่น เราควรวางแผนการเรียนให้ดีก่อนที่เราจะสมัครและเข้าไปเรียน เพราะเป็นไปได้ว่าในหลายมหาวิทยาลัยจะต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสอบเข้าด้วย เพื่อให้เราเตรียมตัวได้ดี ควรที่จะเข้ามาคุยกันตั้งแต่ช่วง Year 9 เพื่อที่จะวางแผนการเรียนและเสริมในสิ่งที่จำเป็นได้ทันเวลาค่ะ ในบทความนี้เราจะพูดถึง 7 ขั้นตอนที่ควรทำก่อนไปเรียนต่อ ป.ตรี ที่ญี่ปุ่นกันค่ะ

ขั้นตอนที่ 1: รวบรวมข้อมูล

ก่อนที่เราจะไปเรียนต่อที่ไหน สิ่งที่เราควรรู้คือมหาวิทยาลัยที่เราสนใจนั้นมี Requirement อะไรบ้างที่เราต้องยื่นให้เมื่อตอนที่เราสมัคร ถึงแม้ว่าในปีที่เราสมัครอาจจะมีเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือเรื่องของคุณสมบัติทางด้านภาษา เช่น จะต้องสอบ JLPT ให้ได้ระดับไหนถึงจะสมัครได้ มหาวิทยาลัยนี้ต้องสอบ EJU หรือไม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เราควรศึกษาให้ดี เพราะถ้าขอให้เรายื่นภาษาญี่ปุ่นด้วย เราจะได้เตรียมตัวเรียนให้ทัน ไม่ว่าจะสถาบันในไทยหรือเรียนภาษาระยะยาวที่ประเทศญี่ปุ่นก็ตาม อีกทั้งเราควรดูให้ดีด้วยว่าสถานที่เรียนอยู่ที่ไหน เอื้อให้เราเรียนหรือไม่ ค่าใช้จ่ายในการเรียนเท่าไร และมีทุนอะไรบ้าง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2: เลือกสถานศึกษา

เมื่อเราหาข้อมูลอย่างดีแล้วว่ามีที่ไหนที่เราสามารถสมัครเรียนได้ แนะนำว่าควรใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือนในการเลือกมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร เพราะในแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมี Requirement ที่แตกต่างกัน และหากจะต้องเตรียมเพิ่ม เช่น การเตรียมเกรด บุคคลที่เราจะให้เป็น Reference หรือผลสอบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้เอาไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ฉุกหุกในตอนที่จะต้องยื่นจริง ๆ

ขั้นตอนที่ 3: สอบวัดคุณสมบัติ

สอบข้อสอบมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อนำคะแนนมาใช้ในการสมัคร เช่น JLPT, EJU, TOEFL, IELTS, SAT, IB เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัครด้วย เพราะฉะนั้นก็ควรทำตามข้อ 1 และข้อ 2 ก่อนเพื่อที่จะได้เตรียมตัวให้ถูกต้องและพร้อมที่จะสอบ

ขั้นตอนที่ 4: ยื่นใบสมัคร

เมื่อเราเลือกมหาวิทยาลัยและมีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว ก็สามารถยื่นใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัยได้เลย โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางมหาวิทยาลัยว่าจะต้องสมัครล่วงหน้ากี่เดือน คอยตรวจสอบให้ดี เมื่อสมัครเรียนแล้วก็ชำระค่าสอบคัดเลือกต่อไป

ขั้นตอนที่ 5: สอบคัดเลือก

วิธีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนอาจจะตรวจสอบจากเอกสารที่เป็นเกรดและคุณสมบติทางด้านภาษาของเรา หรือการสอบสัมภาษณ์ หรือในบางที่อาจจะมีให้เราสอบข้อเขียนด้วย

ขั้นตอนที่ 6: ดำเนินเรื่องการเข้าศึกษา

เมื่อผ่านการคัดเลือกจนได้เข้าไปเรียนแล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็จะขอให้เราส่งเอกสารเพื่อรับเอกสารตอบรับเข้าเรียน (Letter of Acceptance) ต่อไป ในขั้นตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยจะแจ้งมาอย่างชัดเจนไม่ต้องกังวลค่ะ และเมื่อได้รับเอกสารตอบรับเข้าเรียนแล้วก็ชำระค่าเล่าเรียนตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

ขั้นตอนที่ 7: เตรียมตัวเดินทาง

เมื่อทำตามขั้นตอนด้านบนแล้ว ก็เตรียมยื่นวีซ่าและจองตั๋วเครื่องบิน และที่สำคัญประกันภัย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนค่ะ

ทั้ง 7 ขั้นตอนนี้เป็นเพียงแค่ภาพรวมเท่านั้น หากใครที่อยากเข้ามาปรึกษาอย่างละเอียด สามารถเข้ามาพูดคุยกับ APSthai ได้ค่ะ