ทำไมต้อง Study in Japan? เชื่อว่าหลายคนที่มีความชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ว่าจะผ่านการฟังเพลง การอ่านมังงะ หรือดูโดราม่าก็ตาม มีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งในชีวิตอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น ทำให้ในทุก ๆ ปี ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นจุดหมายปลายทางแรก ๆ ในเอเชียที่คนไทยอยากไปเรียนภาษาระยะสั้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรืออยากไปศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่ในทวีปเอเชียก็ตาม แต่วัฒนธรรมนั้นก็มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนและมีความแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพื่อให้คนที่สนใจจะไปร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นได้รู้ประเทศญี่ปุ่นอย่างลึกก่อนตัดสินใจไป ทาง APSthai เลยโครงการ Study in Japan ที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น (Study in Japan) ให้กับบุคคลที่มีความสนใจ โดยจะเขียนบทความเพื่อให้ความรู้กับผู้ที่สนใจทั้งในด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่น และการศึกษาญี่ปุ่นต่อไป

ทุกภาษามักจะมีคำที่มีความหมายที่แปลมาเป็นภาษาไทยได้ไม่ตรงตัวขนาดนั้น ทำให้เราต้องตีความให้ดีก่อนเสมอ ภาษาญี่ปุ่นเป็น 1 ในภาษาที่แต่ละคำมีความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นเพราะคันจิในภาษาญี่ปุ่นเองก็มีความหมายในตัวเอง อีกทั้งคนญี่ปุ่นมีความละเอียดอ่อนในการใช้ภาษา และการปฏิบัติตน ทำให้เกิดคำศัพท์หรือวลีที่ไม่มีความหมายที่แปลได้ตรงตัวในภาษาไทยหรือภาษาอื่น ๆ วันนี้เรารวบรวม 5 คำศัพท์ที่เมื่อได้ฟังแล้ว ไม่สามารถแปลตรงตัวเป็นภาษาไทยได้ค่ะ

  1. Otsukaresama | お疲れ様

คำศัพท์ว่า 「お疲れ様」 ถ้าได้มีโอกาสได้ดูภาพยนตร์หรือละครญี่ปุ่นที่เกี่ยวกับการทำงานในบริษัทกันบ้าง เรามักจะได้ยินคำนี้อยู่เสมอ โดยคำนี้มักจะถูกใช้ในความหมาย ‘ขอบคุณที่ทำงานหนัก’ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนญี่ปุ่นใช้คำนี้ในหลากหลายสถานการณ์ ไม่ว่าจะเพื่อทักทายเมื่อเจอกัน บอกลาคนในบริษัทหลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน หรือเมื่อเจอกับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายที่ได้ทำงานอย่างหนักมาในวันนั้นก็สามารถพูดเมื่อเจอกันได้ หรือในบางครั้งพูดในสถานการณ์ที่ไม่เกี่ยวกันเลยก็ได้

2. Natsukashii | 懐かしい

คำศัพท์ว่า 「懐かしい」 ถ้าแปลให้มีความหมายให้ใกล้เคียงกับภาษาไทยมากที่สุดก็คือ ‘หวนนึกถึงเรื่องเก่า ๆ ที่เคยมีประสบการณ์ดี และน่าจดจำ’ คำนี้ถูกใช้เสมอเวลาเจอกับสถานการณ์ที่ชวนให้รำลึกความหลัง คำภาษาอังกฤษที่ใกล้เคียงกับคำนี้คือคำว่า ‘Nostalgic’ เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคนญี่ปุ่นพูดคำนี้ก็ให้รู้ได้เลยว่าสถานการณ์ในตอนนี้ทำให้คน ๆ นั้นนึกย้อนถึงความหลังค่ะ

3. Wabi-sabi | わびさび

เราจะได้เจอคำว่า 「わびさび」 อยู่ในหนังสือที่แปลมาจากญี่ปุ่นอยู่บ่อยจริง คำว่า ‘วาบิ ซาบิ’ ที่จริงแล้วถ้าถามคนญี่ปุ่น 100 คน ก็อาจจะไม่ได้ความหมายที่เหมือนกัน คำนี้ถ้าแปลให้ใกล้เคียงกับภาษาไทยมากที่สุดคือ ‘ความเรียบง่าย ที่ไม่ปรุงแต่ง’ เคยได้อ่านหนังสือเรื่อง Wabi-sabi ในนั้นบอกเอาไว้ว่า ‘มันเป็นสิ่งที่พริ้วไหวอยู่ในสายลม ร้อนระริกอยู่ในแสงแดด สดชื่นอยู่ในดอกซากุระบานและตรึงใจอยู่ในริ้วรอยของใบเมเปิ้ลเหี่ยว ทั้งในความสุขและความทุกข์’ เมื่อได้เห็นความหมายแบบนี้ทำให้รู้ได้เลยว่ามันเป็นปรัชญาญี่ปุ่นที่ฝั่งรากอยู่ในชีวิตของพวกเขาแล้ว

4. Itadakimasu | いただきます

เราได้ยินวลี「いただきます」เสมอ ก่อนที่คนญี่ปุ่นจะรับประทานอาหาร คำนี้ถ้าแปลโดยตรงตัวจะมีความหมายว่า ‘ขอบคุณสำหรับมื้ออาหารนี้’ ซึ่งวลีนี้ใช้พูดเพื่อแสดงความสำนึกและแสดงความขอบคุณต่อคนที่ทำอาหารให้ คนที่มีส่วนในการทำให้อาหารนี้เสร็จสมบูรณ์ หรือแม้แต่ขอบคุณวัตถุดิบอาหารที่นำมาใช้ ไม่ว่าเนื้อหรือปลาต่างๆ ผักและผลไม้ ล้วนแล้วมี “ชีวิต” ด้วยกันทั้งหมด คนญี่ปุ่นจึงขอบคุณวัตถุดิบทุกอย่างที่นำมาทำเป็นอาหาร

5. Gochisousama Deshita | 御馳走様でした

คำว่า「御馳走様でした」มักจะพร้อมกับคำว่า「いただきます」แต่จะถูกใช้หลังจากรับประทานมื้ออาหารเสร็จแล้ว ถ้าแปลตรงตัวก็จะแปลว่า ‘ขอบคุณสำหรับมื้ออาหารที่แสนอร่อย’ คำนี้จึงใช้พูดเพื่อขอบคุณคนเตรียมอาหารที่ต้องลำบากเตรียมอาหารให้เรา และกลายมาเป็นคำพูดขอบคุณหลังจากทานอาหารอิ่มมาจนถึงทุกวันนี้

เห็นไหมหละคะว่า ทุกภาษามักมีคำหรือวลีที่เราเองก็ไม่สามารถนำมาแปลได้ตรงตัวขนาดนั้น เพราะภาษานั้นเกิดจากวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ หลายครั้งต่อให้แปลได้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะใช้คำนี้ได้จริงในวัฒนธรรมของเรา แต่ก็ดีกว่าใช่ไหมคะ ถ้าเมื่อเราสนใจในประเทศไหน เราจะศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของเขาอย่างลึกซึ้งก่อน เพื่อให้เข้าใจ ‘คน’ ให้มากขึ้นค่ะ